จากการเปิดเผยรายชื่อ 40 อันดับ มหาเศรษฐีของไทย (Thailand′s top 40 Richest 2011) ประจำปี 2554 ของฟอร์บส์ (Forbes) นิตยสารชั้นนำของสหรัฐอเมริกาปรากฏว่า “ธนินท์ เจียรวนนท์” ครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยสินทรัพย์ 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 222,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 400 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้นับว่าเป็นการครองแชมป์ต่อเนื่องเป็นปีที่สองติดต่อกันจากเมื่อปี 2553
สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำทางธุรกิจของ “ธนินท์”เท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่นำพาธุรกิจสู่ความมั่งคั่งรุ่งเรือง
ปัจจุบัน “ธนินท์” มีตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร” เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ที่รู้จักในชื่อ “ซี.พี.” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของไทยที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายในลักษณะที่เรียกว่า Conglomorate มีธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารเป็นธุรกิจหลัก โดยมีการค้าการลงทุนใน 15 ประเทศทั่วโลก และมีบริษัทในเครือประมาณ 200 แห่งทั่วโลก พนักงานราว 280,000 คน ซึ่งความสำเร็จของซี.พี.ทั้งหมด เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์และความสามารถของ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ นั่นเอง
เคล็ดลับการลงทุนสไตล์ ‘ธนินท์’
“ตลาดทั่วโลก วัตถุดิบทั่วโลก คนเก่งทั่วโลก การเงินทั่วโลกล้วนเป็นของซี.พี.” นี่คือสิ่งสำคัญที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ตอกย้ำกับผู้บริหารและพนักงานซี.พี.อยู่เสมอ แสดงให้เห็นชัดเจนถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลซึ่งได้นำพาให้ซี.พี.เติบโตเป็นปึกแผ่น เป็นบริษัทคนไทยที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย
“ผมมองว่าที่ผมทำงานนี่ไม่ได้คิดเลยเรื่องกำไร ไม่ได้คิดว่าทำธุรกิจนี้แล้วจะได้กำไรเท่าไร ผมคิดว่าทำธุรกิจนี้ อันแรกมีโอกาสสำเร็จไหม ถ้ามีแล้วถ้าจะใหญ่นี่ ธุรกิจอันนั้นจะต้องไปเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ไปเกี่ยวข้องกับคนส่วนน้อย ธุรกิจอันนี้จะไม่ใหญ่ ถ้าธุรกิจนี้เกี่ยวข้องกับประเทศเดียวธุรกิจก็ไม่ใหญ่ ต้องเกี่ยวข้องกับทั่วโลก สินค้านี้ต้องขายได้ทั่วโลกมันถึงจะมีโอกาสใหญ่ แล้วธุรกิจนี้ต้องลงทุนได้ทั่วโลกธุรกิจนี้ถึงจะมีโอกาสใหญ่ และยิ่งสำคัญกว่าเรื่องอื่นคือธุรกิจที่เราทำเป็นประโยชน์แก่ประชาชนไหม ถ้าไม่ ธุรกิจอันนี้ก็ไม่มีความยิ่งใหญ่” ธนินท์ กล่าว
ทำอะไรอย่าคิดแต่ความสำเร็จอย่างเดียว
แม้ซี.พี.จะเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจจนเป็นที่ยอมรับทั่วไป ซึ่งสร้างความภูมิใจแก่ทุกคนในองค์กร แต่ “ธนินท์” ในฐานะผู้นำไม่เคยกระหยิ่มยิ้มย่อง กลับคิดว่า “เราทำอะไรอย่าไปคิดในทางสำเร็จอย่างเดียว ต้องคิดว่ามีปัญหาอะไรตามมาอีก มีหวานต้องมีขม ได้อย่างต้องเสียอย่าง ถ้างานยิ่งใหญ่ ปัญหายิ่งมีมาก” ทั้งยังกล่าวกับผู้บริหารและพนักงานเป็นประจำว่า “เมื่อได้รับความสำเร็จ ผมดีใจแค่วันเดียว เพราะยิ่งรับงานใหญ่ ภาระของเราก็ยิ่งมากขึ้น”
