วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

เงินไหลออกจากเอเชีย รายงานพิเศษ วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2556

เงินไหลออกจากเอเชีย

รายงานพิเศษ วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 11 คน 


ความหวาดกลัวในตลาดเอเชียเกี่ยวกับสิ่งที่เฟดอาจจะทำ อาจจะมากเกินไปเมื่อตัดสินจากข้อมูลที่ว่า การลงทุนของต่างชาติที่เข้าสู่เอเชียในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ได้ออกไปจากภูมิภาคน้อยเพียงไรเมื่อมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐจะเข้มงวดนโยบายมากขึ้น

ได้มีการเทขายพันธบัตรรัฐบาล สกุลเงิน และหุ้นในเอเชียนับตั้งแต่เดือนเมษายนหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะลดโครงการซื้อพันธบัตรในเร็วๆนี้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีเลือดไหลนองในตลาดเกิดใหม่ในเดือนมิถุนายนจนส่งผลให้ตลาดหุ้นในเอเชียดิ่งลงต่ำสุดในรอบหลายปี และสกุลเงินอย่างเช่น รูปีของอินเดียได้อ่อนค่าเป็นประวัติการณ์   แต่ทั้งข้อมูลและหลักฐานเล็กๆ น้อยๆ ชี้ว่า เงินได้ออกจากเอเชียน้อยมาก
เมื่อดูจากข้อมูลทุนสำรองต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย 10 อันดับแรก ซึ่งเริ่มตั้งแต่จีนจนถึงฟิลิปปินส์ มีเงินไหลเข้า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551จนถึงเดือนเมษายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่เฟดปั๊มเงินราคาถูกเป็นจำนวนมากเข้าสู่ตลาด
นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา มีเงินไหลออกจากเอเชียประมาณ 86,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4% ของเงินที่ไหลเข้า และครึ่งหนึ่งของเงินที่ไหลออกนี้มาจากจีน  ซึ่งนั่นถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับมาตรฐานส่วนใหญ่ขอตลาดการเงิน ซึ่งมักมีแนวโน้มที่จะซื้อเพราะข่าวลือและเทขายเพราะข่าวที่เกิดขึ้น
ทุนสำรองต่างประเทศอาจจะไม่ใช่ตัววัดที่ดีที่สุดที่จะประเมินเงินทุนที่ไหลออกเนื่องจากตัวเลขนี้ได้รวมถึงผลกระทบจากการแทรกแซงของธนาคารกลางด้วย ซึ่งอาจจะเป็นการไหลเวียนของบัญชีเดินสะพัดและความผันผวนของค่าเงินได้ แต่ในการวัดการไหลเวียนของเงินทุนที่มีความเป็นอิสระได้ชี้ไปยังข้อสรุปเดียวกัน
ดอยช์ แบงก์ประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติได้ถอนเงินออกจากตลาดตราสารหนี้ที่อยู่ในรูปเงินท้องถิ่นประมาณ 19,000 ล้านดอลลาร์ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม  และถึงแม้ว่าจะมีเงินไหลออก แต่เงินไหลเข้าสุทธิของปีนี้เป็นบวกอยู่ 5,000 ล้านดอลลาร์ และเงินที่ไหลออกถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเงินที่ไหลเข้า 203,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2552
สตีเฟน เจน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เอสแอลเจ แมคโคร พาร์ทเนอร์ส์  กล่าวว่า  สิบปีที่ทุนจำนวนมากไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ไม่สามารถระบายภายใน 10 สัปดาห์
เจนประเมินว่า เพราะสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ถือว่าปลอดภัยกว่าสินทรัพย์ในตลาดที่พัฒนาแล้วในช่วงที่มีการดำเนินนโยบายเงินที่หากู้ได้ง่าย  การฟื้นตัวครั้งใหญ่ในตลาดที่พัฒนาแล้ว จะทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่  และ“ความเสี่ยงที่เงินทุนจะหยุดไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่อย่างกะทันกัน ก็จะยังคงสูงอยู่”
เฟดเริ่มดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถูกวิกฤติการเงินในปี 2551 ทำลายในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น โดยได้ซื้อหลักทรัพย์จำนองและตั๋วเงินคงคลัง 2.1 ล้านล้านในโครงการที่ทำจนถึงเดือนมีนาคม 2553
การผ่อนคลายนโยบายรอบที่สองเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 จนถึงเดือนมิถุนายน 2554 เมื่อเฟดพิมพ์เงินเพิ่ม 600,000 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อพันธบัตรระยะยาวของกระทรวงการคลังสหรัฐ
ส่วนคิวอี 3 ได้ประกาศในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา และไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฟดซื้อหลักทรัพย์จำนอง 40,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน
เงินสดเหล่านั้น และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ใกล้ศูนย์ในยุโรป เป็นช่องทางให้เงินหลายล้านล้านเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง  จากข้อมูลของอินสติติวท์ ออฟ อินเตอร์เนชันแนล ไฟแนนซ์  มีการปั๊มเงินต่างชาติ 3.05 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ตลาดเกิดใหม่นับตั้งแต่ปี 2552
แต่มีเพียง 231,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นที่เป็นเงินของทางการ ดังนั้นในทางทฤษฎีแล้ว เงินที่ไม่ได้เป็นการจัดสรรโดยกองทุนไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง อาจออกไปได้ ถ้าเฟดเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ดี เงินได้ออกไปอย่างช้าๆ  และนักวิเคราะห์ที่มองหาการชี้นำจากการเข้มงวดนโยบายของเฟดในก่อนหน้านี้ เช่นในปี 2537 ,2542 หรือปี 2546  ได้พบความแตกต่างที่สำคัญๆ
ในครั้งแรก เฟดเพียงแต่พูดถึงการซื้อพันธบัตรลดลง มากกว่าการขึ้นดอกเบี้ย และได้สัญญาว่าจะรักษาอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้อยู่ใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ไปจนกว่าจะถึงกลางปี 2558
ในครั้งที่สอง ไม่มีใครมั่นใจนักว่า เงินที่หาได้ง่ายนี้จะหมดไปรวดเร็วเพียงไรหรือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่มาพร้อมกัน จะเป็นอย่างไร
ส่วนครั้งที่สาม การปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนสหรัฐไม่รุนแรง  แม้ว่าหลังจากที่มันได้พุ่งขึ้น 1.10% นับตั้งแต่เดือนเมษายน  ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ที่ 2.9% ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของระดับผลตอบแทนในปี 2543 และผลตอบแทนเคยพุ่งสูงสุด 8% ในช่วงวงจรปี 2536-37
มอร์แกน สแตนเลย์ ประเมินว่า นับตั้งแต่มีแรงเทขายเริ่มขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม  เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ 24,000 ล้านดอลลาร์  ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเกือบ 10% ของสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหาร  แต่ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุนเหล่านี้นับตั้งแต่ปี 2552
จนถึงขณะนี้ หุ้นได้รอดพ้นจากแรงเทขายซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่านักลงทุนมองว่าแรงเทขายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผลตอบแทนในสหรัฐในระยะยาวสูงขึ้น
ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนในการถือสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์และบั่นทอนพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูงในเอเชีย และผลตอบแทนในเอเชียมักผูกกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ  การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่ตามมาและการไหลออกของเงินทุนได้ทำให้สกุลเงินในเอเชียอ่อนตัวลง
อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในสหรัฐอาจเป็นข่าวดีแก่หุ้นหากมันมาพร้อมกับการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นทั่วโลก เพราะมันหมายถึงว่าดีมานด์ทั่วโลกจะดีขึ้นและกำไรของบริษัทสูงขึ้น  เว้นแต่ว่า ผลตอบแทนพุ่งขึ้นไปสู่ระดับที่ทำให้เกิดความวิตกเรื่องเงินเฟ้อ  ต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น และเกิดความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดต่างๆ
ดัชนีหุ้นในตลาดเกิดใหม่ของเอ็มเอสซีไอ ปรับตัวลง 11% นับตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม  จากที่พุ่งขึ้น 153% นับตั้งแต่ปลายปี 2551   ตลาดหุ้นจาการ์ต้าได้ปรับตัวขึ้น 380% ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551 จนถึงเดือนพฤษภาคมของปีนี้  แต่นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มันได้ปรับตัวลงเพียง 24%
ในทางกลับกัน พันธบัตรอินโดนีเซีย ซึ่งมักมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้น ได้ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วจนทำให้ผลตอบแทนพุ่งขึ้น 3.5% ในปีนี้  และเช่นเดียวกัน ดัชนีพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ของเจพี มอร์แกน ได้ลดลง 10% ในปีนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น