จาก'ผิงอัน'ยัน'แม็คโคร' เดิมพันหนี้แสนล.ยึดเอเซีย



2 ดีลยักษ์ที่ซี.พี.คว้ามาได้ ไล่จากซื้อ "ผิงอัน" ยักษ์ประกันจีน และบิ๊กค้าส่ง"แม็คโคร"กางตำราพิชัยยุทธ ยึดเอเซีย ด้วยเวลาห่างกันไม่ถึง 2 เดือน

ในช่วงที่ผ่านมา เกิดความเคลื่อนไหวชัดถึง "แผนยึดพื้นที่การค้าในเอเซีย" ของเหล่าเศรษฐีฟอร์บส์เมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นดีลแห่งอาเซียน มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ของเจ้าสัว "เจริญ สิริวัฒนภักดี" แห่งทีซีซี กรุ๊ป เศรษฐีอันดับ 2 ของไทย (สินทรัพย์ 11,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ราว 351,000 ล้านบาท) ที่เดินเกมซื้อกิจการบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในเอเซีย ได้สำเร็จ เมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา หลังขับเคี่ยวกันถึงพริกถึงขิงกับเบียร์อันดับ 3 ของโลกอย่างไฮเนเก้น อยู่นาน จนกองเชียร์คนไทยออกอาการลุ้นจนเหนื่อย

ในเดือนเดียวกัน เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เศรษฐีอันดับ 1 ของไทย (สินทรัพย์14,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 429,000 ล้านบาท) เดินเกมไม่ต่างกัน ประกาศความสำเร็จในการเข้าซื้อหุ้นธนาคารเอชเอสบีซี (ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของยุโรป) ในสัดส่วน 15.57% ที่ถืออยู่ในบริษัทผิงอัน อินชัวรันซ์ บริษัทประกันรายใหญ่อันดับ 2 ของจีน ด้วยมูลค่า 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 287,966 ล้านบาท โดยดีลนี้ถูกระบุว่าเป็นการซื้อหุ้นของทุนข้ามชาติครั้งใหญ่ที่สุดในจีน

ผิงอันไม่เพียงเป็นพี่เบิ้มธุรกิจประกันในจีน แต่ยังติดอันดับโลก โดยในปี 2555 มีรายชื่อติดอันดับ 100 จากการจัดอันดับ 2,000 บริษัทชั้นนำทั่วโลกของนิตยสารฟอร์บส์ และติดอันดับ 242 จากการจัดอันดับ 500 บริษัทชั้นนำในโลกของนิตยสารฟอร์จูน

ล่าสุด กับการทุ่มเงินเป็นจำนวนมากแถมด้วยเลขสวย 188,880 ล้านบาท กับดีลที่ถูกระบุว่าใหญ่ที่สุดของการซื้อกิจการในไทย โดยซี.พี.ส่งบริษัทลูกอย่าง บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น เพื่อเข้าซื้อหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ในธุรกิจค้าส่ง ศูนย์จำหน่ายสินค้าอุปโภค และบริโภค แบบชำระด้วยเงินสดและบริการตนเอง หรือ Cash& Carry (โดยได้สิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า และการดำเนินธุรกิจในทุกประเทศ ยกเว้น อินเดีย) แบ่งเป็นการซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวี (SHV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จากเนเธอร์แลนด์ สัดส่วน 64.35% คิดเป็นมูลค่า 121,536 ล้านบาท ร่วมกับการทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของบริษัทในราคา 787 บาท/หุ้น จากผู้ถือหุ้นรายอื่น จำนวน 85,570,500 หุ้น วงเงิน 67,344 ล้านบาท

โดยเพิ่งลงนามสัญญาซื้อหุ้นสดๆร้อนๆในวันที่ 23 เม.ย.2556 ที่ผ่านมา ที่ฮ่องกง ก่อนที่ผู้บริหารซีพีออลล์ จะบินด่วนกลับมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในวันเดียวกัน เพื่อหยุดราคาหุ้นไม่ให้ร่วงต่อ โดยก่อนหน้านั้น 1 วัน (22 เม.ย.) ราคาหุ้นซีพีออลล์ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตลอดวัน ปิดตลาดที่ราคา 43.50 บาท ลดลง 2.75 บาท คิดเป็น 5.95% ตื่นกับข่าวลือที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะประเด็นการเพิ่มทุน จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายหุ้นสยามแม็คโคร ตามมาด้วย ซีพีออลล์

