วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

ความท้าทายของผู้ว่าเฟดใหม่ คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2556

ความท้าทายของผู้ว่าเฟดใหม่

คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 8 คน 

การถอนตัวของ ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส จากฐานะคู่แข่งขันแย่งชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ของสหรัฐ หรือเฟด ทำให้เส้นทางสู่ตำแหน่งของ เจเน็ท เยลเล็น นักเศรษฐศาสตร์การเงินอเมริกันเชื้อสายยิวจากนิวยอร์ก รองประธานเฟด ต่อจาก เบนจามิน เบอร์นันเก้ หรือเฮลิคอปเตอร์ เบน นั้น สดใสขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เส้นทางสู่อนาคตของสหรัฐจะสดใสเหมือนอนาคตของเยลเล็น
เป็นที่ทราบกันดีว่า เหตุผลสำหรับเสียงสนับสนุนให้เยลเล็นขึ้นมาดำรงตำแหน่งนั้น มาจากหลากหลายวัตถุประสงค์ ซึ่งหากประมวลกันได้ ก็จะพบว่า มีดังต่อไปนี้คือ
มีความช่ำชองในงานของเฟดมากที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน เพราะทำงานมายาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 2004 มีประสบการณ์เหลือเฟือสำหรับทุกสถานการณ์
มีวิสัยทัศน์ที่แม่นยำ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์สำหรับอนาคตได้ชัดเจน และถูกต้อง เพื่อให้วางแนวทางรับมือได้อย่างแม่นยำ หลายครั้งในอดีต เยลเล็นไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายอย่างของเฟด และเวลาก็พิสูจน์ว่าเธอถูกต้องเสมอ และเสียงส่วนใหญ่ของเฟดผิดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานที่โยงเข้ากับนโยบายการเงิน
                - เป็นหนึ่งในผู้บริหารนโยบายการเงินที่นำเอาปัจจัยเรื่องการจ้างงานไว้ในนโยบายเสมอ ไม่ใช่นโยบายการเงินที่เลื่อนลอยและทำให้คนว่างงานมากขึ้น ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขาดความยั่งยืน ถือว่ามีนโยบายที่เป็นมิตรกับการจ้างงานที่สุดของยุค งานวิจัยและการสอนในมหาวิทยาลัยของเธอ เน้นเป้าหมายการจ้างงานสูงสุดสำคัญกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการเป็นผู้ชำนัญการในกฎของโอคุน (Okun’s Law) ซึ่งว่าด้วยสหสัมพันธ์ระหว่างการจ้างงานกับจีดีพีที่สอดรับกัน ซึ่งทำให้เธอเป็นเสียงข้างน้อยที่ทรงพลังในคณะกรรมการ FOMC ของเฟดมาตลอด
                - สามารถรักษาระยะห่างจากการเมืองในทำเนียบขาวได้อย่างดี  ซึ่งทำให้นักการเมืองและสาธารณะวางใจได้ว่า การถ่วงดุลอำนาจระหว่างธนาคารกลาง (ในฐานะเสาหลักของนโยบายการเงิน) กับทำเนียบขาวจะยังคงดำเนินต่อไป
                - เป็นผู้ว่าเฟดคนแรกที่เป็นสตรี และเป็นคนที่สองของผู้ว่าธนาคารกลางในชาติ G-8 ถัดจากผู้ว่า เอลว์ร่า นาบิยูลิน่า ของรัสเซีย ซึ่งน่าจะทำให้บทบาทของสตรีได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นอีกอาชีพหนึ่ง หลังจากที่สตรีเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของสังคมอเมริกันมาแล้วมากหลาย
จุดเด่น 5 ประการ (รวมทั้งจุดเล็กๆ ที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา พยายามถ่วงเวลาเพื่อให้ถึงจุดที่จะสามารถตั้งซัมเมอร์ส โดยปฏิเสธเยลเล็น) ทำให้เยลเล็นได้รับความไว้วางใจจากคนหลายกลุ่มมากกว่าว่าแนวคิดที่เน้นการจ้างงาน การกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และการส่งเสริม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนในการแข่งขัน จะทำให้ปมประเด็นซึ่งแก้ไม่ตกของโอบามาที่ยืดเยื้อมานานหลายปี ผ่อนคลายลงไป
ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่า เส้นทางในฐานะผู้ว่าเฟดคนใหม่ของเยลเล็นจะสดใสปราศจากคลื่นลม เพราะโดยข้อเท็จจริงภารกิจของผู้ว่าเฟดในการประคับประคองเพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสหรัฐพ้นจากขอบเหวของหายนะยังอีกยาวไกลพอสมควร
เริ่มต้นตั้งแต่แนวทางการลดมาตรการ QE ที่ยังมีคำถามท้าทายว่า จะใช้เวลานานเท่าใด และมูลค่าเท่าใด จึงจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งระบบการเงิน สภาพคล่องของธุรกิจ และการจ้างงานของภาคเอกชน ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ชัดเจนว่าคำตอบดีที่สุดสำหรับการลดระดับความเสียหายให้ต่ำสุด หรือ soft-landing measures ควรจะกระทำอย่างไร และมากน้อยเท่าใด
สำหรับเฟด การกำหนดนโยบายการเงินแต่ละย่างก้าว ล้วนถูกจับตามองและตีความโดยตลาดเงินและตลาดทุนที่ประกอบด้วยทั้งกองทุนเก็งกำไร นักการเงิน สื่อ และนักลงทุนต่างชาติทั่วโลก ที่มีความระมัดระวังในเรื่องความผันผวนค่อนข้างสูงเป็นพิเศษ
ปูมหลังของเยลเล็นนั้น แม้ว่าเธอจะมีเชื้อสายจากครอบครัวยิว แต่ก็เป็นที่ชัดเจนในจุดยืนว่าเธอไม่ใช่ผลผลิตของยิววอลล์สตรีทอย่างเด็ดขาด และไม่ได้มีส่วนโยงใยหรือทำงานให้กับธนาคารใหญ่ๆ ทั้งหลายที่เฟดเข้าไปอุ้มชูให้รอดหายนะซึ่งเป็นประเด็นให้ปัญญาชนและคนหนุ่มสาวอเมริกันเกลียดชัง แต่เธอทำหน้าที่ในฐานะนักวิชาการและผู้บริหารเฟดอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปลอดอิทธิพลยิว ทำนองเดียวกันกับนักปรัชญาหญิงชื่อดัง ฮันนาห์ อาเร้นท์ ที่เป็นคนยิวที่เมินเฉยต่อความเป็นยิว แต่ให้ความสำคัญกับมนุษยชาติอย่างมาก
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายดาย หากเป็นยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา หรือเป็นอย่างตำนานของซีสซีฟัสของกรีกโบราณ  เพราะโครงสร้างและพันธกิจของเฟดในอนาคตนั้น เรียกร้องต้องการผู้กำกับทิศทางที่มีกรอบคิดแหวกแนวและมุ่งมั่นกับภาพรวมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน มากกว่าเรื่องของการกำกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวแบบในอดีต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น