วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

“เฟด” จะวางมือจริงๆ

รายงานพิเศษ วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 7 คน 


นักลงทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังจะลดโครงการซื้อพันธบัตรจำนวน 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ที่ได้ดำเนินการมา 4 ปีครึ่ง และมันกำลังจะสร้างความวุ่นวายในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้มีความผันผวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเร็วๆ นี้ และอาจจะเกิดความผันผวนต่อไปเมื่อเทรดเดอร์พยายามที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาด
ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุไถ่ถอน 10 ปี ได้ปรับตัวขึ้นเป็น 2.19% จาก 1.60% เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม  ผลที่ตามมาคือ มีเงินไหลออกจากกองทุนพันธบัตรอย่างรุนแรงและไม่มีดีมานด์อย่างเห็นได้ชัดในการประมูลขายพันธบัตรของกระทรวงการคลังสหรัฐ
เงินที่ไหลออกจากกองทุนและความผันผวนที่เพิ่มขึ้นทำให้มองเห็นได้ว่าตลาดน่าจะมีพฤติกรรมอย่างไร เมื่อเฟดลดการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐด้วยนโยบายเงิน
สตีฟ โรโดสกี หัวหน้าฝ่ายซื้อขายอนุพันธ์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐของพิมโค กองทุนพันธบัตรรายใหญ่สุดของโลก กล่าวว่า เมื่อมีปริมาณการซื้อขายและการเคลื่อนไหวที่กำลังพัฒนาในตลาดต่างๆ มันชี้ว่าการเปลี่ยนจากนโยบายเงินแบบเอื้อเฟื้อไปเป็นนโยบายแบบเข้มงวดในเวลาต่อมา กำลังจะส่งผลกระทบมาก
การคาดการณ์ว่าจะเกิดความผันผวนในอนาคตในตลาดพันธบัตรรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดัชนีเมอร์ริลล์ ลินช์ มูฟ ซึ่งประเมินความผันผวนในอนาคตของผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เพิ่มขึ้นเป็น 84.7 เมื่อวันจันทร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบหนึ่งปี จากที่ประมาณ 50 เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม และเป็น 79 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
มีการมองกันว่า การต่อสู้ของเฟดเป็นกลยุทธ์ที่ขาดทุน อย่างไรก็ดี หลังจากที่กระตุ้นนโยบายเงินมากเป็นประวัติการณ์ นักลงทุนจำนวนมากไม่มั่นใจว่าจะทำอะไร เมื่อเฟดไม่ได้เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักต่อการเคลื่อนไหวของตลาดอีก
นักลงทุนได้หนีออกจากกองทุนพันธบัตรเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จากข้อมูลของอินเวสเมนต์ คอมพานี อินสติติว ในสัปดาห์วันที่ 5 มิถุนายน มีเงินไหลออกจากกองทุนพันธบัตร 10,930 ล้านดอลลาร์  ซึ่งถือว่าเป็นการไหลออกรายสัปดาห์ที่มากสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2551  ก่อนหน้านี้มีเงินไหลเข้ากองทุนพันธบัตร 21 เดือนติดต่อกัน
กัง ฮู  หัวหน้าฝ่ายซื้อขายอัตราดอกเบี้ยสหรัฐของเครดิต สวิส กล่าวว่า ความเห็นในตลาดไม่แตกต่างกันอีกแล้ว  มีนักลงทุนรายใหญ่มากในตลาดพันธบัตรเพียงไม่กี่รายและทุกรายค่อนข้างทำตามเฟดมาก ดังนั้น เมื่อเฟดถอนตัวออกจากตลาด ทุกคนจะพยายามถอนตัวในเวลาเดียวกัน และไม่มีการเคลื่อนไหวอีกทางหนึ่งในตลาด