ด้วยคิดเช่นนี้ ธุรกิจของซี.พี.ภายใต้การบริหารของ ธนินท์ จึงปรับตัวเร็ว และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
เน้นสร้าง “คน” รองรับการเติบโต
กุญแจสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของซี.พี.ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ “คน” “ธนินท์”ให้ความสำคัญกับการสร้างคน และมีนโยบายให้ผู้นำกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในเครือซี.พี.เร่งดำเนินการสร้างและพัฒนาคนเก่งเพื่อรองรับการเติบโตบนเวทีการค้าโลก เพราะถ้าไม่มีคนเก่ง ซี.พี.ก็ไม่สามารถชนะในตลาดโลกได้
“ธนินท์” กล่าวว่า การที่จะก้าวสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูงของซี.พี.นั้น จะต้องรู้จักใช้กลยุทธ์ในการสร้างคน โดยหนึ่งในวัฒนธรรมของซี.พี.ที่สำคัญก็คือต้องโปรโมทผู้ใต้บังคับบัญชาโดยเฉพาะการสร้างคนที่เก่งกว่าตัวเองขึ้นมา อย่างเช่นที่ตนเองเคยได้รับโอกาสนั้นจากพี่ชายทั้งสอง คือ จรัญ และ มนตรี เจียรวนนท์
ในการสร้างคนนั้น “ธนินท์” ให้ข้อคิดว่า อย่าไปแบ่งว่าใครเป็นคนของใคร ผู้บริหารที่ดีจะต้องสร้างตัวแทนขึ้นมาให้ได้ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง ต้องรู้จักแสวงหาคนเก่งมาทดแทน ต้องเปิดโอกาสให้คนเก่งได้แสดงความสามารถ
“ผู้บริหารทุกท่าน ต้องสร้างตัวแทน ผมจะยกย่องและนับถือคนที่สามารถสร้างตัวแทนขึ้นมาได้ คนที่รู้จักใช้คนเก่ง คือคนที่เก่งยิ่งกว่า ผมชอบคนเก่ง และอดที่จะเคารพนับถือคนเก่งไม่ได้” ธนินท์ กล่าว
“ธนินท์” กล่าวกับ ผู้บริหารระดับสูงในเครือซี.พี. อยู่เสมอว่า “ถ้าคุณสามารถสร้างคนเก่งได้ คุณคือคนที่เก่งที่สุด”
ในการนี้ “ธนินท์” ได้บอกถึงเคล็ดลับ 3 ประการในการสร้างคนเก่ง คือ 1.อำนาจ เพราะคนเก่งต้องมีเวทีมีอำนาจสำหรับใช้ในการแสดงความสามารถ 2.เกียรติ เพราะนอกจากการแสดงความสามารถอย่างเต็มที่แล้ว คนเก่งต้องการได้รับการยอมรับ และ 3.เงิน ก็คือผลตอบแทนที่จูงใจ
จะเห็นได้ว่า เงิน ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญประการแรกในการสร้างคนตามสไตล์ของ “ธนินท์” ทั้งนี้เพราะ “ธนินท์”คิดว่า สำหรับคนเก่งนั้นเงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด อำนาจ และเกียรติต้องมาก่อน ด้วยเหตุนี้ซี.พี.จึงมีบริษัทในเครือฯมากมายถึง 200 กว่าแห่งทั่วโลก เพื่อเป็นเวทีสำหรับคนเก่ง
นอกจากนี้ “ธนินท์” ยังกล่าวว่า ผมมองคนอื่นว่าเก่งกว่าผมเสมอ ผมไม่เคยมองใครว่าเก่งสู้ผมไม่ได้ สำหรับคนที่ทำงานกับเรา ผมยึดหลักว่าเราจะต้องเปิดโอกาส ให้โอกาสเขาได้แสดงความสามารถ เมื่อใครแสดงความสามารถออกมา เราจะต้องส่งเสริมสนับสนุนเขาให้มีตำแหน่งสูง ๆ ขึ้นไป เราจะต้องพยายามรักษาเขาให้อยู่กับเราให้นานที่สุด เราจะต้องสร้างคนที่มีความสามารถให้เกิดขึ้นให้มาก ๆ
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของซี.พี.ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง “ธนินท์” ได้เปิดโอกาสให้พนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ร่วมประชุมด้วย และเรียกกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ว่า Young Talent ซึ่งพนักงานคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมประชุม จะได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ แก่ซี.พี. ซึ่งมีหลายครั้งที่ ธนินท์ นำข้อเสนอแนะไปใช้ในการดำเนินธุรกิจของซี.พี.