ไม่น่าเชื่อ !! ปฏิบัติการรวบรัดฮุบหุ้นแม็คโคร ใช้เวลาเพียง "10 วัน" ตามคำบอกเล่าของ บอสใหญ่ซีพีออลล์ "ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" นอกจากสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างเจ้าสัวธนินท์กับอดีตประธานคนเก่าของเอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวี ผู้ถือหุ้นใหญ่แม็คโครแล้ว

ระดับความไว ยังสะท้อนถึงความต้องการที่แน่ชัดในการสยายปีกธุรกิจค้าส่ง ใช้แม็คโครเป็น "หน้าร้าน" นำสินค้าในเครือซี.พี. เจ้าแห่งธุรกิจเกษตรและอาหารครบวงจร ไปปักธงในอาเซียน จีน ก่อนจะต่อยอดไปยังภูมิภาคเอเซียในอนาคตโดยไม่ต้องการนับ 1 !!!

กลายเป็นการ "พลิกกลยุทธ์" การดำเนินธุรกิจของซี.พี. ในวันที่มีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 92 โดยอีก 8 ปีจะกลายเป็นองค์กรร้อยปี ซึ่งเริ่มมองการซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers & Aquisitions- M&A) กับดีลระดับ "แสนล้าน" อย่างที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นไปเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง ขณะที่พัฒนาการธุรกิจของซี.พี.เดินจากธุรกิจต้นน้ำ (เกษตรแปรรูป และอาหาร) มาสู่ธุรกิจปลายน้ำ (ค้าปลีก) หรือแม้แต่ธุรกิจประกัน ที่จะกลายเป็นแหล่งระดมทุนชั้นยอด

โดยบิ๊กดีลอย่าง ผิงอัน และ แม็คโคร เป็นอาทิ ทั้งนี้หากรวมมูลค่าของสองดีลนี้เข้าด้วยกัน จะคิดเป็นมูลค่าดีลรวมถึง "475,966 ล้านบาท" แซงหน้าดีลเอฟแอนด์เอ็น

ถัดจากนี้ไป ยังน่าจะมีดีลอื่นตามมา จากคำบอกเล่าของเจ้าสัวธนินท์ ที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า เล็งจะเข้าช้อนซื้อกิจการในโลกตะวันตก ซึ่งกำลังเพลี้ยงพล้ำหลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจจนน่วม

ทว่า เป้าหมายสำคัญของซี.พี.อยู่ที่การกินรวบตลาดเอเซีย (อย่างรวดเร็ว) ในวันที่ถนนทุกสายมุ่งสู่เอเซีย ตลาดที่เต็มไปด้วยดีมานด์ และการแข่งขัน ภายใต้ระบบการค้าที่เปิดกว้าง หมายถึงแต้มต่อการค้าจะลดลงเรื่อยๆ "ขาใหญ่เท่านั้น จึงจะรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกา"

การเดินเกมธุรกิจ ไม่อาจค่อยๆคืบคลานเหมือนในอดีตอีกต่อไป !!! "กระสุนทุน"เป็นแสนล้าน จึงถูกงัดขึ้นมาช่วงชิงพื้นที่ขาย

เหล่าโบรกเกอร์ยังประสานเสียงว่า เมื่อรวมยอดขายระหว่างแม็คโครกับซีพีออลล์ จะมียอดขายรวมกันถึง 3 แสนล้านบาท สูงสุดในไทย และเป็น "อันดับสาม" ในเอเซีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เป็นรองเพียง Sun Art Retail Group ค้าปลีกแดนมังกร และ E-Mart ค้าปลีกจากแดนกิมจิ โดยปัจจุบัน แม็คโคร มี 58 สาขา มีฐานสมาชิกกว่า 2 ล้านราย ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด กว่า 50 จังหวัด

นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์กันว่า มีความเป็นไปได้ว่าซีพีออลล์จะจับมือกับแม็คโคร เพื่อขอไลเซ่นส์ขยายธุรกิจค้าปลีกแดนมังกรใน 4 มณฑล ได้แก่ ยูนนาน เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน และเจียงซู เป็นการรุกธุรกิจค้าปลีกในจีนเป็นแพ็กเก็จ

ทว่าความกังวลตามมา คือ ซีพีออลล์เลือกที่จะยืมกระสุนทุนคนอื่น (จัดหาเงินทุนผ่านการกู้เงินระยะสั้นในระยะ 1 ปี Bridging Loan จาก 5 สถาบันการเงิน) มากถึง 90% (วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท) ของมูลค่าดีลที่ 1.88 แสนล้านบาท โดยขอใช้กระสุนทุนตัวเอง (กระแสเงินสดภายในกิจการ) เพียง 10% พร้อมทั้งยังปฏิเสธการเพิ่มทุน ย่อมทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยรับรู้ถึงความเสี่ยงต่อภาระการชำระหนี้ และระยะเวลาคืนทุนในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีเสียงโจษขานหนาหูว่า "ซื้อแพง!!!"

ขณะที่กลยุทธ์ร่วมในการดำเนินธุรกิจระหว่างซีพีออลล์ ในธุรกิจค้าปลีก กับแม็คโคร ในธุรกิจค้าส่ง ยังเป็นเรื่องที่คาใจนักลงทุนถึงความเข้ากันได้ในการต่อยอดธุรกิจ โดยเห็นว่าบริษัทอื่นในเครือซี.พี.น่าจะได้รับประโยชน์มากกว่า อาทิ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ในธุรกิจอุปโภคบริโภค วัตถุดิบเกษตร อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง โดยภาระหนี้ก้อนโตกลับมาอยู่ที่ซีพีออลล์ บริษัทที่ปลอดหนี้ และมีรายได้เป็นกอบเป็นกำในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 197,815.60 ล้านบาท และมีกำไร 11,023.23 ล้านบาท นอกจากนี้ ขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นยังกลายเป็นความกังวลต่อการเป็นอำนาจเหนือตลาด ผิดพรบ.แข่งขันทางการค้า

ไม่น่าแปลกที่ให้หลังการแถลงข่าวดีลนี้จบลง (24 เม.ย.) หุ้นซีพีออลล์ยังคงร่วงต่อที่ 4.50 บาท ปิดที่ 39 บาท มูลค่าการซื้อขายมากสุด 19,167.19 ล้านบาท จนเจ้าสัวธนินท์ ต้องออกมาสยบข่าวกับประโยคเด็ดที่ว่า "ซื้อแพงวันนี้ จะกลายเป็นของถูกในอนาคต" และ "เงิน ไม่สำคัญเท่าทีมงาน ยี่ห้อการค้า และเทคโนโลยีที่ดี" ขณะเดียวกันยังปฏิเสธการเพิ่มทุน โดยระบุว่ายังมีวิธีบริหารจัดการด้านการเงินอีกหลายรูปแบบ เช่น การนำสินทรัพย์ของแม็คโครจัดตั้งเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในดีลของผิงอัน ปัญหาในการจัดหาแหล่งเงินมาซื้อหุ้น ยังกลายเป็น "ประเด็นร้อน" ไม่ต่างจากกรณีของแม็คโคร เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศรายหนึ่งตีข่าวถึงที่มาของแหล่งเงินว่า ซี.พี.ไม่ใช่เจ้าของเงิน “ตัวจริง” เป็นเพียงนอมินี ให้กลุ่มนักธุรกิจในจีน หรือแม้แต่เป็นเงินของอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่นอกประเทศของไทย แต่สุดท้ายซี.พี.ก็ฝ่ากระแสและกลบข่าวลือ ออกแถลงการณ์เป็นอย่างการ รวมถึงการรีบเร่งปิดดีลในช่วงโค้งสุดท้ายของเส้นตาย โดยได้เงินกู้จากธนาคารสวิส UBS (Union Bank of Switzerland) เป็นอัศวินม้าขาวมาช่วยให้คำปรึกษา และจัดหาเงินก้อนโตให้ ในที่สุด