ขณะเดียวกัน ธนาคารที่เป็นดีลเลอร์รายใหญ่ ก็สามารถดูดซับการขายตราสารหนี้ขนาดใหญ่ๆ ได้น้อย เนื่องจากระเบียบใหม่ให้สถาบันการเงินลดความเสี่ยงที่ส่งผลให้งบดุลของธนาคารลดลง จึงมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มความผันผวนให้กับราคา พันธบัตร  และในการประมูลขายพันธบัตรรายไตรมาสในสัปดาห์ที่ผ่านมาของกระทรวงการคลังสหรัฐ  ทั้งพันธบัตรที่มีอายุไถ่ถอน 3 ปี 10 ปี และ 30 ปี ล้วนแต่ไม่ดีอย่างเห็นได้ชัด
รายงานของเมอร์ริลล์ ลินช์ ระบุว่าความสามารถของดีลเลอร์ที่จะลดความเสี่ยงมีข้อจำกัดมากขึ้นเพราะมีกฎระเบียบ ซึ่งเป็นเหตุผลให้มีการเคลื่อนไหวของราคามากเกินไปต่อกระแสเหล่านี้
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนที่มองว่าเฟดจะหยุดซื้อพันธบัตรในระยะใกล้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ที่เฟดได้วางไว้ และการว่างงานยังสูงกว่าเป้าหมาย 6.5%
ไมเคิล ชูมาคเกอร์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกของยูบีเอส คิดว่ามีการอ่านความคิดของเฟดไม่ถูกต้อง และเฟดไม่น่าจะ เลิกซื้อพันธบัตรในเร็วๆ นี้
แต่หลายคนมองว่า ตลาดใกล้ถึงจุดเปลี่ยนซึ่งมันจะเริ่มมีความชัดเจนว่า การผ่อนคลายนโยบายของเฟดได้ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจแข็งแกร่งเพียงพอที่เฟดจะหยุดขยายงบดุล หรือประโยชน์ของการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมมีความสำคัญน้อยกว่าความเสี่ยงของฟองสบู่สินทรัพย์และการบิดเบือนของตลาด
แทด รีเวลลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนรายได้คงที่ของทีซีดับเบิลยู กล่าวว่า อาจจะมีการดำเนินนโยบายคิวอีอีก 12-18 เดือน และเมื่อถึงจุดนั้นก็ควรจะคาดการณ์ได้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น  “คิวอีมีอิทธิพลมาก แต่ไม่ได้อยู่ใต้ทิศทางและการชี้นำเป็นพิเศษของเฟด  การที่ไม่สามารถจะระบุว่าสภาพคล่องที่มีอยู่เหลือล้นนี้ไปจบลงที่ไหน  เป็นการชี้ว่า มันสามารถรั่วไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ได้ มันสามารถวิ่งเข้าสู่ตลาดที่อยู่อาศัยได้ และมันสามารถวิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้นได้”
ผลกระทบในทางลบของเฟดที่จะถอนตัวออกจากตลาดรู้สึกได้มาก่อนในระหว่างที่เฟดผ่อนคลายเชิงปริมาณในก่อนหน้าหรือทำโครงการ “คิวอี” แต่มันเป็นผลกระทบชั่วคราวเมื่อเศรษฐกิจติดขัดอีกครั้งและเฟดลดปฏิบัติการนี้ลง   อย่างไรก็ดี นักลงทุนจำนวนมากเชื่อว่าในคราวนี้เศรษฐกิจจะดูดซับวิกฤติได้ดีกว่าเมื่อเฟดหยุดขยายงบดุล
แซน บราวน์ นักกลยุทธ์รายได้คงที่บริษัทลอร์ด แอบเบตต์ แอนด์ โค แอลแอลซี กล่าวว่า  อัตราดอกเบี้ยที่กลับสู่ระดับปกติมากขึ้นจะส่งผลให้ผลตอบแทนทั้งหมดเป็นศูนย์ในช่วง 5 ปีข้างหน้าสำหรับนักลงทุนดอกเบี้ยมาตรฐาน จนถึงบาร์เคลย์ ยูเอส แอกกรีเกต บอนด์  อินเด็กซ์
ขณะเดียวกัน ยิ่งเฟดซื้อพันธบัตรนานเท่าไหร่ อาจจะยากมากขึ้นเท่านั้นที่เทรดเดอร์จะปรับตัวต่อตลาดที่ไม่ปกติ
ฮูจากเครดิตสวิส  กล่าวว่า “เฟดต้องเลิกยุ่งกับตลาดและปล่อยให้ตลาดทำงานอีกครั้ง และปล่อยให้การทำงานของดีมานด์และซัพพลายเป็นธรรมชาติอีกครั้ง”
ต้องรอดูกันว่า การคาดการณ์เหล่านี้จะถูกต้องหรือไม่ การประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 มิถุนายนนี้ น่าจะให้เบาะแสเกี่ยวกับทิศทางนโยบายของเฟดได้ไม่มากก็น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น