“รักษาคู่แข่ง ไม่เอาเปรียบลูกค้า ดูแลสังคม”
ในโลกแห่งการแข่งขันทางการค้าและการทำธุรกิจ “ธนินท์” มีนโยบายให้รักษาคู่แข่ง และไม่เอาเปรียบลูกค้า
“ธนินท์” กล่าวว่า นักธุรกิจที่แท้จริง จะพยายามแข่งขันกันอยู่ในขอบเขต จะไม่แข่งจนตายไปฝ่ายเดียว หรือพังไปข้างหนึ่ง ถ้าเรามีความสามารถ เราก็ไปหาธุรกิจที่อื่น ทำไมต้องมาเจาะจงมาแย่งข้าวชามเดียวกัน สุดท้ายสองคน สามคนไม่อิ่มสักคน แล้วก็ไม่มีประสิทธิภาพ
“สมมติว่าเราสองคนต่อยกัน ต่อยกันจนคนหนึ่งตายไป นึกว่าอีกคนไม่เจ็บหรือ ก็เจ็บ...เพราะฉะนั้นวิธีการของ ซี.พี.คือ การถอนแล้วเราก็ไปหาตลาดใหม่ ผมไม่เคยทำให้คู่แข่งผมล้มละลาย”
“ธนินท์” มักจะกล่าวกับผู้บริหารและพนักงานว่าซี.พี.มีนโยบายรักษาคู่แข่ง เราจะไม่ทำลายคู่แข่ง และยังต้องแบ่งตลาดให้ เพื่อให้คู่แข่งสามารถอยู่รอดในตลาดได้ ทั้งนี้เพราะถ้าเราทำลายคู่แข่งไป ก็อาจมีคู่แข่งใหม่เข้ามาซึ่งอาจจะแข็งแกร่งกว่า
นอกจากนี้ ยังให้มองถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก รวมไปถึงคู่ค้าและ Suppliers ด้วย ต้องให้พวกเขาเหล่านั้นอยู่ได้ ต้องไม่เอาเปรียบลูกค้า และยังต้องดูแลสังคม ทั้งนี้เพราะเราเป็นส่วนหนี่งของสังคม ถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้ ขายคุณภาพบวกความซื่อสัตย์
คุณภาพ และความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจของซี.พี. ซึ่งยึดถือมาตั้งแต่ทำเจียไต๋ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของธุรกิจเครือซี.พี. (เจียไต๋ คือ ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักฯลฯ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2464 เป็นต้นกำเนิดของธุรกิจต่าง ๆ ในเครือซี.พี. ปัจจุบันเจียไต๋เป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อันดับต้น ๆ ของเอเซีย)
“ธนินท์” เคยเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อผมมีหัวเรื่องเทคโนโลยี ท่านมีพรสวรรค์เรื่อง พันธุ์พืช พ่อผมไปพัฒนาเมล็ดพันธุ์ผักซัวเถาจากโซนร้อน ซึ่งในประเทศโซนร้อนปลูกทุกครั้ง เก็บอีกทีไม่โตแล้ว ซึ่งแปลกมาก คุณพ่อมาเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่เมืองไทยชื่อร้านเจียไต๋ ซึ่งคุณพ่อได้สร้างพันธุ์ คัดพันธุ์ที่มีผลผลิตสูง รักษาคุณภาพใส่ในซองที่พิมพ์วันที่ เพราะเมล็ดพันธุ์พอถึงเวลาหนึ่งจะไม่งอก คุณพ่อบอกว่าถ้าใครซื้อเมล็ดพันธุ์ถ้าเลยวันที่กำหนดแล้วให้เอามาคืน จึงเป็นมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อแล้วที่ต้องรักษาคุณภาพ
“คุณพ่อท่านบอกว่า ถ้าเราจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ถ้าลูกค้าอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าลูกค้าร่ำรวย ธุรกิจเจียไต๋ที่คุณพ่อทำ ลูกค้าปลูกเอาไปขาย ไม่ใช่ปลูกเล่นดูสวยงามถ้าลูกค้าปลูกแล้วขายไม่ได้ไม่มีราคา ขาดทุน เที่ยวหน้าเขาก็ไม่มาซื้อ เหมือนเลี้ยงไก่เพื่อต้องการขายไข่ได้กำไร ถ้าเราไม่มีวิธีการไปช่วยเขา ไม่ได้ช่วยเขาควบคุมเรื่องคุณภาพ เขาอยู่ไม่ได้”
