วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำไมต้องรอเห็นโลงศพ คอลัมน์ วันพุธที่ 25 กันยายน 2556

ทำไมต้องรอเห็นโลงศพ

คอลัมน์ วันพุธที่ 25 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 4 คน 

นับตั้งแต่มหาอุทกภัยน้ำท่วมปี 2554 เป็นต้นมา ประเทศไทยไม่ได้มีเครื่องมือใหม่ๆ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใดๆ เลย
                ยังคงใช้ระบบคูคลองเดิม ฟลัดเวย์ตามธรรมชาติเดิมๆ และก็การบริหารจัดการผ่านประตูน้ำเดิมๆ
                ปี 55 ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความคิดจะจัดวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ก็เจือจางลงไป
                 แต่มาปีนี้ ดูเหมือนเหตุการณ์จะสงบเหมือนปี 55 เพราะฝนก็มาล่าช้า และปริมาณน้ำฝน ก็มาตกใต้เขื่อน ไม่ใช่เหนือเขื่อนเหมือนกับปี 54
                แต่ที่ไหนได้ พอเจอหางมรสุมหนักๆ เข้าหลายลูก น้ำก็ท่วมทะลักเอ่อลุ่มเจ้าพระยาทั้งสิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรีเหมือนกัน
                หวาดเสียวว่า กรุงเทพฯ จะอ่วมน้ำเหมือนปี 54 อีก
            นี่แหละครับ นิสัยคนไทยเรา ยามภัยมา ก็เกิดอารมณ์ร่วมว่า ควรจะคิดตระเตรียมรับมือป้องกันภัยไว้ก่อน แต่ยามผ่านเหตุการณ์ไปก็ลืมเลือน
                เอ็นจีโอที่เคยหายศีรษะไปตอนน้ำท่วม ก็กลับมาโผล่สลอนชูคอต่อต้านกันใหม่
                ผมว่าในปี 2555 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหม่ๆ ถ้ารัฐบาลเร่งทำเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงก์ หรือโครงการตัดยอดน้ำเจ้าพระยาเพื่อผันน้ำออกสู่ตะวันตก โดยการขุดแม่น้ำสายใหม่จากอ.ขาณุวรลักษณ์ มาผ่านสุพรรณ, ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ฯลฯ
                แรงต่อต้านก็คงไม่มากมายเช่นทุกวันนี้
            โครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่จะชะลอน้ำลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง ก่อนไหลไปสมทบสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม อ.ลาดยาว และตัวเมืองนครสวรรค์ทุกปี ตลอดจนเป็นการตัดยอดน้ำที่จะไหลบ่าสู่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ชักจะบานปลายกลายเป็นปัญหาการเมืองซ้อนเข้ามามากยิ่งขึ้น
                นักแสดงชื่อดัง ถึงกับหลุดปากด่าผู้คิดจะทำเป็นพวกสัตว์เดียรัจฉาน และก็มีแนวร่วมจากคนชั้นกลางนอกพื้นที่ พร้อมจะเข้าสู่เวทีต่อต้านมากยิ่งขึ้น
                ผมว่าเรื่องนี้พึงพิจารณากันให้ดี อย่าเอาความเกลียดชังเป็นการส่วนตัว หรือการแบ่งค่ายแบ่งสีมาพิจารณาตัดสินใจ
                พึงระลึกกันให้ดีว่า แม้เขื่อนแม่วงก์จะเป็นเขื่อนขนาดเล็กในระดับจุน้ำแค่ 240 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยามทีเด็ดทีขาดที่มีมรสุมเข้ามา ถ้าไม่มีการหน่วงมวลน้ำขนาดนี้ ก็จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยารับมวลน้ำเกินความจำเป็น และก็สร้างความเสียหายรุนแรงมายังลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างรวมทั้งกรุงเทพฯด้วย
                ยามหน้าแล้ง ก็ยังได้ใช้ประโยชน์จากน้ำที่กักเก็บเอาไว้ในเขื่อนได้อีกด้วย
            พระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงใส่พระทัยในเรื่องของการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและน้ำแล้งซ้ำซากเป็นที่สุด
                เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้สร้างคุณูปการอย่างมากมาย ไม่ให้น้ำที่จะไหลบ่าเข้าสู่แม่น้ำป่าสักมาสมทบกับน้ำเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
                เขื่อนขุนด่านปราการชล ก็ช่วยหน่วงน้ำจากป่าเขาใหญ่ไม่ให้ไหลบ่าลงสู่แม่น้ำนครนายก ทำให้นครนายก รังสิต ปทุมธานี รอดพ้นภัยพิบัติมาได้เป็นอันมาก
                สำหรับเขื่อนแม่วงก์ พระองค์ก็ทรงเคยมีพระราชดำรัสต่อนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯและคณะข้าราชการกรมชลประทานที่เข้าเฝ้าฯ ให้เร่งมือก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
                แนวคิดน้ำกับป่า ยากจะแยกออกจากกันได้ ถ้าไม่มีน้ำ ก็ไม่มีป่า และถ้าไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ ไม่อาจจะตัดตอนสุดโต่งไปข้างหนึ่งข้างใดได้
                การตัดสินปัญหาใดๆ โดยอคติ โทสะหรือโมหะจริต นับเป็นสิ่งควรหลีกเลี่ยง
                                            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น