วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

CPFจดเข้าดาวโจนส์ ปีนี้ยอดขาย3.5แสนล. ทุ่มทุนซื้อกิจการ รง.แปรรูปอาหารอียู ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2556

CPFจดเข้าดาวโจนส์
ปีนี้ยอดขาย3.5แสนล.
ทุ่มทุนซื้อกิจการ รง.แปรรูปอาหารอียู

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 112 คน 


CPF มีแผนเข้าเทรดในตลาดดาวโจนส์อีก 2-4 ปีข้างหน้า คาดยอดขายปีนี้ 3.5 แสนล้านบาท ล่าสุด ทุ่มซื้อซื้อโรงงานแปรรูปอาหารสำหรับคนกลุ่มยูโรโซน ใช้เป็นช่องทางเจาะตลาดฯ นำเข้าวัตถุดิบจากไทย หมู ไก่เข้าอียู ระบุยังไม่พับแผนซื้อคาร์ฟูร์ แต่ต้องรอจังหวะดีๆ กระจายสินค้าทั่วยุโรป

นายสมบัติ ธีระตระกูลชัย รองกรรมการผู้จัดการด้านคุณภาพและมาตรฐานสากล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ดาวโจนส์ในสหรัฐอเมริกา ภายในอีก 2-4 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ซึ่งถือเป็นบริษัทคนไทยรายที่ 2 ต่อจากเครือปูนซิเมนต์ไทย ปัจจุบัน  CPF ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์ให้ติดอันดับที่ 914 จาก 2,000 บริษัทระดับโลกที่สามารถทำรายได้สูงสุดและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับยอดขายในปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.5 แสนล้านบาท เนื่องจากปีนี้ได้รับผลกระทบจากโรค EMS ที่ระบาดในกุ้ง และผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้มีแนวโน้มว่าภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มฟื้นตัว และมาตรการ QE ของสหรัฐไม่ว่าจะยกเลิกหรือปรับลดขนาด ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจของ CPF เนื่องจากมองว่า การบริโภคอาหารยังเป็นสิ่งที่จำเป็น
ส่วนเรื่องโรค EMS ที่ระบาดในกุ้ง ซึ่งเริ่มระบาดจากประเทศจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ลามไปถึงเวียดนาม มาเลเซีย จนกระทั่งมาสู่ไทยเมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้ถือว่าอยู่ในสถานการณ์เริ่มควบคุมได้แล้ว จากการเริ่มเลี้ยงเกิน 45 วันได้มากขึ้น และเริ่มมีกุ้งป้อนเข้าโรงงานผลิตได้มากขึ้นเรื่อยๆ
กรณีภาวะน้ำท่วมในขณะนี้ และม็อบเกษตรกรปิดถนนทางภาคใต้ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ CPF เนื่องจากโรงงานของ CPF ทั่วประเทศล้วนตั้งอยู่ในที่ดอน ขณะที่เส้นทางที่มีม็อบปิดถนนก็ไม่ใช่เส้นทางสู่โรงงานของ CPF ในภาคใต้
“น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 โรงงานของ CPF เสียหายน้อยมาก ส่วนโรงงานบางแห่งที่อยู่ริมน้ำและน้ำท่วมเข้ามา เราทำกำแพง 2 ชั้นหล่อเลี้ยงน้ำตรงกลางมีพลังดันกำแพงทั้ง 2 ด้าน กลายเป็นนวัตกรรมป้องกันน้ำท่วมที่โรงงานสามารถนำไปใช้ได้”
รวมถึงเรื่องไข้หวัดนก ยืนยันว่าเป็นแค่ข่าวลือทางโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่กระทบธุรกิจของ CPF เลย เพราะมาตรฐานการเลี้ยงไก่ของ CPF อยู่ในระดับสูงเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของผู้ซื้อทั่วโลก แต่บริษัทก็ไม่ได้ประมาท
ด้านแหล่งข่าวจากตลาดทุน เผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้เดินทางไปเจรจาซื้อโรงงานแปรรูปอาหารสำหรับคนในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งได้ทำข้อตกลงซื้อขายเรียบร้อยแล้ว โดยราคาอยู่ในระดับหลายพันล้านบาท
“ตอนนี้ดีลจบแล้ว โรงงานนี้จะเป็นที่รับวัตถุดิบ เช่น ไก่ หมู ที่จะส่งไปจากเมืองไทย เพื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปสำหรับขายในกลุ่มยูโรโซน” แหล่งข่าว กล่าว
สำหรับการซื้อโรงงานครั้งนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของกลุ่มซีพีในการรุกตลาดในแถบนี้ ซึ่งมีข้อกำหนดในการนำเข้าค่อนข้างเข้มงวด แต่เมื่อมีช่องทางที่จะนำสินค้าหรือวัตถุดิบจากไทยส่งไป ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และง่ายต่อการจำหน่าย ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มซีพีค่อนข้างมาก
ก่อนหน้านี้นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพีกรุ๊ป กล่าวว่า ซีพีมีนโยบายจะไปลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของคาร์ฟูร์ในยุโรป แต่ไม่ใช่ซื้อหุ้นทั้งหมดหรือเทกโอเวอร์กิจการ
“ซีพีจะไปลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งในคาร์ฟูร์เพื่อจะนำสินค้าในเอเชียไปผ่านเครือข่ายในการขายสินค้าของคาร์ฟูร์  หรือคาร์ฟูร์มาลงทุนในเอเชียผมมีโอกาสสนับสนุน นโยบายของซีพีเป็นอย่างนี้ครับ อย่าเรียกว่าไปซื้อ เรียกว่าไปร่วมลงทุนเลยดีกว่า ร่วมงานกับคนเก่ง แล้วก็ไปกับเขาและก็เสริมซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์ทั้งคู่ แต่อย่าเข้าใจผิดว่าไปซื้อคาร์ฟูร์ แค่ไปร่วมลงทุนลงหุ้นกับเขา” นายธนินท์ กล่าว
อย่างไรก็ตามการเข้าซื้อโรงงานแปรรูปอาหารในเขตยูโรโซนก็ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มซีพี หากสามารถเจรจากับคาร์ฟูร์สำเร็จก็ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าของกลุ่มได้มากยิ่งขึ้น นอกจากประเทศในยุโรปแล้ว ยังสามารถนำไปวางจำหน่ายในแถบละตินอเมริกาที่มีสาขาของคาร์ฟูร์อยู่
นอกจากนี้ ธุรกิจของซีพีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายไปทั่วโลก ลงทุนไปทั่วโลก อย่างเช่นวันนี้ซีพีกำลังจะไปสร้างโรงงานผลิตอาหารสำหรับคนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น