ไทยเบฟ-เอฟแอนด์เอ็น” จับตา “เจ้าสัวเจริญ” ขยายอาณาจักร
เปิดแผนควบ “ไทยเบฟ-เอฟแอนด์เอ็น” จับตา “เจ้าสัวเจริญ” ขยายอาณาจักร “อสังหาฯ-อาหาร-เครื่องดื่ม-สิ่งพิมพ์” ทั่วโลก
“เจริญ สิริวัฒนภักดี” ประธานบอร์ดเอฟแอนด์เอ็นเล็งควบรวมธุรกิจ “ไทยเบฟ-เอฟแอนด์เอ็น” ขยายอาณาจักร “อสังหาฯ-อาหาร-เครื่องดื่ม-สิ่งพิมพ์” ทั่วโลก
วานนี้ (3 เม.ย.) บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ จำกัด (มหาชน) หรือ เอฟแอนด์เอ็น ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มอายุเก่ากว่า 130 ปี จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ที่มีกลุ่มทุนไทยยักษ์ใหญ่เครือไทยเบฟ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าซื้อหุ้น และขยับสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ไว้ที่ 83.65%
ล่าสุด เอฟแอนด์เอ็น ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงรายชื่อผู้ที่จะเข้ามานั่งเป็นกรรมการบริษัทใหม่ 3 คน เป็นคนไทย 2 คน และสิงคโปร์ 1 คน ประกอบด้วย นายปณต สิริวัฒนภักดี นายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ และนายโก โป๊ะ เตียง
นายปณต สิริวัฒนภักดี เป็นบุตรชายคนเล็กของ นายเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นผู้บริหารหลายบริษัทในกลุ่มทีซีซีในไทย ในครั้งนี้ นายปณต ได้รับการเสนอชื่อจากบริษัท ทีซีซี แอสเซตส์ ซึ่งถือหุ้นในเอฟแอนด์เอ็น 61.7% โดยได้รับการเสนอเข้าเป็นกรรมการบริหารในเอฟแอนด์เอ็นด้วย
นายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ เป็นอดีตผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในบริษัทจดทะเบียนในไทย เคยเป็นกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และเคยเป็นโฆษก คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) น่าจะใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญขยายธุรกิจในภูมิภาคได้ โดยนายวีระวงศ์ ได้รับการเสนอชื่อเป็น กรรมการด้านบริหารความเสี่ยงให้แก่เอฟแอนด์เอ็น
นายโก โป๊ะ เตียง ชาวสิงคโปร์ นอกจากได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการแล้ว ยังได้รับการแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษาของบอร์ดบริหารเอฟแอนด์เอ็นด้วย มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.นี้ และมีการประกาศอย่างเป็นทางการ โดยนายเตียง มีหน้าที่ให้คำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจในกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มของเอฟแอนด์เอ็น จากประสบการณ์ นายเตียง เคยดำรงตำแหน่ง “ซีอีโอ” ดูแลแผนกอาหารและเครื่องดื่มของเอฟแอนด์เอ็น ตั้งแต่ 1 ต.ค.2551 ถึง 31 ก.ย.2554 ตำแหน่งล่าสุด เป็นประธาน และที่ปรึกษา บริษัท Ezra Holdings ดังนั้น การกลับมานั่งตำแหน่งที่ปรึกษาบอร์ดเอฟแอนด์เอ็นครั้งนี้ จึงถือเป็นการกลับมาสู่ธุรกิจเดิมที่เขาเคยดูแลมาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม การส่งกรรมการใหม่ทั้ง 3 คน เข้าร่วมทีมบริหารเอฟแอนด์เอ็น ครั้งนี้ คาดว่าเป็นการเสนอและแต่ตั้งเพื่อมาทดแทนกรรมการเดิมของเอฟแอนด์เอ็น ที่ลาออกไปเมื่อช่วงเดือน ก.พ.2556 ในขณะที่กลุ่มเจริญเข้าถือหุ้นใหญ่ในเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งครั้งนั้นกรรมการที่ลาออกไป ประกอบด้วย นายลี เซียน หยาง ประธานกรรมการ เอฟแอนด์เอ็น ผู้เป็นน้องชายนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียน หลุง และกรรมการบริหาร 3 คน ประกอบด้วย นายทิโมธี เชีย, นายตัน ชง เหม็ง และ นางมาเรีย เมอร์เซเดส คอร์ราเลส
