วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

CPN หัวหอกของกลุ่มเซนทรัล รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 03 กันยายน 2556

CPN หัวหอกของกลุ่มเซนทรัล

รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 03 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 7 คน 

ถึงแม้ว่า ในภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ จะมีความผันผวน และมีความหวั่นวิตกว่า อาจจะมีการชะลอตัวลง แต่ในมุมมองของผู้บริหารของกลุ่มเซนทรัล ภายใต้การบริหารของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ ยังคงเดินหน้าอย่างมั่นใจ
นายนริศ เชยกลิ่น ผู้บริหารคนสำคัญของบริษัท เซนทรัลพัฒนา จำกัด เปิดเผยว่า CPN ยังมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโต 15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2.02 หมื่นล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานจะมากกว่าปี 2555 เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในศูนย์การค้าในเครือยังไม่มีแนวโน้มลดลง และในปีนี้บริษัทมีการปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าเพิ่มขึ้น 7% ซึ่งก็ยังไม่มีทิศทางว่าจะมีปัญหาทางธุรกิจ
ความมั่นใจดังกล่าว เกิดจากการศึกษาไลฟ์สไตล์ของผู้บริหารกลุ่มเซนทรัล ที่สามารถตรวจสอบภาวะเศรษฐกิจจำนวนคนและรถที่เข้ามาในศูนย์การค้าก็ยังปกติอยู่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และในจังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ  ยกเว้นในจังหวัดขนาดเล็ก ซึ่งส่งผลให้แผนงานการขยายโครงการของบริษัทก็ยังเป็นไปตามปกติ ไม่ได้มีการชะลอแต่อย่างใด
การเดินหน้ารุกธุรกิจของกลุ่มเซนทรัลนั้น ถือได้ว่า มีลักษณะรุกอย่างบูรณาการ โดยมีกลุ่มบริษัทหัวหอก 2 บริษัทหลัก คือ เซนทรัลพัฒนา ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเซนทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ดูแลธุรกิจค้าปลีกโดยรวม โดยมีธุรกิจอื่นเช่นโรงแรม การผลิต และสื่อพ่วงเข้ามาประกอบให้ครบวงจรแนวระนาบ
............
กลยุทธ์รุกธุรกิจของกลุ่มจิราธิวัฒน์
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
เซนทรัลพัฒนา (CPN)
พัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์รองรับการขยายตัวของค้าปลีก
ธุรกิจค้าปลีก
เซนทรัล รีเทล (CRC)
ค้าปลีกหลากปืนในนาม ห้างเซนทรัล ห้างโรบินสัน ออฟฟิศเมท ไทยวัสดุ  และ พาวเวอร์บาย
ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
มาลีสามพราน และอื่นๆ
ธุรกิจการผลิต และการค้าเกี่ยวเนื่องกับศูนย์การค้า

CPN ในฐานะหัวหอกเพื่อรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การรุกดำเนินไปได้ราบรื่น ไม่ติดขัดกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ด้วยการเริ่มต้นออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ นับตั้งแต่กองทุนแรก คือ CPNRF ซึ่งเป็นกองทุนแบบฟรีโฮลด์ ในปี 2548 และกองทุน CPNCG ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เป็นแขนขาของ CPN ที่โดดเด่นมาโดยตลอด
CPNRF ได้รับจดทะเบียนเข้าเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548 โดยเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แรกที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบันมีการขยายวงเงินกองทุนหลายครั้ง ถือเป็นหนึ่งในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ยอดนิยมที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์กองทุนหนึ่ง เพราะมีผลประกอบการที่โดดเด่นโดยตลอด เนื่องจากมีสินทรัพย์เข้ามาเพิ่มในการสร้างรายได้จากค่าเช่าต่อเนื่อง
CPNCG เป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน ไม่กำหนดอายุโครงการ และมีลักษณะโครงการแบบระบุเฉพาะเจาะจง ถือเป็นกองทุนเสริมเพื่อแก้ปัญหาการขยายตัวของสาขาของเซนทรัลพลาซ่า ที่บริหารโดย CPN เอง เนื่องจากพื้นที่ตั้งหลายแห่ง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของ CPN เอง แต่เป็นที่เช่าที่มีสัญญาผูกมัด จึงต้องตั้งกองทุนประเภท leasehold ขึ้นมาดำเนินการแยกออกไปต่างหาก กองทุน CPNCG ได้เสนอขายหน่วยลงทุนจำนวน 426.64 ล้านหน่วยต่อประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน 2555 ในราคาหน่วยละ 10.30 บาท รวมมูลค่าเสนอขาย 4,394.38 ล้านบาท และถือว่าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน แม้จะไม่เท่ากองทุนแรก
.................
กองทุนของ CPN
ชื่อกองทุน
วันแรกซื้อขาย
ประเภท
นโยบายการลงทุน
CPN รีเทล โกรธ (CPNRF)
23 สิงหาคม 2548

ลงทุนในทรัพย์สินเช่า (Freehold)

ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพระราม 2, เซ็นทรัลพลาซา รัชดา พระราม
3, เซ็นทรัลพลาซาปิ่นเกล้า
และอาคารสำนักงานเซ็นทรัล ทาวเวอร์ เอ และทาวเวอร์บี ปิ่นเกล้า

CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG)

21 กันยายน 2555
ลงทุนและบริหารสิทธิในการเช่า (Leasehold)
ไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน ไม่กำหนดอายุโครงการ และมีลักษณะโครงการแบบระบุเฉพาะเจาะจง

