|
หมดหวัง Window Dressing ดันดัชนี
เซียนหุ้นชี้ แรงซื้อปิดงบการเงินไตรมาส3/56 (Window Dressing) ไม่ช่วยดันดัชนีฯ เหตุเป็นการไล่ซื้อเป็นรายตัว อาทิ BJC-DELTA-SIM แถมหุ้นไทยอยู่ในช่วงทุนไหลออก กดดันดัชนีไม่ให้โงหัว ฟาก บลจ.วรรณ คาด SET ทดสอบ 1550 จุด ในช่วงไตรมาส 4/56 แต่ช่วงสั้นตลาดยังผันผวนสูง มองเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1,420-1,500 จุด ส่วน "นิด้า" คาดสิ้นปีหุ้นมีโอกาสทะลุ 1,500 จุด ขณะที่บล.เคจีไอ ให้เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีหน้าที่1,639 จุด
* เซียนหุ้น ชี้ Window Dressing ไม่ช่วยดันดัชนีฯ นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัย บล.ทิสโก้ กล่าวถึง แรงซื้อทำราคาปิดงบการเงินไตรมาส3/56ของนักลงทุนสถาบัน ( Window Dressing) ว่า น่าจะมีแรงซื้อเข้ามาไม่มาก ซึ่งจะเน้นเข้าในหุ้นเป็นรายตัว อาทิ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC , บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA และ บริหาร บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หรือ SIM เนื่องจาก ขณะนี้เป็นแนวโน้มของการไหลออกของเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งไม่สามารถส่งผลทำให้ดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่ในหุ้นรายตัวราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนเมื่อราคาหุ้นดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นให้นักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขาย เนื่องจากหุ้นดังกล่าวมีความผันผวนตามแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันต่างชาติ อย่างไรก็ตาม แรงซื้อดังกล่าวอาจจะไม่เกิดขึ้นมากนัก เนื่องจากขณะนี้เป็นภาวะแนวโน้มของเงินทุนที่ไหลกลับ นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.ฟิลลิป กล่าวว่า ภาพรวมการซื้อขายตลาดหุ้นไทยวานนี้(26 ก.ย.56) ดัชนีหุ้นไทยปิดลบ แรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคาร และสื่อสารทำให้ดัชนีปิดตลาดฯ ปรับตัวลงมาต่ำกว่า 1,430 จุด ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยเกี่ยวกับงบประมาณของสหรัฐ รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ รวมถึงแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ยังเป็นปัจจัยลบต่อการลงทุน "ตลาดหุ้นมีความผันผวน ดัชนีขึ้นๆ ลงๆ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนใน ปัจจัยต่างๆ ที่แวดล้อม ขณะที่การทำ window dressing เป็นสิ่งที่ช่วยประคองตลาดฯ ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้ คาดจะแกว่งตัว อยู่ในกรอบแคบๆ โดยมีแนวรับที่ 1,420 ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 ด้านนายธีรวุฒิ กานต์นิภากุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย)กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้มองว่าเป็นลักษณะของการแกว่งในกรอบแคบเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งปัจจัยต่างประเทศในเรื่องปัญหาด้านการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งจะรู้ผลในวันจันทร์หน้า และเพดานหนี้ของสหรัฐฯที่จะรู้ผลกลางเดือน ต.ค.รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ ที่อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 57 รวมถึง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท
* บลจ.วรรณ คาดดัชนีฯทดสอบ 1550 จุดใน Q4/56 นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีความผันผวนสูง เนื่องจากตลาดและนักลงทุนยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นของความไม่ชัดเจนในประเด็นการชะลอมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) รวมถึงการขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ แม้ว่าสภาสูงของสหรัฐฯจะโหวดร่างงบประมาณปี 2557 ไปหลังวันที่ 25 กันยายน 2556 และประเด็นการปรับเพดานหนี้สาธารณะก็น่าจะหาจุดลงตัวได้ โดยการยกเลิกเพดานหนี้เป็นการชั่วคราวจนถึงปีหน้า แต่ปัจจัยดังกล่าวก็ยังกดดันตลาดในระยะนี้ ทำให้เกิดความผันผวนต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและพันธบัตรรัฐบาลไทย “ ขณะเดียวกัน สำหรับปัจจัยภายในประเทศ จะเห็นว่าประเด็นด้านการเมืองยังกดดันสภาวะการลงทุนในช่วงนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศที่จะมีการเบิกจ่ายและนำไปลงทุนได้จริง แม้ว่าจะผ่านวาระ 3 ไปเรียบร้อยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 30 กันยายน 2556 นี้ก็ตาม” นายวินระบุเพิ่มเติม ด้วยปัจจัยทั้งในและนอกประเทศที่ยังไม่ชัดเจนข้างต้น ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในตลาดหุ้น โดยจะเห็นได้จาก SET Index ในเดือนสิงหาคมปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1462.22 จุด (14 สิงหาคม 2556) และต่ำสุดที่ระดับ 1260.08 จุด (28 สิงหาคม 2556) และกลับมายืนอยู่ที่ระดับ 1,494.27 จุด เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 ก่อนที่จะปรับตัวลดลง จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นลงแรงในระหว่างวันก่อนปิดตลาดจากแรงเก็งกำไรในหุ้นขนาดใหญ่-กลาง อย่างไรก็ดี บลจ.