บล.กสิกรประเมินเฟดคงคิวอี ลุ้นหุ้นดีดกลับ 1500 จุด ขณะที่บลจ.แมนูไลฟ์ คงน้ำหนักตลาดหุ้นไทยเท่าตลาด ชู"หุ้นขนาดกลางและเล็ก"
ชื่อ:  news_img_512105_1.jpg
ครั้ง: 1273
ขนาด:  44.1 กิโลไบต์

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยวานนี้(18 มิ.ย.) ดัชนีปรับตัวขึ้นลงอย่างผันผวน โดยในช่วงเช้าดัชนีปรับตัวขึ้น 20 จุด แต่เปิดตลาดช่วงบ่ายดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่มีกระแสข่าวลือในห้องค้าว่าจะมีการยุบสภา ส่งผลให้ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 1,427.42 จุด ลดลง 43.62 จุด คิดเป็น 2.97% มูลค่าการซื้อขายรวม 6.16 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1.8 พันล้านบาท

นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์อาวุโส บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นที่ผันผวนหนัก เนื่องจากดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับ 1500 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านที่สำคัญ ส่งผลให้มีแรงขายทำกำไร หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวจากระดับ 1350 จุด ขณะเดียวกันนักลงทุนขายเพื่อลดความเสี่ยง รอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการคิวอี ในวันนี้(19 มิ.ย) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการเมืองภายใน เกี่ยวกับสถานการณ์ชุมนุมทำให้นักลงทุนหวั่นเกรงการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยรอบนี้ จะไม่มีเสถียรภาพจึงเทขายหุ้นออกมาก่อน

"แนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะผันผวนแรง เพราะขาดปัจจัยที่ชัดเจน หลังจากที่ปรับฐานครั้งใหญ่ โดยคาดว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวในขึ้นลง 30 จุด อยู่ในระดับ 1420-1450 จุดในช่วงนี้ กลยุทธ์การลงทุนควรลงทุนตามการเคลื่อนไหวของดัชนี เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นให้ขายทำกำไร และเมื่อลงก็ให้ทยอยซื้อลงทุน"นายปริญทร์กล่าว

ด้านนายธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บล. กสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างจับตาผลประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เอฟโอเอ็มซี (FOMC) โดยหากทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงว่ายังคงมีมาตรการคิวอีอยู่ เชื่อว่าเงินจะไหลเข้า บาทจะแข็ง และตลาดหุ้นจะปรับขึ้นไปถึงระดับ 1,500-1,600 จุด แต่หากส่งสัญญาณว่าจะชะลอ มองว่าดัชนีจะปรับลดลงในระดับ 1,250-1,350 จุดได้

"เชื่อว่ารอบนี้ทางเฟดน่าจะยังคงคิวอีไว้ก่อน เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ดีเหมือนคาด ตัวเลขการว่างงานยังอยู่ระดับกว่า 7% ขณะที่สหรัฐอยากให้อยู่ที่ระดับ 6.5% อย่างไรก็ตามคิวอีจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ และตลาดเงินตลาดทุนโลกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าว่าจะไปในทางไหน เพราะหากไม่มีคิวอี ไม่รู้ว่าผลกระทบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเอเชียจะเป็นอย่างไร เพราะหลังจากเกิดวิกฤติการเงินสหรัฐ ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาได้ เพราะคิวอี"

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า ต่างชาติส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน หลังจากที่ขายสุทธิอย่างหนาแน่นตั้งวันที่ 15 พ.ค. - 12 มิ.ย. รวมกว่า 4.18 หมื่นล้านบาท ส่งผลดัชนีปรับลดลง 197 จุด หรือ 12% น่าจะสะท้อนโอกาสที่เฟดจะชะลอการใช้คิวอีเดือนต.ค.และสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ โดยประเด็นสำคัญในสัปดาห์นี้จึงอยู่ที่ผลประชุมเฟด หากยืนยันที่จะพิจารณาการชะลอคิวอีในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าจะเกิดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจำกัด เพราะตลาดปรับพอร์ตไปแล้ว แต่หากเฟดกลับมาลังเลต่อภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการจ้างงานที่ยังเปราะบาง คาดว่าแรงเก็งกำไรจะกลับมาในตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง แต่ไม่หนาแน่น เหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะ ณ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยบวกใหม่ที่น่าสนใจ โดยภาพดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงสั้นจะแกว่งตัวในกรอบแคบ อัพไซด์จำกัดบริเวณ 1,480 -1,500 จุดเท่านั้น

ด้านตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยรายชื่อหุ้นชุดใหม่ที่จะเข้าคำนวณในดัชนีเซ็ท 50 และเซ็ท 100 ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ถึง 31ธ.ค. 2556 ซึ่งหุ้นใหม่ที่ได้รับคัดเลือกในเซ็ท 50 มี 4 บริษัทได้แก่ หุ้นโรงแรมเซ็นทรัล (CENTEL) หุ้นสยามโกลบอล (GLOBAL) หุ้นช.การช่าง (CK) หุ้นวีจีไอ (VGI) และหุ้นที่ถูกคัดออกได้แก่ หุ้นทิสโก้ (TISCO) หุ้นศุภาลัย (SPALI) หุ้นเอสโซ่(ESSO)