จากดีลผิงอัน มาถึง แม็คโคร บอกให้รู้ว่า การเดินเกมของซี.พี.ที่แม้จะมองเห็นเส้นชัยจะแจ้ง พยายามวิ่งให้ไว (ซื้อหุ้น และซื้อกิจการบิ๊กคอร์ป) เพื่อหวังเข้าเส้นชัยก่อนคู่แข่ง ทว่าระหว่างทางวิ่ง ปัญหาเบื้องหน้าเรื่องเงินๆทองๆ กลับเป็นปัญหาแรกสุดที่ต้องแก้ไขให้ได้ก่อนที่จะสะดุดขาตัวเอง

--------------------------------------------

ซื้อแม็คโคร ปลดล็อกค้าปลีกบุกโลก

ถ้อยแถลงของบมจ.ซีพีออลล์ หลังจบดีลซื้อหุ้นมูลค่าเกือบ "สองแสนล้าน" ในแม็คโคร ท่าจะสะกดใจนักลงทุน "ไม่อยู่หมัด" ราคาหุ้นจึงร่วงกราวรับข่าวต่อเนื่อง ทำเอาเจ้าสัวแห่งอาณาจักรซี.พี. ถึงคราออกโรงร่ายมนต์เรียกราคาหุ้น และความเชื่อมั่นกลับคืนมาโดยด่วน ในงานประชุมผู้ถือหุ้นของ บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) รู้กันดีว่า "ไม่บ่อย"ที่เจ้าสัวธนินท์ จะขอพูด แถมเป็นการพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น "ขีดลายแทงขุมทรัพย์แม็คโครแบบชัดๆ" เพื่อสยบคำถามคาใจจากนักลงทุน ไฉนช่างกล้าช้อปของแพง !!

คนต้นทุนสังคมสูงอย่าง เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซี.พี. เศรษฐีเบอร์ 1 ของเมืองไทย อธิบายความถึงดีลนี้ว่า "เงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก !!!" เมื่อเทียบกับระยะยาวที่จะได้ครอบครองขุมทรัพย์มหาศาลของแม็คโคร พร้อมสำทับด้วยว่า "หากของเค้าไม่ดีจริง" แบงก์หลายแห่งคงไม่พร้อมใจเป็นถุงเงินให้ซี.พี.

“นักลงทุนว่าซื้อแพงไป แพงวันนี้ถูกวันหน้า ถูกอย่างรวดเร็วด้วย ไม่ต้องใช้เวลานาน” นี่คือประโยคเด็ดที่กลายเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน หลายฉบับในวันรุ่งขึ้น

เจ้าสัวยังให้ค่าแม็คโครว่าเป็นกิจการชั้นดี (Exellence) ไม่ต่างจากการมี "เครื่องจักรพิมพ์เงิน" จากที่ดินของแม็คโครที่จะมีอยู่ 62 สาขาในปี2556 มีเพียง 7 สาขาที่เป็นพื้นที่เช่า ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อได้อีกมหาศาล เฉพาะราคาที่ดินก็มีแต่จะพุ่งพรวด

เจ้าสัวซีพี.ยังให้ค่าทีมงานของแม็คโคร ที่พัฒนาระบบการค้าส่งได้อย่างดีเลิศ "โตวันโตคืน" โดยอดไม่ได้ที่จะเอ่ยชมซีอีโอหญิงแกร่งอย่าง “สุชาดา อิทธิจารุกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามแม็คโคร

“สุชาดา เป็นหญิงเหล็กที่เข้มแข็งมาก เก่งมาก ตั้งแต่เป็นซีอีโอก็ทำให้แม็คโครโตวันโตคืน เพียงแต่เจ้าของแม็คโครไม่ปล่อยให้ขยายสาขาได้เต็มที่" นี่คือสิ่งที่เจ้าสัวธนินท์เอ่ยชมสุชาดา อย่างตรงไปตรงมา หาก"จับคู่" สองซีอีโอคู่ขวัญ ระหว่าง สุชาดา แห่งแม็คโคร กับ บิ๊กบอสซีพีออล์ อย่าง ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ไว้ด้วยกัน น่าจะเป็นความลงตัว เพราะเซเว่น อีเลฟเว่น ที่บริหารโดยซีพีออลล์ เป็นอีกหน่วยธุรกิจที่พิมพ์แบงก์ (เงินสด) ให้เจ้าสัวอยู่ทุกวี่วัน