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ของเอฟแอนด์เอ็น ระบุว่า นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานบอร์ดบริหารเอฟแอนด์เอ็น กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้นายโก โป๊ะ เตียง เข้ามานั่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาบอร์ดเอฟแอนด์เอ็น และเชื่อว่าด้วยประสบการณ์ของนายโก โป๊ะ เตียง จะสามารถนำพาธุรกิจเอฟแอนด์เอ็น ให้ขยายสู่การเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ ตามเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
เผย 7 คนไทยคุมบริหารเอฟแอนด์เอ็น
แหล่งข่าวจากไทยเบฟ กล่าวว่า การแต่งตั้งกรรมการเพิ่ม 2 คน ได้แก่ นายปณต สิริวัฒนภักดี และนายโชติพัฒน์ พีชานนท์ เพื่อให้ครบจำนวนคณะกรรมการบริษัทซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการแต่งตั้งไปบ้างแล้ว ขณะนี้ในส่วนของไทยมีประมาณ 7 คน สิงคโปร์ 3 คน กรรมการในส่วนของสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่อดีตรัฐมนตรี อดีตทูต
สำหรับ นายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ ถือเป็น “นักกฎหมาย” ที่ตระกูลสิริวัฒนภักดีไว้วางใจและทำงานร่วมกันมานาน ขณะเดียวกัน ยังมีสำนักงานกฎหมายที่บริษัทในเมืองไทยจำนวนมากมีการว่าจ้าง ดังนั้น การที่นายเจริญดึงเข้าร่วมกรรมการในเอฟแอนด์เอ็น ถือว่าได้คนที่มีฝีมือดีเข้าร่วม ปกติบอร์ดชุดเก่าของเอฟแอนด์เอ็นก็มีมือกฎหมายของสิงคโปร์ร่วมเป็นกรรมการ
ไทยเบฟวางยุทธศาสตร์ซินเนอร์ยีธุรกิจร่วมเอฟแอนด์เอ็น
อย่างไรก็ตาม ในการทำธุรกิจในส่วนของเอฟแอนด์เอ็น มี 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ และสิ่งพิมพ์ ซึ่งธุรกิจของเอฟแอนด์เอ็นเป็นธุรกิจเดียวกับไทยเบฟ ขณะเดียวกัน มีแผนซินเนอร์ยีไทยเบฟเข้ากับเอฟแอนด์เอ็นซึ่งทำได้ง่ายเพราะไทยเบฟมีแลนด์แบงก์จำนวนมากในประเทศไทย
การซินเนอร์ยีกันถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะธุรกิจของเอฟแอนด์เอ็น มีถึง 40 ประเทศ ต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่
“การซินเนอร์ยีธุรกิจเข้าด้วยกันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไทยเบฟจะดำเนินการ การจัดการหลังจากนี้เป็นขั้นตอนของการปฏิบัติที่แต่ละกลุ่มบริษัทต้องไปดำเนินการ ซึ่งการทำธุรกิจในสิงคโปร์ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะสิงคโปร์มีความเข้มงวดมากในการทำธุรกิจ บริษัทที่อยู่ในตลาดมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ก็เชื่อว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เพราะดูจากบอร์ดมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน อย่างกรรมการในส่วนของสิงคโปร์มีความชำนาญ เป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอดีตทูต ซึ่งขณะนี้บอร์ดเอฟแอนด์เอ็นถือว่าสมบูรณ์แล้ว”
จ่อรื้อโครงสร้างใหญ่ตั้งซีอีโอกรุ๊ป
ก่อนหน้านี้ เอฟแอนด์เอ็น แถลงการณ์ว่า นายเจริญ สิริวัฒนภักดี จะขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัท แทนที่ นายลี เซียน หยาง ประธานกรรมการบริหารคนเก่า ที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการบริหาร หลังจากนายเจริญ เข้าถือหุ้นข้างมากในเอฟแอนด์เอ็นตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา จากข้อเสนอซื้อหุ้นบริษัทในราคาหุ้นละ 9.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ และเอาชนะคู่แข่งอย่างโอเวอร์ซี ยูเนียน เอนเตอร์ไพรส์ (โอยูอี) ไปได้
ทำให้นายเจริญเข้าถือครองกิจการบริษัทสิงคโปร์รายนี้ในวงเงิน 13,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 11,200 ล้านดอลลาร์ โดยธุรกิจของเอฟ แอนด์ เอ็น ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไล่ตั้งแต่เครื่องดื่ม ไปจนถึงเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์
ดึง “ไพรินทร์” นั่งกรรมการอิสระ
แหล่งข่าวจากกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ (ไทยเบฟ) กล่าวว่า นอกจาก นายเจริญ และคุณหญิงวรรณาแล้ว ยังได้มีการตั้งนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธุรกิจรายใหญ่สุดของไทย มาเป็นกรรมการอิสระของบริษัทด้วย