ยึดหลัก “3 ประโยชน์”
นักธุรกิจที่จะทำธุรกิจใหญ่ ต้องเข้าใจด้วยว่า เราอยู่ด้วยตัวเราคนเดียวไม่ได้ ถ้าสังคมอยู่ไม่ได้เราจะอยู่ได้อย่างไร ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน
“เครือเจริญโภคภัณฑ์ จะทำอะไรก็ตามต้องคำนึงถึงว่า ประเทศชาติต้องได้ประโยชน์ ประชาชนต้องได้ประโยชน์ และบริษัทก็ต้องได้ประโยชน์ด้วย” ธนินท์ กล่าว “นโยบาย 3 ประโยชน์” ซึ่งเป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของเครือซี.พี.
“ผมถือว่า ธุรกิจที่ผมทำเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อสังคม ผมคิดว่าถ้าเรามีโอกาสสร้างคน สร้างงาน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตลอดเวลาผมถือแบบนี้ เข็มมันจะแหลมไปทั้ง 2 ข้างไม่ได้ ต้องทู่ข้างหนึ่ง แต่สำคัญว่า ธุรกิจต้องเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ก็จะเท่ากับเป็นการช่วยสังคม เราสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างอาชีพ ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าอะไรคือการกระจายรายได้ คนมักเข้าใจว่าต้องกระจายแต่ไม่รู้ว่าการ กระจายจริง ๆ เป็นอย่างไร วิธีที่ถูกต้องคือการสร้างงาน”
“ธนินท์” กล่าวว่า ซี.พี.ก้าวหน้าและเติบโตมาจนถึงปัจจุบันจะก้าวสู่ปีที่ 90 ในปี 2554 ด้วยเพราะได้ดำเนินธุรกิจอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงต้อง“ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”อันได้แก่ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ธุรกิจกิจการของซี.พี.จึงราบรื่น เติบโตอย่างมั่นคงและเป็นปึกแผ่นได้ในประเทศไทย และสามารถขยายกิจการไปยังต่างประเทศได้อย่างไม่หยุดยั้ง
ในมุมมองของการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินของ “ธนินท์” ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจนั้น คิดว่าการทุ่มเทการทำงานเพื่อสร้างธุรกิจให้เจริญก้าวหน้า การได้สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนมากมาย สร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ การเสียภาษีให้กับรัฐบาล การมีความรับผิดชอบต่อสังคม การสร้างคนเก่ง สร้างคนไทยให้ไปแข่งขันทางธุรกิจกับทั่วโลก เป็นการพัฒนาคนให้ได้เหรียญทองทางธุรกิจ เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติเช่นเดียวกับการที่นักกีฬาได้รับเหรียญทองโอลิมปิก
ทั้งหมดคือปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ “ธนินท์ เจียรวนนท์” เป็นผู้บริหารที่โดดเด่นบนเวทีโลก
ที่มา : คอลัมน์ e-news จาก CP E-News
วันที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2554
http://www.matichon.co.th/news_detai...id=01&catid=01
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น