เวิลด์แบงก์ชี้เศรษฐกิจโลกโตลดลง
ต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2556 ผู้เข้าชม : 5 คน
วอชิงตัน - ธนาคารโลกคาด เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง แต่การเติบโตมีความผันผวนน้อยลงในเดือนและปี ที่จะมาถึงเมื่อความเสี่ยงจากวิกฤติการเงินในยุโรปเจือจางลงและเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆที่ต้องปรับตัวต่อราคาโภคภัณฑ์ที่ลดลงและแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เตือนไทย และเอธิโอเปีย ควรจะยังคงเฝ้าระวังสัญญาณฟองสบู่และความร้อนแรงมากเกินไป
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุดของธนาคารโลก คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะโตประมาณ 2.2% ในปีนี้ และ 3% ในปี 2557 ซึ่งโตน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคมเล็กน้อย
แอนดรูว์ เบิร์น ผู้เขียนรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก กล่าวว่า มีการรับรู้กันมากขึ้นว่า นี่ไม่ใช่ผลกระทบหลังจากเกิดวิกฤติ แต่มันเป็นภาวะปกติครั้งใหม่
นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกคาดว่าประเทศที่มีรายได้สูงจะมีการเติบโตอย่างเฉื่อยชา โดยยูโรโซนยังคงอ่อนแอแต่ในที่สุดก็จะโผล่พ้นจากภาวะถดถอย และญี่ปุ่นจะไม่มีแรงส่งจากมาตรการเงินและคลังของรัฐบาลในระดับหนึ่งหลังจากที่ป่วยและชะงักงันมานาน โดยธนาคารโลกได้ปรับประมาณการการเติบโตของญี่ปุ่นในปี 2556 เป็น 1.4% จากที่ก่อนหน้านี้คาดไว้ 0.8%
ในบรรดาเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ถึงกระนั้นก็ตามธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะโตแค่ประมาณ 2% ในปีนี้ ซึ่งพอๆกับกับการเติบโตในช่วงสามปีที่ผ่านมา
สำหรับเศรษฐกิจเกิดใหม่ รายงานระบุว่ามีเงื่อนไขต่างกันไป แต่ภาพโดยรวมถือว่าดี ในลาติน อเมริกา เอเชียตะวันออกและแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา หลายประเทศกำลังเติบโตใกล้ศักยภาพของตนเองและควรจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีที่จะมาถึง โดยทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัยเช่น มีอัตราผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคนในวัยทำงานมากขึ้น
รายงานยังระบุว่า ในหลายๆกรณีที่มีการเติบโตช้ามากกว่าในช่วงที่มีการขยายตัวที่เกิดขึ้นก่อนวิกฤติการเงินโลก แต่ระดับการเติบโตที่ลดลงเหล่านั้น อาจจะคงทนและยั่งยืนมากขึ้น ผู้กำหนดนโยบายควรจะโฟกัสไปที่ความท้าทายภายในประเทศ ของแต่ละประเทศ เช่น ปรับปรุงสาธารณูปโภค ปรับปรุงกฎระเบียบ และสร้างตัวกันชนทางการคลังขึ้นมาใหม่หลังจากที่เบาบางลงในช่วงวิกฤติ นอกจากนี้ยังบอกว่าเจ้าหน้าที่ในบางประเทศ เช่น ไทย และเอธิโอเปีย ควรจะยังคงเฝ้าระวังสัญญาณฟองสบู่และความร้อนแรงมากเกินไป
ในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เศรษฐกิจจะยังคงเปราะบางและในบางกรณีมีปัญหามาก ประเทศในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง ซึ่งเพิ่งพ้นจากยุคหลังโซเวียต มีหลายกรณีประสบปัญหาเหมือนกับประเทศในยุโรปที่มีรายได้สูง โดยปัญหาเหล่านี้ได้แก่ ภาคธนาคารเปราะบาง มีปัญหาสินเชื่อ และขาดดุลงบประมาณมาก แต่ถึงกระนั้นก็ตามยุโรปที่กำลังพัฒนาควรจะโตขึ้นเป็นมากกว่า 4% ในปี 2558 จากประมาณ 2.7% เมื่อปีที่แล้ว
ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ยังต้องกระเสือกกระสนกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การเติบโตอาจจะเพิ่มขึ้นได้เมื่อความตึงเครียดลดลง ส่วนจีน ธนาคารโลกคาดว่าจะโต 7.7% ในปีนี้ จากที่คาดไว้ ก่อนหน้านี้ 8.4%
เบิร์น กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังปรับปัจจัยพื้นฐานในทางบวกเนื่องจาก เศรษฐกิจกำลังพัฒนา เริ่มพึ่งพาตนเองมากขึ้นและเริ่มพึ่งพากันเองเพื่อดีมานด์ใหม่ๆ ในขณะนี้การค้าของประเทศกำลังพัฒนามากกว่าครึ่ง เป็นการค้ากับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แทนที่จะทำการค้ากับประเทศที่รวยกว่าอย่างสหรัฐและญี่ปุ่น โดยเพิ่มขึ้นจาก 37% เมื่อปี 2544
ธนาคารโลกย้ำว่า แนวโน้มนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจีนเท่านั้นแม้ว่าจีนซื้อสินค้าส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนา 26% จาก 14% เมื่อปี 2544 โดยการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่เหลือก็ได้โตมากกว่าการค้ากับประเทศที่มีรายได้สูงมาก
อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงใหม่จากสหรัฐและเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง นั่นคือ การยุตินโยบายเงินที่เอื้อเฟื้ออย่างสุดโต่ง ตัวอย่างเช่น การลดนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐ อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกสูงขึ้น
ธุรกิจในหลายประเทศได้ใช้ความได้เปรียบของอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อทำโครงการใหญ่ๆที่ต้องพึ่งพาเงินกู้ระยะยาวอย่างเช่นโครงการก่อสร้าง ซึ่งได้ก่อให้เกิดเงื่อนไขที่สุกงอมต่อการขาดทุนมากขึ้นจากเงินกู้ที่ไม่มีเหตุผลอีกต่อไปหากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและดีมานด์ลดลง ธนาคารโลกเตือนว่า ธนาคารในประเทศที่สนุกสนานกับเงินเฟ้อราคาสินทรัพย์และการเติบโตที่แข็งแกร่งมากและมีระดับหนี้ในภาครัฐบาลหรือเอกชนสูง อาจจะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ดี เบิร์น กล่าวว่า ไม่มีสัญญาณความเสี่ยงที่ชัดเจนในเศรษฐกิจเกิดใหม่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แม้ว่าเงื่อนไขต่างๆดูเหมือนจะบ่งชี้ว่า ฟองสบู่การเงินอาจกำลังพัฒนา นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนาก็อาจจำเป็นต้องปรับตัวต่อราคาโภคภัณฑ์ที่ลดลงเมื่อการเติบโตทั่วโลกลดลงในช่วงหลังเกิดวิกฤติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น