ผลพวงของการใช้ประโยชน์จากกองทุนอสังหารมิทรัพย์ ทำให้ CPN สามารถรองรับการขยายตัวที่ค่อนข้างรวดเร็ว เพื่อรับมือการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกที่นับวันจะเข้มข้นในปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนเพื่อรุกในตลาดอาเซียนในอนาคต
การเติบโตที่โดดเด่นของ CPN ทั้งรายได้และกำไร จะเห็นได้จากผลประกอบการในช่วงหลายปีมานี้ได้ชัดเจน
(ตารางผลประกอบการย้อนหลัง)



ในปีนี้ ผ่านไปครึ่งแรกของปี  CPN มีอัตราเติบโตของรายได้อยู่ที่ 20% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีก่อน ซึ่งทำให้มั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องตามที่ได้วางไว้
เป้าหมายของกล่มเซนทรัลในครึ่งหลังของปีนี้ จึงเน้นหนักที่จุดเดิมของยุทธศาสตร์ระยะยาว คือ เร่งเปิดสาขาของCPN และเครือข่ายค้าปลีกของกลุ่มเซนทรัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ก่อนที่เออีซีจะเปิด โดยเน้นการลงทุน ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พื้นที่ประมาณ 1 แสนตารางเมตรขึ้นไป ที่เรียกว่า เซนทรัล เฟสติวัล โดยเฉพาะในประเทศนั้น จะมุ่งที่จังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีศักยภาพเช่น จังหวัดเชียงราย รองรับลูกค้าจากจีนและเมียนมาร์ อุดรธานี รองรับลูกค้าจากลาว ขณะที่เซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี รองรับลูกค้าจากเวียดนาม และลาว รวมทั้งที่หาดใหญ่ รองรับลูกค้าจากมาเลเซีย
จากแผนการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของกลุ่มเซนทรัลได้ชัดเจนว่ามองข้าวปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไขว่คว้าโอกาสในอนาคต ซึ่งทำให้บทบาทของ CPN และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของ CPN มีบทบาทสำคัญในการเปิดเกมรุกธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มที่
บทบาทของ CPN ในการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ มีส่วนช่วยให้กลุ่มเซนทรัลในปีนี้ มีศูนย์การค้า 23 ศูนย์ มีพื้นที่ขาย 1,281,593 ตารางเมตร และในปี 2559 จะมี 35 ศูนย์ มีพื้นที่ขาย 1,735,793 ตารางเมตร แต่ยังไม่หยุดเพราะตามแผนการลงทุนในช่วง 2556-2559 CPN จะต้องมีบทบาทในการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 12,000-14,000 ล้านบาทต่อปี
ตัวอย่างโครงการในเครือกลุ่มเซนทรัลที่ CPN จะต้องรับหน้าที่เป็นหัวหอกสำคัญ ไม่ใช่ในปีนี้เท่านั้น หากยังต่อยอดไปอีก 4 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำ เช่นในปี 2557 ยังมีโครงการรุกของกลุ่มเซนทรัล 3 โครงการ คือ โครงการเซ็นทรัล เฟสติวัล สมุย มูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 22,600 ตารางเมตร มีกำหนดจะเปิดให้บริการเดือน มีนาคม  โครงการเซ็นทรัลพลาซา ศาลายา มูลค่าโครงการ 2,500 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 33,900 ตารางเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนกรกฎาคม และโครงการเซ็นทรัลพลาซา ระยอง มูลค่าโครงการ 2,200 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 30,200 ตารางเมตร ส่งผลให้มีศูนย์การค้า 26 ศูนย์ มีพื้นที่ขาย 1,379,793 ตารางเมตร
สำหรับปี 2558 มีโครงการเซ็นทรัล เวสเกต มูลค่าโครงการ 6,400 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 2/58 ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ขายประมาณ 37% ในช่วงปี 2556-2559 มีพื้นที่ขาย 1,539,793 ตารางเมตร
ภายใต้การรุกเพื่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่นี้ บทบาทของการบริหารพื้นที่ สิทธิเช่า และกรรมสิทธิ์ย่อมตกอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ CPN อย่างมีนับสำคัญ ซึ่งยังไม่รวมถึงโครงการอื่นที่ CPN จะต้องเข้าไปมีบทบาทสำคัญนั่นคือการรุกไปในตลาดต่างประเทศ อันเป็นพรมแดนที่ไม่คุ้นเคย เนื่องจากกลุ่มเซนทรัลมีแผนลงทุนที่มาเลเซีย มูลค่าโครงการ 5,800 ล้านบาท ซึ่งบริษัทถือหุ้นประมาณ 60% เพื่อร่วมพัฒนาศูนย์การค้า คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2559 และขยายการลงทุนไปในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาหลายราย  รวมถึงแผนอื่นเช่น การเจรจาเพื่อควบรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ประมาณ 1-2 โครงการ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศในแถบอาเซียน (AEC) ในปี 2558
แผนการทั่งหมดนี้ ยังไม่ได้รวมถึงแผนการลงทุนวิสามัญอื่นเช่น การประมูลที่ดินสวนลุมไนท์ พลาซ่า จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด จำนวน 88 ไร่ และ ที่ดินบนพื้นที่รังสิตของอดีตโรงงานสิ่งทอกลุ่มไทยเมลอน 616 ไร่ ซึ่งจะต้องให้ CPN เข้ามามีบทบาทในการก่อสร้างตามสูตรธุรกิจ
ตามแผนการทั้งหมดนี้ CPN มีความจำเป็นต้องใช้กองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ เช่นขณะนี้มีแผนที่จะเพิ่มขนาดกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNRF) อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2556 ซึ่งจะยิ่งทำให้ CPN มีการเติบโตทั้งด้านสินทรัพย์ และรายได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น