วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

USกินค่าฟีจีนลงทุน5หมื่นล.

ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

AEC คว้างานที่ปรึกษาการลงทุนด้านพลังงานจาก CWE ยักษ์ใหญ่แดนมังกรเตรียมทุ่มเงิน 5 หมื่นล้านบาท ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทย กินค่าฟีบาน หลังเล็งลงทุนธุรกิจไฟฟ้า พลังงานน้ำ-พลังงานลม-พลังงานแสงอาทิตย์  ดันพื้นฐานแข็งแกร่ง

นายกอบเกียรติ บุญธีรวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC (ชื่อเดิม บริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) หรือ US) กล่าวว่า บริษัทฯได้รับแต่งตั้งจาก China International Water & Electric Corporation (CWE) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท China Three Gorges Corporation (CTG) ซึ่งเป็นผู้นำด้านพลังงานขนาดใหญ่อันดับ TOP 3 ของประเทศจีน
โดยแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาในการหาผู้ร่วมทุน และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน ทั้งส่วนของไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานลม และ/หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อลงทุนในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ CWE เป็นองค์กรของรัฐบาลจีน มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 137,458 ล้านหยวน มีการลงทุนอยู่ใน 70 ประเทศทั่วโลก
รวมถึงงานก่อสร้าง อาคาร ท่าเรือ ถนน ทางเดินเรือ การปรับระดับที่ดิน โครงสร้างการประปา สะพาน เครื่องถ่ายทอดไฟฟ้า เขื่อน และอ่างเก็บน้ำ อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติในการก่อสร้างอย่างสูง และมีใบอนุญาตประกอบกิจการหลายชนิด รวมถึงได้รับการจัดอันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ AAA มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปักกิ่ง และมีสำนักงานในหลายประเทศ
อาทิ ฟิลิปปินส์ ลาว ปากีสถาน คาซัคสถาน กานา ซูดาน ไทย และมาเลเซีย ทั้งนี้ บริษัทแม่ CTG มีผลงานในการสร้างเขื่อนซานเสียต้าป้า (หรือที่เรียกกันว่าเขื่อนสามหุบเขา หรือเขื่อนสามผา/Three Gorges Dam) ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีสินทรัพย์สะสมทั้งหมด 314,331 ล้านหยวน
นายประพล มิลินทจินดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ CWE แต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นที่ปรึกษาการลงทุนในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการก้าวสู่ความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจอีกขั้นของ บล.เออีซี เพราะหมายถึงความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่มอบให้กับบริษัทฯ และการแสดงความประสงค์จะเข้ามาลงทุนด้านพลังงานของไทยในวันนี้
“เนื่องจาก CWE เล็งเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการและการลงทุนในไทยว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในแถบเพื่อนบ้านอีกด้วย ทั้งนี้ CWE เป็นบริษัทพลังงานที่มีความพร้อมด้านเงินทุน” นายประพล กล่าว
นอกจากนี้ ยังรวมถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านพลังงานเป็นอย่างดี สามารถที่จะสนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้ดีในทุกๆ ด้าน จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งหาก บล.เออีซี สามารถประสานงานให้ฝั่งของนักลงทุนจากจีนและไทย ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าการร่วมมือกันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายอย่างแน่นอน
“ถึงแม้ว่าบริษัทฯ เพิ่งจะเปลี่ยนชื่อและทีมบริหาร แต่ก็สามารถคว้างานใหม่และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจขนาดใหญ่เอาไว้เหมือนเดิม ทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามา โดยมูลค่าเบื้องต้นคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ อันจะทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน และคุณประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่อง ต่อจากนี้คือการสร้างงาน-สร้างคน มีเงินทุนหมุนเวียนเกิดขึ้นในประเทศ และที่สำคัญถือเป็นสัญญาณการลงทุนก้าวแรกที่ทำให้นักลงทุนจากประเทศอื่นๆ หันมามองการลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย” นายประพล กล่าว
นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ กล่าวว่า ความสำเร็จของ บล.เออีซี ครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมพลังงานไทยและเพิ่มความมั่นคง ทำให้เกิดสภาพคล่องในระบบ ทั้งนี้ จีนซึ่งมีความพร้อมด้านเงินทุน ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพการลงทุนของไทยว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งเมื่อลงทุนแล้วจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“จากสถานการณ์ภาคการลงทุนขณะนี้มีเงินไหลออกไป แต่ บล.เออีซี กลับสามารถหาทางที่จะดึงเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศได้และเป็นการลงทุนในระยะยาวอีกด้วย นั่นเป็นเพราะสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้บริหารของบริษัทฯและผู้ลงทุนที่จะมาจากต่างประเทศ ผมเชื่อว่าความพยายามของคณะผู้บริหาร บล.เออีซี ที่มีเป้าหมายจะสร้างคุณประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับบริษัทฯ และประเทศชาติ ทำให้ในอนาคตคงจะได้เห็นดีลที่ดีใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกนับไม่ถ้วน สำหรับการร่วมมือกันในครั้งนี้ เป็นเพราะประเทศจีนมองการลงทุนหลายประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง” นายสุรเกียรติ์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น