“การเลือกนายไพรินทร์ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการอิสระในเอฟแอนด์เอ็น ถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เพราะก่อนที่จะเป็นนายไพรินทร์ ได้มีการมองหาคนไทยที่เคยเป็นนักผู้บริหารในต่างประเทศอยู่หลายคน เพื่อจะให้ได้บุคคลตามที่ทางนายเจริญ ต้องการจริงๆ งานนี้มีผู้ใหญ่หลายท่านช่วยกันมองหาบุคคลที่มีความสามารถ จนกระทั่งมีผู้ใหญ่บางคนได้เสนอขอให้เชิญ นายไพรินทร์ เข้ามาเป็นกรรมการอิสระ เพราะถือเป็นผู้ที่มีความสามารถ ผ่านการบริหารงานในต่างประเทศอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่ง ปตท.เองก็มีการลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 14 ประเทศ ซึ่งตรงนี้คนไทยมีน้อย”
การเชิญนายไพรินทร์เข้ามาเป็นกรรมการอิสระ เพื่อต้องการให้คำแนะนำ เพราะเอฟ แอนด์ เอ็น ถือเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก แต่การเปลี่ยนคณะกรรมการครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีคนไทยสามารถเข้าไปร่วมบริหารงานในสิงคโปร์ได้
ดังนั้น หลังจากนี้น่าจะมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานครั้งใหญ่ ในเอฟแอนด์เอ็น ปัจจุบันมีประธานบริษัท ประกอบด้วย ซีอีโอของแต่ละธุรกิจ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ แต่ต่อไปอาจจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อให้มี “ซีอีโอกรุ๊ป” ขึ้นมา เพราะธุรกิจของเอฟแอนด์เอ็น ถือว่าใหญ่มาก ดำเนินการมาแล้วกว่า 130 ปี ฉะนั้น การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เป็นเรื่องสำคัญ
“ระยะยาวคงเป็นเรื่องซินเนอร์ยีแอสเซทเกิดขึ้น เพราะในส่วนของนายเจริญเองก็มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อธุรกิจ ธุรกิจของไทยเบฟมีอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับเอฟ แอนด์ เอ็น อยู่แล้ว”
บอร์ดบริหารของเอฟแอนด์เอ็น แถลงก่อนหน้านี้ว่า มีแผนลาออกทั้ง 9 คน หลังข้อเสนอซื้อกิจการจากกลุ่มนายเจริญ สิ้นสุด ขณะที่ นายลี เซียน หยาง น้องชายของนายกรัฐมนตรี ลี เซียน หลุง และประธานเอฟแอนด์เอ็น กล่าวในการประชุมผู้ถือหุ้นชัดเจนว่าในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดขณะนั้น และอาจเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อย จึงเป็นเรื่องเหมาะสมสำหรับกลุ่มของนายเจริญ ที่ต้องการได้ความยืดหยุ่นเต็มที่ และอยากเริ่มต้นใหม่ เพื่อผลักดันสิ่งต่างๆ ไปข้างหน้า
ดันเอฟแอนด์เอ็น “โฮลดิ้งคอมปะนี”
แหล่งข่าววงในเผยด้วยว่า นายเจริญมีแผนที่จะทำให้ เอฟ แอนด์ เอ็น เป็นบริษัทโฮลดิ้ง หลังจากเสร็จสิ้นการเข้าถือครองกิจการ ซึ่งนายเจริญ และคุณหญิงวรรณา มีหุ้นรวมกันในเอฟแอนด์เอ็นราว 90.32% เป็นการถือครองผ่านทางบริษัทไทย เบฟเวอเรจ และทีซีซี แอสเซตส์ ธุรกิจในเครือ
นายเจริญ แถลงไว้ในเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ว่า “มีความยินดีที่ได้เข้าร่วมงานกับเอฟแอนด์เอ็น ในฐานะประธานกรรมการบริหาร โดยเอฟแอนด์เอ็นได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มธุรกิจเพื่อการอุปโภคบริโภคชั้นนำของเอเชียแปซิฟิก จากการมีฐานที่มั่นอันแข็งแกร่งในธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ และสื่อสิ่งพิมพ์”
โดยเขาตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการบริหาร และคณะผู้บริหารของบริษัท เพื่อสร้างความสำเร็จให้มากขึ้น ตามแนวทางที่ นาย ลี เซียน หยาง และอดีตกรรมการบริหารคนอื่นๆ ไว้ และจะมองหาโอกาสการทำธุรกิจอื่นๆ ในภูมิภาคให้แก่บริษัทด้วย
ปัจจุบัน นายเจริญ เป็นประธานกรรมการบริหารในบริษัทต่างๆ จำนวนหนึ่ง รวมถึง ไทยเบฟ เบียร์ไทย (1991) กระทิงแดง ทีซีซี แลนด์ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เซาท์อีสต์ กรุ๊ป โค และทีซีซี โฮลดิ้ง โค
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น