“แม็คโครใช้เวลา 25 ปี ขึ้นมาอยู่ในช่วงที่ดีที่สุด ถ้าผมเป็นเจ้าของ ผมไม่มีทางขายหรอก แต่เจ้าของเขาอยากออกจากธุรกิจนี้ ในเอเชียเขาขายหมดแล้ว ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี จีน เหลือเมืองไทยที่เดียว เป็นเพราะมีทีมงานที่ยอดเยี่ยม เขาเลยเสียดาย ไม่ยอมขาย”

เจ้าสัวธนินท์ยังเฉลยทีเด็ดของดีลนี้ว่า "แม็คโครจะนำซีพีออลล์ออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สบาย เหมือนเป็นเจ้าของแฟรนไชส์เอง ต่างจากเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ถูกจำกัดแฟรนไชส์จากบริษัทแม่ในอเมริกา" เจ้าสัวพูดคล้ายจะระบายความอัดอั้น หลังจาก เซเว่น อีเลฟเว่น ยังติดปัญหาไลเซ่นส์จากบริษัทแม่ในสหรัฐ ทำให้ไม่สามารถออกไปโตนอกบ้านได้ โดยเฉพาะในจีน ที่ขอไลเซ่นส์จากบริษัทแม่ มานาน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้รับไฟเขียว

การซื้อแม็คโครจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดี ในการพาสินค้าในเครือซี.พี. ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบเกษตร อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ทั้งองคาพยพ "ติดปีก" สร้างความมั่งคั่งให้กับเครือซี.พี.

มองข้ามชอต ไม่เพียงแค่ ซีพีออลล์...
-----------------------------------------------------

ผิงอัน !!! ทำไมต้อง "ซี.พี"

ผ่านคำบอกเล่าของ "ดร.สารสิน วีระผล" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ซี.พี. อีกหนึ่งนักวางกลยุทธ์ ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ

หลังบ้านคนสำคัญที่เป็นหมือนถังความคิดให้กับเจ้าสัวธนินท์ เล่าถึงดีลผิงอันให้ฟังว่า การที่ ซี.พี.ไปซื้อหุ้นบริษัทประกันภัยในจีนนั้น ไม่ใช่เรื่องรวบรัด ขาดที่มาที่ไป หากแต่เป็นความลงตัว ยิ่งกว่าครั้งไหน

“ผิงอันไม่ได้มองหาแค่นักลงทุน มีคนพร้อมเข้ามาซื้อหุ้นเขาเยอะ สิ่งที่เขาต้องการคือการหาพันธมิตรช่วยต่อยอดธุรกิจอย่างซี.พี."

ต่อยอดยังไง !! ดร.สารสิน เล่าถึง "ไม้เด็ด" ของซี.พี.ว่า เป็นเพราะซี.พี.มีฐานตลาด"ประชากรในภาคชนบทของจีน" จำนวน 800 ล้านคน (จากจำนวนประชากรจีน 1,300 ล้านคน) กระจายตัวอยู่ใน 29 มณฑลจากทั้งหมด 31 มณฑล อยู่ในมือ ซึ่งซี.พี.เข้าไปวางเครือข่ายการเกษตรในจีนมาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ

นี่คือ ฐานลูกค้าที่ ผิงอัน ต้องการขยายเข้าไป !!

“ที่ผ่านมาผิงอันไม่สามารถเจาะไปหาตลาดชนบทได้ เพราะจีนเพิ่งพัฒนาชนบทอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผิงอันเป็นเอกชนบริษัทแรกที่มีบทบาทในธุรกิจประกัน จากเดิมเป็นหน้าที่ของภาครัฐ" ดร.สารสิน เล่า

ขณะที่ซี.พี.เข้าไปตั้งรกรากในจีนกว่า 30 ปีจนได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐจีน ให้ร่วมกันพัฒนาโครงการในพื้นที่ชนบท ชื่อโครงการ เกษตรทันสมัย ที่เป็นการพัฒนาเกษตรครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ในหมู่บ้าน อาทิ หมู่บ้านเลี้ยงไก่ซินหนงชุน ,โครงการเลี้ยงไก่ไข่ที่ผิงกู่ เป็นต้น