วรรณ ประเมินว่า SET Index มีโอกาสปรับขึ้นไปทดสอบระดับ 1550 จุดในไตรมาส4/56 แต่ในช่วงสั้นน่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 1,420-1,500 จุดและมีความผันผวนสูงมาก และอาจทำให้นักลงทุนบุคคลมีความเสี่ยงสูงจากการลงทุน จึงแนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนในกองทุนเปิด ONE-PREMIER เนื่องจากกองทุนนี้มีการมุ่งสร้างผลตอบแทนพอร์ตการลงทุนมากกว่าการปรับขึ้นลงตามสภาวะตลาดหุ้น โดยกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Allocation) ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Multi Asset Classed) ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ ทองคำและน้ำมัน เป็นต้น และปรับสัดส่วนในแต่ละช่วงเวลาให้สอดคล้องไปกับแต่ละสถานการณ์การลงทุน โดยตั้งแต่จัดตั้งกองทุนสามารถจ่ายคืนผลตอบแทนให้กับนักลงทุนไตรมาสละ 2% นายวินกล่าวเพิ่มเติมว่า บลจ.วรรณสามารถบริหารจัดการกองทุน FLEXACTIVE4 ที่ใช้กลยุทธ์ Active Allocation เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงตลาดหุ้นผันผวน ซึ่งกองทุนเปิด วรรณ เฟล็กซิเบิ้ล แอ็คทีฟ ฟันด์ 4 (ONE-FLEXACTIVE4) สามารถให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุน 5.3% ของเงินลงทุนเริ่มแรก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 10.53 บาท โดยจะสับเปลี่ยนเข้ากองทุนเปิด 1AM-DAILY ในวันที่ 30 กันยายน 2556 นี้
* "นิด้า"คาดโค้งสุดท้าย ศก.ไทยโต 4.9% ดันดัชนีทะลุ 1,500 จุด รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า นิด้าได้เปิดตัวโครงการ NIDA’s Thailand Roadmap Series เป็นโครงการที่นิด้าต้องการทำอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเสนอข้อมูลทางด้านวิชาการ หรือมุมมองการวิเคราะห์จากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของนิด้า โดยจะนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีการกลั่นกรอง วิเคราะห์ วิจัย บนพื้นฐานทางวิชาการ อันแสดงให้เห็นถึงบทบาทด้านวิชาการของนิด้า ที่สามารถเป็นเสาหลักในศาสตร์ด้านบริหาร และสามารถเป็นที่พึ่งของสังคมในด้านขององค์ความรู้ด้านต่างๆ ได้ สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกภายใต้โครงการดังกล่าว โดยนักวิชาการนิด้า ได้นำเสนอบทวิเคราะห์เชิงวิชาการที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดทุนไทย ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ซึ่งหวังว่าข้อมูลเชิงวิชาการที่ถูกนำเสนอจากนักวิชาการของนิด้าในครั้งนี้ จะจุดประกายให้สังคมได้รับทราบถึงปัญหา ความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา เพื่อนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณดา จันทร์สม คณบดี คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวว่า จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคโดย NIDA Macro Forecast คาดว่าในไตรมาส 4 ปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 4.9% สูงกว่าช่วงไตรมาส 3 ที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวเพียง 1.8% ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 มีปัจจัยจากการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยที่มีสัญญาณดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขรายได้การส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ของปี 2556 จะขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น เนื่องจาก ภาคการส่งออกที่ไม่ดีนักในช่วง 2 ไตรมาสแรกต่อเนื่องมากถึงไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี 2556 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตแบบชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นิด้าได้ประมาณการตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 4.3% แต่เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัว จึงได้ปรับลดประมาณการลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2556 จะเติบโตได้ 3.7% ในด้านของอัตราเงินเฟ้อช่วงเดือน กันยายน – ธันวาคม 2556 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดือน มิถุนายน – สิงหาคม 2556 โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง โดยคาดว่าเฉลี่ยทั้งปี อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 2.5% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 2.5% โดยมีโอกาสเพียงเล็กน้อยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลง หากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ไม่กระเตื้องขึ้นอย่างที่คาดการณ์ ด้านมุมมองตลาดทุนไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นิด้า กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในขณะนี้ มีทั้งปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ ความชัดเจนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนได้เมื่อใด รวมถึงประเด็นการเมืองที่นักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์การพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2-3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และการตัดสินประเด็นเขาพระวิหารต่อศาลโลก