วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ลางร้ายอาเบะโนมิกส์

คอลัมน์ วันพุธที่ 05 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 10 คน 


ดัชนีนิกเค (หรือนิกเคอิ) แห่งตลาดหุ้นโตเกียว ร่วงแรงมากหลังจากทำนิวไฮในรอบ 19 ปี แม้จะมีรีบาวด์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะกลับขึ้นไปสู่จุดเดิมได้ง่ายๆ
ในทางกลับกัน ค่าเงินเยนที่เคยอ่อนยวบไปถึง 102 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็กลับแข็งค่าขึ้นมาที่ระดับ 100  เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง และมีโอกาสที่จะต่ำกว่านั้นได้อีก เพราะสหรัฐ ท่าว่าจะไม่ลดมาตรการคิวอีลงไป จนกว่าจะเห็นอัตราการว่างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
2  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มีคนตีความว่า ลางร้ายของอาเบะโนมิกส์ หรือนโยบายซัพพลายไซด์ของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น จะกลายเป็นคำสาประลอกใหม่ในทางการเมืองและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอีกครั้ง เหมือนเมื่อครั้ง เรแกนโนมิกส์เคยสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯเรื้อรังมายาวนานจนถึงยุคของบิล คลินตัน
การอ่อนยวบของดันชีนิกเค และการกลับมาแข็งค่าใหม่ของเงินเยน สะท้อนว่า ขีดจำกัดของอาเบะโนมิกส์นั้น ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าสาระสำคัญของนโยบายมีผลลัพธ์ในการแก้ปัญหาชั่วคราว ไม่ได้ยั่งยืนอะไร เนื่องจากไม่ได้เน้นหนักลงไปแก้ปัญหาพื้นฐานของธุรกิจ นั่นคือ ความสามารถในการแข่งขัน
กำไรไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นในตลาดหุ้นโตเกียวที่เห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่ มาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและการอ่อนค่าของเงินเยน  จะเกิดผลข้างเคียงตามมาในไตรมาสที่สองชัดเจนขึ้นว่า กำไรจะถดถอยลงไปเพราะ ไม่ได้อาศัยกำไรพิเศษอย่างจริงจัง ดังนั้น การขายหุ้นทิ้งออกไปก่อน จึงเป็นความปลอดภัยไว้ก่อนตามปกติ
อีกด้านหนึ่ง ค่าเยนที่เคยอ่อนก่อนหน้านี้ อาจจะทำให้ตัวเลขการส่งออกและขายสินค้าของบริษัทต่างๆกระเตื้องขึ้น ทำให้กำลังซื้อของประชาชนสูงขึ้นชั่วคราว แต่อีกมุมหนึ่งก็ส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมถดถอยลง เพราะตัวเลขนำเข้าวัตถุดิบแพงขึ้น และต้นทุนของพลังงาน (ซึ่งทั้งหมดนำเข้า) แพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น
อย่างที่ทราบกันดี อาเบะโนมิกส์ ประกอบด้วยเสาหลัก 2 ประการ
แรกสุดคือนโยบายการเงิน ด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม (เรียกว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) เงินมหาศาลเหล่านี้ได้เข้าไปลงทุนและเก็งกำไรในตราสารทุนตราสารหนี้และตลาดทุนหลายแห่งทั่วโลก ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ ทะยานขึ้นจนสร้างสถิติใหม่  นอกเหนือจากมาตรการปลีกย่อยที่สำคัญต่างๆเช่น การตั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ, การออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่หนักหน่วง, การเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ, การให้ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากตลาด และการปรับปรุงพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น
จากนั้นก็ตามมาด้วยนโยบายการคลัง ตามสูตรเคนส์  ด้วยการพยายามที่จะผลักดันงบประมาณขาดดุลมากขึ้น (แม้ว่าจะทำให้หนี้สาธารณะที่มากถึง 220%ของจีดีพี เพิ่มขึ้นไปจนน่ากลัว) ด้วยโครงการการใช้จ่ายภาครัฐ สร่างสาธารณูปโภคครั้งใหญ่เพื่อให้คนมีรายได้จากกาลงทุนมากขึ้นไปสู่​​การเจริญเติบโตในระยะยาว ทำนองเดียวกันกับที่จีน และสหรัฐฯกระทำ
สองเสาหลักของอาเบะโนมิกส์นั้น มีข้อวิจารณ์กันอย่างมากว่า อาจได้ผลดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาหมักหมมที่แก้ยากมากขึ้น หลายประการ ได้แก่
-          การขาดดุลงบประมาณ และการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะจนเข้าเขตอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ธนาคารกลางมีตัวเลขเข้าขั้นล้มละลาย ซึ่งจะต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มจนทำให้เงินเฟ้อมหาศาล
-          การเมืองที่ถอยหลังเข้าคลอง เพราะเทคโนแครตที่ติดตามความก้าวหน้าของนโยบายการเงินและเศรษฐกิจไม่มีอำนาจ แต่นักการเมืองที่กำหนดนโยบายซึ่งมีอำนาจตัดสินใจ กลับไม่เข้าใจกรอบคิดของนักวิชาการ และเทคโนแครตดีเพียงพอ ทำให้เกิดความลักลั่นในการกำหนดมาตรการ
-          ธนาคารพาณิชย์ไม่มีการปฏิรูปวิธีการทำงานที่ทันสมัย เพราะรอความช่วยเหลืออุ้มชูจากรัฐเป็นหลัก ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์และข้อเรียกร้องใหม่ๆทางสังคม
สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มผลิดอกออกผลมาให้เห็นแล้วจากปรากฏการณ์ในตลาดหุ้น และค่าเงินเยน ซึ่งเริ่มกลายเป็นมะเร็งร้ายที่กำลังบั่นทอนให้อาเบะโนมิกส์เริ่มต้นการนับถอยหลัง แม้ว่าจะยังไม่ถึงพังทลายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็ส่งสัญญาณทางลบให้เห็นแล้วว่า หากไม่มีการดำเนินการเพื่อที่จะแก้ไขผลพวงทางลบของมาตรการที่ดำเนินมาเพื่อฝ่ากรอบจำกัดแล้ว อาจจะกลายเป็นภาระที่ส่งผลร้ายชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่วิกฤตรอบใหม่ขึ้นมาได้ไม่ยากนัก
การพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม และการสร้างหนี้สาธารณะเป็นความเสี่ยง ซึ่งหากพลาดพลั้งแล้ว โอกาสที่จะแก้ลำอาจจะทำไม่ได้อีกเลย

โดย...วิษณุ  โชลิตกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น