หุ้นที่ได้รับคัดเลือกในเซ็ท 100 มีจำนวน 10 บริษัทได้แก่ หุ้นอสมท.(MCOT) หุ้นเอ็มบีเค (MBK) หุ้นดับบลิวเอชเอ (WHA) หุ้นยูนิวานิช (UV) หุ้นศรีราชา (SRICHA) หุ้นแผ่นดินทองฯ (GOLD) หุ้นเคซีอี (KCE) หุ้นเอ็มดีเอ็กซ์ (MDX) หุ้นอาร์เอส (RS) หุ้นเด็มโก้ (DEMCO) ส่วนหุ้นที่ถูกคัดออก ประกอบด้วย หุ้นน้ำตาลขอนแก่น (KSL) หุ้นไทคอน (TICON) หุ้นเวิร์กพอยท์ (WORK) หุ้นสยามแก๊ส (SGP) หุ้นจีเอฟพีที (GFPT)หุ้นทัสโก้ (TASCO) หุ้นโพลีเพล็กซ์ (PTL) หุ้นเอสวีไอ (SVI) หุ้นลานนา (LANNA) หุ้นไรมอนแลนด์ (RML) หุ้นเอเจ (AJ)

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า หุ้นที่ถูกคัดออกจากทั้ง 2 ดัชนี ราคาปรับลดลงแรง โดยหากพิจารณาข้อมูลราคาหุ้นตั้งแต่วันที่ 1-17 มิ.ย. 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนจะประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการ จะเห็นว่าราคาหุ้นที่ถูกคาดการณ์คัดออก ปรับตัวลดลงแรง และที่หุ้นที่คาดการณ์จะเข้าคำนวณราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทาง โดยหุ้นที่ถูกคัดออกจากเซ็ท 50 ปรับลดลงมากสุดคือหุ้นเอสโซ่ 18% หุ้นศุภาลัย 9.90% และหุ้นแบงก์ทิสโก้ 3.03% ส่วนหุ้นที่ถูกคัดออกจากเซ็ท 100 ที่มีราคาปรับลดลงมากสุด ได้แก่ หุ้นไรมอนแลนด์ลดลง 19.90% รองลงมา หุ้นเอเจ ลดลง 19.05% หุ้นโพลีเพล็กซ์ลดลง 17.57% หุ้นทัสโก้ ลดลง 16% หุ้นเวิร์คพอยท์ ลดลง 12.08% หุ้นไทคอนฯลดลง 10.86% หุ้นสยามแก๊ส 10.53% เป็นต้น

ด้านนางลินดา เซลแลค Head of Asia Pacific Equities ,บลจ.แมนูไลฟ์ (เอเชีย) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นเอเชียยังมีความน่าสนใจโดยเฉพาะเอเชียเหนือ เช่น ฮ่องกง ,เกาหลีใต้ และไต้หวันเป็นต้น แต่หากมองภาพรวมของอาเซียนปัจจุบันได้ให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาด (Underweight) ยกเว้นไทยที่บริษัทยังให้น้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาดอยู่ (Neutron) ซึ่งกองทุนหลักเองมีการลงทุนในหุ้นไทยอยู่ประมาณ 5 ตัว ในกลุ่มสถาบันการเงิน ,อสังหาริมทรัพย์ และหุ้นอุปโภคบริโภค และหลังจากที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาเร็วและแรงก็มองว่าเป็นโอกาสในการทยอยเข้าสะสมหุ้นเพิ่มเติมในตลาดหุ้นไทยแน่นอน เพราะนโยบายการลงทุนของกองทุนเน้นลงทุนเต็มที่ตลอดเวลา (Fully Investment) จะถือเงินสดไว้ไม่เกิน 3 - 4%

"กองทุนหลักลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็กซึ่งจะต้องมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดระหว่าง 300 - 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเฉลี่ยในพอร์ตจะอยู่ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหุ้นที่อยู่ในยูนิเวิร์สที่จะลงทุนได้นั้นจะต้องมีสภาพคล่องสูงสามารถขายได้หมดภายใน 5 วัน ซึ่งหุ้นขนาดเล็กนั้นมีผลการดำเนินงานที่ดีที่เหนือกว่าตลาดทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง ในช่วงที่ตลาดปรับตัวลงมากหุ้นขนาดเล็กอาจมีผลการดำเนินงานที่ด้อยกว่าแต่เมื่อตลาดกลับสู่ภาวะปกติ หุ้นขนาดเล็กมักสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าหุ้นขนาดใหญ่ และในช่วงที่ผ่านมาหุ้นขนาดเล็กในเอเชียก็ไม่ได้มีความผันผวนต่างจากหุ้นขนาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใดด้วย"


ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์