หลังจากคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ได้เปิดเผยท่าทีเกี่ยวกับการลดขนาดการซื้อพันธบัตรระยะเวลาปานกลางถึงระยะยาว หรือ QE

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ณ นาทีนี้ สิ่งที่ตลาดรวมถึงท่านผู้อ่านหลายท่านคงต้องการจะทราบ ได้แก่ จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของสหรัฐ หากเฟดตัดสินใจทำการลดขนาดหรือยกเลิก QE โดยบทความนี้ จะขอกล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ดังนี้

เริ่มจากผลกระทบต่อตลาดพันธบัตร จากการลดขนาด QE หรือ QE tapering นั้น จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐ (เส้นสีดำ) ซึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าที่คาดหวัง (เส้นสีฟ้า) บวกกับอัตราผลตอบแทนส่วนที่ชดเชยความเสี่ยงหรือ Term premium (เส้นสีแดง) อยู่ในระดับที่ต่ำและลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังรูปที่ 1

ชื่อ:  001.PNG
ครั้ง: 1343
ขนาด:  168.9 กิโลไบต์

ทั้งนี้ จากความเห็นของ ดร.เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาเหตุหลักของการลดลงของระดับ Term premium จนถึงขนาดติดลบ นั่นหมายถึง ตลาดต้องจ่ายผลตอบแทนเพื่อซื้อพันธบัตรสหรัฐเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากความต้องการพันธบัตรในฐานะ Safe Haven มีอยู่มาก จากอุปสงค์ที่สูงของตลาดแถมยังมีการซื้อจากเฟดอีกต่างหาก ทีนี้ หากเฟดเริ่มลดปริมาณการซื้อพันธบัตรลง ย่อมจะทำให้อุปสงค์ดังกล่าวลดลง และ Term premium ก็จะมีระดับที่สูงขึ้น ซึ่งตรงนี้ จากการที่ Term premium ลดลงมาเยอะในช่วงที่ผ่านมา นั่นย่อมหมายถึงเวลาที่ขึ้นก็จะรวดเร็วด้วย นั่นก็หมายถึงหากเฟดลดขนาดการซื้อพันธบัตรเมื่อไร อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐก็น่าจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงนี้ จึงนำมาซึ่งคำถามสำคัญถัดมา

ชื่อ:  002.PNG
ครั้ง: 1364
ขนาด:  181.7 กิโลไบต์

นั่นก็คือ หากเฟดตัดสินใจลดขนาด QE จริง ความเร็วในการลดการซื้อพันธบัตรจะรวดเร็วมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ หากพิจารณาปฏิบัติการที่เฟดออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือ Exit Strategy ในช่วงระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ดังรูปที่ 2 จะพบว่า มีอยู่ด้วยกัน 2 ครั้ง คือ ปี 1994 ซึ่งเปลี่ยนโหมดจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาเป็นแบบตึงตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลลัพธ์คือ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั้งระยะเวลา 1 ปีและ 10 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอัตราดอกเบี้ยระยะเวลา 1 ปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.69 ภายในระยะเวลา 12 เดือน ในทางกลับกันในปี 2003-2007 นั้น เฟดเปลี่ยนโหมดดังกล่าวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราดอกเบี้ยระยะเวลา 1 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.97 ทว่าใช้เวลาถึงเกือบ 4 ปี นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะเวลา 10 ปี เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.01

แน่นอนว่า จากความเป็นไปได้ที่ว่าหากเฟดลดขนาดการซื้อพันธบัตร อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐก็น่าจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คำตอบที่ได้ย่อมชี้ไปว่าความเร็วในการลดขนาดการซื้อพันธบัตรของเฟดจะคล้ายคลึงกับปี 2003-2007

ชื่อ:  003.PNG
ครั้ง: 1339
ขนาด:  180.7 กิโลไบต์

ในขณะเดียวกัน สำหรับการลดขนาด QE หรือ QE tapering ที่นายเบอร์นันเก้ระมัดระวังในการเปิดไต๋ตอนช่วงนี้เป็นพิเศษ ก็เนื่องจากเฟดก็คาดว่าจะส่งผลต่อตลาดทุนอย่างมากในระยะเวลานี้ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ

หนึ่ง การลดค่าใช้จ่ายภาครัฐโดยอัตโนมัติของสหรัฐหรือ Sequester และ การชนเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ Debt Limit ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีโอกาสจะเป็นตัวฉุดให้ผลกำไรของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐลดลงในเร็ววันนี้ เนื่องจากการลดการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐ ย่อมมีผลโดยตรงต่อโมเมนตัมเศรษฐกิจ และนั่นก็หมายความว่าผลกำไรของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐลดลง นั่นคือ ผลตอบแทนของกำไรต่อราคาหุ้นที่อยู่ในระดับสูงในตอนนี้ ดังรูปที่ 3 ต้องมีขนาดลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อฐานะของบริษัท และนำไปสู่การลดการจ้างงานในที่สุด นอกจากนี้ ยังทำให้ความมั่งคั่งของประชาชนชาวสหรัฐลดลงอีกด้วย และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่าการลดขนาดการซื้อพันธบัตรของเฟดในช่วงนี้ จึงต้องทำอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ

สอง ความเสี่ยงของนโยบาย Abenomics ที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนมิถุนายน ส่วนหนึ่งเนื่องจากความเชื่อมั่นของตลาดต่อท่าทีของทั้งนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ลดลงอย่างฉับพลันในตอนนี้ ย่อมจะทำให้ส่วนชดเชยความเสี่ยงหรือ Risk Premium น่าจะสูงขึ้น จากการที่มีความต้องการยอมรับความเสี่ยงหรือ Risk Appetite ที่ลดลง จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต้องสูงกว่าเดิมจากการลดขนาดของการซื้อพันธบัตรระยะเวลาปานกลางถึงระยะยาว นั่นก็หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะนำมาใช้เป็นอัตราคิดลดในการคำนวณมูลค่าหุ้นในตลาดจะสูงขึ้นจากปัจจัยทั้งสอง หรืออาจกล่าวได้ว่า ตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบเป็น 2 เด้ง หากขยับตัว QE Tapering ในช่วงเวลานี้

ท้ายสุด ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่ในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนเสียทีเดียวว่าเศรษฐกิจได้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมแล้วอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของประชาชนชาวสหรัฐที่แม้สูงขึ้นแต่ก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิมเสียทีเดียว

โดยสรุป ทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตร เหมือนจะบีบให้เฟดต้องลดขนาดของ QE ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปครับ

------------------------------
หมายเหตุ : หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคเล่มใหม่ล่าสุดของผู้เขียน “เล่นหุ้นต้องใช้ใจ...รวยได้ไม่รู้จบ” เริ่มวางจำหน่ายทั่วประเทศ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2556 และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการลงทุน ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com ครับ

Tags : ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มุมคิดมหภาค"