ผู้เข้าชม : 4 คน
ต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2556
วอลล์สตรีท เจอร์นัล - ตลาดทั่วเอเชียบอบช้ำอีกหนึ่งวัน นักลงทุนพากันออกจากตลาด หุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลงมากว่า 6% เข้าสู่ตลาดภาวะหมีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตลาดหุ้นจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาดทุนหนัก และลามไปถึงยุโรป แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวจากธนาคารกลางจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถยับยั้งแรงเทขายได้มาก
แรงเทขายได้เข้ายึดตลาดทั่วโลกตลอดทั้งสัปดาห์นี้ โดยได้รับแรงกระตุ้นจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายเงินของธนาคารกลางสหรัฐ และสัญญาณที่ชี้ว่าการเติบโตในเศรษฐกิจเกิดใหม่เย็นลง อารมณ์เช่นนี้ช่วยส่งนักลงทุนไปหาที่หลบภัยแบบดั้งเดิมจึงทำให้เงินเยนและพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้น
แม้ว่าการปรับตัวลงของตลาดยุโรปเมื่อเช้าวานนี้น้อยกว่าในเอเชีย แต่ดัชนีสำคัญของทวีปล้วนแต่ดิ่งลงมากกว่า 1% ในขณะเดียวกัน ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของสเปนและอิตาลี ปรับตัวขึ้นก่อนที่จะรู้ผลการประมูลขายพันธบัตรของอิตาลี และพันธบัตรเยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐ ก็ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น
การเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดอยู่ในตลาดญี่ปุ่น ดัชนีนิกเกอิ ปรับตัวลง 6.35% ปิดที่ระดับ 12,445.38 จุด และทำให้ดัชนีปรับตัวลงจากระดับสูงสุดที่ทำไว้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมประมาณ 21% ซึ่งเท่ากับว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะตลาดหมีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ชิเกโอะ สุกาวาระ ผู้จัดการฝ่ายการลงทุนอาวุโสของซอมโป แจแปน นิปปอนโคอา แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ กล่าวว่า ไม่มีเป้าหมายในขาลงที่ชัดเจนสำหรับนิกเกอิ นอกเสียจากว่ามีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของเฟดมากขึ้น ทิศทางอาจเริ่มชัดเจนมากขึ้นโดยขึ้นอยู่กับความเห็นจากเฟด
ความกลัวที่ว่าเฟดอาจเปลี่ยนแปลงนโยบายเงิน และสัญญาณที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัว ได้กระตุ้นให้นักลงทุนถอนเงินออกจากตลาดเกิดใหม่ที่มีการรับรู้กันว่ามีความเสี่ยง เงินที่ไหลออกได้ส่งผลกระทบต่อตลาดที่เล็กสุดในเอเชีย มากสุด อย่างเช่น ตลาดฟิลิปปินส์ และไทย
ปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่ออารมณ์ในตลาด ยังมาจากจีนเช่นกัน หุ้นจีนปรับตัวลงหลังจากที่ตลาดในจีนแผ่นดินใหญ่เปิดการซื้อขายอีกครั้งเมื่อวานนี้หลังจากที่หยุดมา 3 วัน โดยเป็นโอกาสแรกที่นักลงทุนจะได้แสดงปฏิกิริยาต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่แย่ลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งข้อมูลการค้าและเงินเฟ้อ สร้างความผิดหวังให้แก่ตลาด
ดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต แตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนในช่วงเช้า และปิดตลาดลดลง 2.83% ที่ระดับ 2148.36 จุด ขณะที่ ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดลดลง 2.19%
แรงเทขายส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์เช่นกัน โดยมีการซื้อขายกันที่ประมาณ 94.05 เยนเมื่อวานนี้ จาก 96.01 เยน เมื่อคืนวันพุธที่นิวยอร์ก และแตะระดับต่ำสุดในรอบสองเดือนเมื่อเทียบกับเงินเยน โดยในขณะนี้ดอลลาร์/เยนอ่อนตัวลงระดับต่ำสุดของปีนี้ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ประมาณ 9%
เนเดอร์ นาเออิมิ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรสินทรัพย์ของเอเอ็มพี แคปิตอล อินเวสเตอร์ กล่าวว่า เป็นการปรับตัวลงที่ขับเคลื่อนโดยอารมณ์และดูเหมือนว่า นักลงทุนทำกำไรทุกที่ที่สามารถทำได้
หลายประเทศในเอเชียได้เคลื่อนไหวเพื่อยับยั้งการปรับตัวลงของตลาดและเงินทุนที่ไหลออก แต่จนถึงขณะนี้ผลที่ได้รับมีความแตกต่างกันไป
หุ้นอินโดนีเซียยังคงปรับตัวลง 1.2% แม้ว่าธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเมื่อวานนี้เพื่อเพิ่มแรงดึงดูดให้กับค่าเงินรูเปียห์ที่กำลังอ่อนตัวลง การขึ้นดอกเบี้ยของอินโดนีเซียเร็วกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดไว้ราวหนึ่งเดือน โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียกล่าวว่า เป็นการตอบโต้ล่วงหน้าต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น และเพื่อป้องกันความมีเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ท่ามกลางความวุ่นวายทั่วโลก
ในอินเดีย ค่าเงินรูปีมีเสถียรภาพขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางเข้าแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นเงินท้องถิ่น แต่หุ้นก็ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ดัชนีบีเอสอี เซนเซ็กซ์ ปรับตัวลง 0.99%
ส่วนในเกาหลีใต้ ธนาคารกลางกล่าวว่า การแกว่งตัวของเงินเยนเมื่อเร็วๆนี้และความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะยุติการผ่อนคลายนโยบายเงินคือความเสี่ยงในด้านลบต่อการเติบโตของประเทศ
โทเบียส แบตต์เนอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของไดวา ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า แรงเทขายยังคงเป็นแนวโน้มหลักในตลาด การขายสินทรัพย์เสี่ยงเป็นเพราะมีการคาดการณ์ว่าเฟดอาจส่งสัญญาณว่ามีความพร้อมมากขึ้นที่จะชะลออัตราการซื้อหลักทรัพย์ ดังนั้นทุกสายตาจึงจับจ้องที่การประชุมของคณะกรรมการเอฟโอเอ็มซีในสัปดาห์หน้า และไม่มีอะไรอย่างอื่นที่สำคัญกว่าการประชุมเฟดในตอนนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น