ฐานที่มั่นในการเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรในชนบทของซี.พี.กลายเป็น "ช็อทคัท" ที่ผิงจะสามารถขยายฐานลูกค้าอย่าง "ก้าวกระโดด" โดยมีพันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างซี.พี.เป็นผู้ให้คำปรึกษา

ดร.สารสิน เล่าว่า นโยบายการพัฒนาในชนบทในจีน ลำพังรัฐบาลจีนทำเองคนเดียวไม่ไหว จึงต้องอาศัยมือเอกชน กลุ่มบริษัทประกัน และบริษัทเกี่ยวข้องเข้ามาช่วย เพื่อเตรียมพร้อมการพัฒนา กระตุ้นเศรษฐกิจในสังคมชนบทให้คึกคัก

โดยเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ มีนโยบายกระตุ้นให้คนจีนที่มักนิยมออมเงินมาทั้งชีวิตเพื่อใช้ในวัยชรา และรักษาตัวหลังเกษียณ เปลี่ยนความคิดกล้านำเงินเก็บบางส่วนมาทำประกันเพื่อคุ้มครองชีวิตในอนาคต และอีกส่วนนำมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดยไม่ต้องเก็บเงินไว้ก้อนโตไว้ในบ้าน เหมือนที่ผ่านมา

ถึงวันที่การพัฒนาเศรษฐกิจก้าวหน้าตามที่รัฐบาลจีนวางแผนไว้ วันนั้นรัฐบาลจีนจะไม่สามารถรับภาระบริการดูแลระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานให้ประชาชนได้เพียงพอ เหมือนในยุคที่ยังปกครองโดยสังคมนิยมอีกต่อไป จึงต้องมีระบบประกันภัย ประกันชีวิต จากเอกชนจะเข้ามาทดแทนการดูแลของรัฐบาล

นั่นเท่ากับว่าโอกาสมหาศาล อยู่ในมือคู่ใหม่พันธมิตร ผิงอัน - ซี.พี.

ปัจจุบันผิงอัน มีลูกค้าในมือ 74 ล้านราย หากเข้าถึงคนในชนบทที่เป็นเครือข่ายซี.พี. 800 ล้านราย หมายถึงเกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ประกันภัยในจีนได้ไม่ยาก

สำหรับซี.พี.แล้ว ผิงอัน ยังไม่ธรรมดา

ผิงอันเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการดี ในปี 2555 สามารถทำกำไรสูงสุด ราว 20,000 ล้านหยวน (1แสนล้านบาท) แซงหน้าบริษัทประกันอีก 6 แห่งในจีน นี่ยังไม่คิดถึงฐานลูกค้าจากเครือข่ายซี.พี.จากชนบทที่เข้ามาเติม ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งระดมทุนชั้นดี ให้กับซี.พี.ที่แหย่งขาไปในธุรกิจการเงิน

เมื่อเจ้าสัวเข้าซื้อหุ้น ราคาหุ้นผิงอันก็ขึ้นทำกำไรไปแล้ว 4% จาก 59 เหรียญฮ่องกง ขึ้นมาเป็นหุ้นละ 60 เหรียญฮ่องกง

“ธุรกิจของซี.พี.และผิงอัน ไปโยงกับการบริการสังคมสมัยใหม่ ที่คนชนบทที่ทำเกษตร ต้องการหลักประกันสังคม เพิ่มความมั่นคง รวมถึงซื้อการบ้าน ตลอดจนบริการทางการเงินในชีวิตประจำวัน ที่โยงกับกลุ่มธุรกิจผิงอัน ทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ที่ไม่ได้มีเฉพาะประกันทุกรูปแบบทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ผิงอันยังมีธุรกิจธนาคาร ซึ่งชีวิตสมัยใหม่ของจีนต้องมาใช้บริการธนาคารพาณิชย์มากขึ้น”

ที่มา : ประกายดาว แบ่งสันเทียะ,สาวิตรี รินวงษ์ , หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