ส่วนปัจจัยจากต่างประเทศนั้น ยังต้องจับตาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถึงความชัดเจนในการดำเนินนโยบาย QE รวมถึงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยในตลาดหุ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของตลาดหุ้นไทยกับประเทศในกลุ่ม TIP (ไทย/อินโดนีเซีย/ฟิลิปปินส์) พบว่า ราคาหุ้นของไทยมีราคาไม่แพง และยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจาก P/E ของไทยอยู่ที่ 16.31 เท่า ต่ำกว่าอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่อยู่ในระดับ 18.92 และ 18.88 ตามลำดับ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานที่อยู่ในระดับ 18.01 โดยจากการทำแบบจำลอง Simulation เพื่อแสดงค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2556 จะอยู่ที่ระดับ 1,513 จุด จึงมีโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม จากการทำโครงการร่วมกับ บลจ.ฟินันซ่า ถึงรูปแบบการลงทุนในไตรมาส 4 พบว่า นักลงทุนควรกระจายพอร์ตการลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยง โดยแบ่งสัดส่วนลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 27.74% พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 30.66% หุ้นกู้ 27.67% ทอง 5.88% และคอมมอดิตี้ 8.64%
* เคจีไอ ให้เป้าหมาย SET ปี 57 ที่1,639 จุด บทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยซื้อขายใกล้กับมูลค่าพื้นฐานปี 2556 แต่ยังคงมีช่วงขึ้นสู่มูลค่าพื้นฐานปี 2557 ได้ โดยในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวขึ้นสะท้อนแรงเก็งกำไรรัฐสภาฯ ถก พรบ. ลงทุน 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งการที่ ธ.กลางสหรัฐฯ คงนโยบาย QE โดยการฟื้นตัวขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ SET ซื้อขายที่ค่า PEประมาณ 13 เท่า และมีทางขึ้นอีกเพียง 7% สู่มูลค่าพื้นฐานปี 2556 ที่ 1,546 จุดซึ่งถือว่าไม่มากนัก เราจึงมองว่า SET น่าจะเข้าสู่ช่วงแกว่งตัวในกรอบ(Sideways) อย่างไรก็ดีหากมองไปในปี 2557 เราคาดว่ากำไรสุทธิของ บจ. (ไม่รวมรายการพิเศษ) ยังเติบโตได้ 13.5% และเรามองเป้าหมาย SET ปี 2557 ที่1,639 จุด คำนวณจากเป้าหมาย PE ที่ 13.0 เท่า พรบ. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน่าจะผ่านทั้ง 2 สภาได้ แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกยื่นร้องเรียนสู่กระบวนการศาลในวันที่ 20 ก.ย. ที่ประชุม สส. ได้ผ่านวาระ 3 ของ พรบ. ลงทุน 2 ล้านล้านบาทแล้ว และ พรบ. ดังกล่าวน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในเดือน ต.ค.อย่างไรก็ดี เรามองว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญว่าด้วย พรบ. นี้ ได้แก่การที่พรรคประชาธิปัตย์ และ สว. สรรหา มีแนวโน้มยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า พรบ.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินแผ่นดิน ดังนั้น เพื่อความระมัดระวัง ฝ่ายวิจัยไม่ได้รวมผลประโยชน์จาก พรบ. ดังกล่าว เข้าไปในการประมาณการ GDP และผลประกอบการ บจ. เศรษฐกิจไทยน่าจะลงสู่จุดต่ำสุดในไตรมาส 3/56 แต่ภาพการฟื้นตัวจะช้าและเปราะบาง เราประเมินว่า GDP ไตรมาส 3/56 จะชะลอต่อเนื่องจากไตรมาส 2/56 โดยคาดว่า GDP จะเติบโตเพียง 2.4% YoY เทียบกับระดับ 2.8% ในไตรมาส 2/56 และจะยังคงลดลงในรูป QoQ เป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน สำหรับในไตรมาสที่4/56 เราคาดว่า GDP จะฟื้นตัวขึ้นได้ในเชิง QoQ จากแรงสนับสนุนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งการลงทุนภาครัฐฯ ที่น่าจะเร่งขึ้น สำหรับแนวโน้มในปี 2557 นั้น เราคาดว่า GDP ของไทยจะฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 4.0-4.5% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงของความท้าทาย ว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันให้ พรบ. การลงทุนหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้าน รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ได้หรือไม่ เน้นหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว/โรงแรม และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะนี้ เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งยังคงมีความเปราะบางและไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน และเน้นซื้อหุ้นในประเด็นการลงทุนต่อไปนี้ 1. หุ้นท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งธุรกิจเข้าสู่ high season ในเร็วๆ นี้ รวมทั้งหุ้นสนามบิน ซึ่งได้ประโยชน์โดยตรงจาก high season ของการท่องเที่ยว ในกลุ่มนี้เราชอบ AOT*และ CENTEL* 2. หุ้นที่เชื่อมโยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งในช่วง 2เดือนที่ผ่านมา มีเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวของจีน ซึ่งเพิ่มความหวังว่าGDP ของจีนได้ลงสู่จุดต่ำสุดแล้ว โดยหุ้นในกลุ่มนี้มีเช่น TTA*, BANPU*และ IVL*
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น