วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หุ้นBBL-KBANK-SCB
วิ่งเสย‘มูดี้ส์’ตื่นเกินเหตุ

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 05 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 7 คน 

3 หุ้นแบงก์ใหญ่วิ่งสวนข่าว “มูดี้ส์” ทบทวนลดเครดิตหุ้นกู้ หลังนักลงทุนย่อยข่าว เข้าใจว่ายังไม่ถูกปรับลดเครดิต ทำให้กลับมาไล่ซื้อหุ้นคืน ทำให้ราคาหุ้น BBL, KBANK, SCB ระหว่างวันผันผวนหนัก ส่วนต่างราคาต่ำสุดกับราคาปิดห่างกันมากพอสมควร โบรกฯแนะไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐาน คงน้ำหนักการลงทุนเท่าตลาด ชู  BBL เด่นสุด

                ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ปรับตัวสูงสุดที่ราคา 208 บาท ต่ำสุดที่ 197.50 บาท ปิดที่ 206 บาท บวก 2 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.98% หุ้นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ปรับตัวสูงสุดที่ราคา 201 บาท ต่ำสุดที่ 193.50 บาท ปิดที่ 201 บาท บวก 4.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2.29% และหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ปรับตัวสูงสุดที่ราคา 175 บาท ต่ำสุดที่ 170.50 บาท ปิดที่ 174.50 บาท บวก 2 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.16%
                แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับความผันผวนของราคาหุ้นแบงก์ใหญ่ 3 แบงก์ดังกล่าว เกิดจากกระแสข่าว “มูดี้ส์หั่นเครดิตหุ้นกู้ 3 แบงก์ อาทิ BBL, KBANK, SCB” จึงทำให้มีแรงเทขายหุ้นแบงก์ออกมาในช่วงเช้าวานนี้ (4 มิ.ย.) ภายหลังจากเปิดตลาดหุ้น จนทำให้ราคาหุ้นแบงก์ทั้ง 3 รายที่ระดับต่ำสุดของวัน กับราคาปิดมีส่วนต่างราคาที่แตกต่างกันมาก เพราะนักลงทุนเทขายหุ้นออกมา โดยคิดว่ามูดี้ส์ปรับลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ออกโดย 3 แบงก์ดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว  จึงทำให้ราคาหุ้นร่วงลงไป แต่ภายหลังจากที่มีการย่อยข่าวแล้วกลับกลายเป็นว่า
                “มูดี้ส์ยังไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ของธนาคารไทยดังกล่าวทั้ง 3 แห่งเลย เพียงแต่อยู่ระหว่างการทบทวนเท่านั้น   ซึ่งภายหลังจากที่นักลงทุนอ่านข้อมูลอย่างครบถ้วน จึงทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ และกลับเข้ามาไล่ซื้อหุ้นคืน ประกอบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีแรงซื้อเข้ามาอย่างหนาแน่นในหุ้นแบงก์ 3 ตัวดังกล่าว” แหล่งข่าว กล่าว
                ด้านบล.ธนชาต ระบุว่า กรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ  มูดี้ส์  อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศทบทวนลดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร ซึ่งจนถึงปัจจุบัน BBL, KBANK และ SCB เป็นธนาคารไทยได้รับผลกระทบ
                การ downgrade สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนมุมมองของ “มูดี้ส์”  ต่อการสนับสนุนจากรัฐบาลในการประกันเจ้าของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งการทบทวนดังกล่าวไม่ใช่เฉพาะกับธนาคารไทย แต่มีการทบทวนกับธนาคารจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งมองว่าการทบทวนดังกล่าวไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของธนาคารและคุณภาพของสินเชื่อ
                แม้ว่าจะมีการ downgrade เราไม่เห็นผลกระทบเชิงลบต่อธนาคาร เนื่องจากการ downgrade จะทำกับเฉพาะหนี้ด้อยสิทธิที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะค่อยๆ ถูกกันจากการคำนวณ Tier II จากกฎระเบียบเงินกองทุนที่เข้มงวดขึ้นภายใต้ Basel III
                จากการที่หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่จะถูกรวมใน Tier II จำเป็นต้องมีเงื่อนไขการเปลี่ยนจากหนี้เป็นทุนอัตโนมัติเมื่อธนาคารมีปัญหา (loss absorbency) เราจึงคาดไว้อยู่แล้วเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายของหุ้นกู้ด้อยสิทธิในอนาคต  กล่าวคือเราไม่เห็นผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของธนาคารหรือประมาณการของเรา เราคงยืนยัน “NEUTRAL” กับ BAY และ BBL ซึ่งเป็น Top pick ของเรา                                                      
               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น