การเมืองเยอรมนี
คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556 ผู้เข้าชม : 0 คน
ชัยชนะของพรรคการเมืองอนุรักษนิยมเยอรมนี สหภาพคริสเตียนเดโมแครต (Christlich Demokratische Union Deutschlands-CDU) ในการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุด ไม่เพียงแต่ทำให้นางอังเกลา แมร์เคิล กลายเป็นสตรีเหล็ก ผู้ถือกำปั้นกำมะหยี่เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง หลังจากที่เป็นมาแล้ว 8 ปีเท่านั้น หากยังสะท้อนทิศทางของประชาธิปไตยเยอรมนี อันเป็นรัฐชาติที่ผ่านสงครามกลางเมืองนับครั้งไม่ถ้วนจากความปริร้าวของคนในสังคมรุนแรง
ประวัติศาสตร์ของเยอรมนีนั้น เริ่มมาตั้งแต่ครั้งโรมันในชื่อของพวกวิสิก็อธ ซึ่งได้รับคำชมอย่างมากจากโรมันเองว่าเป็นชนชาตินักรบที่เข้มแข็งสามารถตั้งยันการรุกรานของกองทัพทหารอาชีพของโรมันไม่ให้ขึ้นเหนือไปได้ไกลสำเร็จจากการสู้รบครั้งแล้วครั้งเล่า
หลังจากนั้น ในยุคกลางของยุโรปอันยาวนาน จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งวอลแตร์เคยเยาะเย้ยว่าเป็นแค่ชื่อ เพราะไม่ใช่ทั้งจักรวรรดิ ไม่ใช่โรมัน และไม่ศักดิ์สิทธิ์) ที่เกิดจากการออกแบบประนีประนอมทางอำนาจของศาสนาจักรวาติกัน และเจ้านครรัฐ (princely states) ในยุโรป โดยมีการปกครองอย่างหลวมๆ ในรูปของสหพันธรัฐของนครรัฐฟิวดัล โดยมีรูปแบบการเลือกตั้งตัวแทนของราชสภาของอีเล็กเตอร์ทั้งหลายในจักรวรรดิทำหน้าที่กำกับทิศทาง โดยขึ้นตรงต่อวาติกันที่กำกับดูแลอยู่ห่างๆ เพื่อให้เป็นรัฐโรมันคาทอลิก
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ดำเนินมาอย่างไม่ราบรื่น เพราะอีเล็กเตอร์และกษัตริย์มักจะขัดแย้งกันเอง จากการที่เจ้านครรัฐต่างๆ พยายามจะแยกออกจากจักรวรรดิและก็ยังขัดแย้งกับวาติกันเสมอ บางครั้งถูกสันตะปาปาในวาติกันสั่งปลด บางครั้งสั่งกษัตริย์ก็ปลดสันตะปาปาวุ่นวายกันไปหมด เพราะขัดแย้งกันเรื่องอำนาจแต่งตั้งระหว่างกฎหมายรัฐ (state law) กับกฎหมายศาสนา (canon law) จนปลายยุคกลางจึงแตกแยกกันหนักเพราะสงครามศาสนาระหว่างรัฐโปรเตสแตนต์กับรัฐคาทอลิก เป็นสงคราม 30 ปี หรือสงคราม 7 ปี
ท่ามกลางความวุ่นวายเหล่านี้ วัฒนธรรมอันเลวร้ายได้ถูกสร้างขึ้นมา นั่นคือ การกล่าวหายิวเป็นแพะรับบาปสำหรับสถานการณ์เลวร้ายทั้งหลาย ปฏิบัติการสังหารหมู่ยิว หรือ Progrom กลายเป็นเรื่องปกติ และการบังคับให้ขาวยิวห้ามออกจากสลัม (Ghetto) ก็เป็นจารีตสืบเนื่องแพร่หลายทั่วยุโรป
หลังจากนโปเลียนเข้าไปล่มจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นทางการ รัฐเยอรมันก็แตกเป็นรัฐอิสระมากมาย ก่อนที่รัฐรัสเซียจะใช้อำนาจกองทหารนำกลับมารวมตัวกันใหม่ แต่ก็ไม่สามารถรวมกันได้ทั้งหมด เพราะซีกรัฐโปรเตสแตนต์กลายเป็นเยอรมนี และซีกรัฐคาทอลิกกลายเป็นออสเตรีย
เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เยอรมนีและออสเตรีย กลายเป็นชาติที่มีความรู้เทคโนโลยีก้าวหน้า และหาทางเข้าแย่งชิงอำนาจกับชาติอื่นๆ ในยุโรปตะวันออก เข้าร่วมสงครามหลายครั้งนับแต่สงครามไครเมีย จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนจะตามมาด้วยหายนะ และเริ่มต้นความบ้าคลั่งของเผด็จการนาซี ซึ่งก่อสงครามโลกครั้งที่สอง จบลงด้วยความพ่ายแพ้และถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ
หลังจากใช้เวลาสร้างเนื้อสร้างตัวจากซากปรักหักพังยาวนาน เยอรมันตะวันตก ก็กลายเป็นชาติรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งสุดในยุโรป และเป็นต้นแบบของการสร้างสหภาพยุโรปร่วมกับฝรั่งเศสอย่างยากลำบาก ตามมาด้วยการกลับมารวมเยอรมนีเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง ด้วยบรรยากาศประชาธิปไตย ที่มีหลายพรรคการเมือง ซึ่งมีขั้วต่างชัดเจนทางนโยบายคือ พรรค CDU และ สังคมประชาธิปไตย (SDP) ที่ผลัดกันครองอำนาจทางการเมืองทั้งในรัฐบาลกลางและท้องถิ่น
8 ปีที่ผ่านมา อังเกลา แมร์เคิล ซึ่งเกิดในเยอรมันตะวันออก และเป็นผู้นำสตรีคนแรกของประเทศ สร้างชื่อเสียงให้เยอรมนีเป็นเสาหลักที่แข็งแกร่งที่สุดในด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และเป็นแกนหลักในการประคองเอกภาพของสหภาพยุโรปและเงินยูโรอย่างมหาศาล จนกระทั่งเยอรมนีเป็นชาติที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหภาพ
ชัยชนะในครั้งนี้ ขาดเพียง 5 เสียงก็เกินครึ่งของเสียงข้างมาก ภายใต้คำขวัญหาเสียงว่า ผลประโยชน์ของคนเยอรมันไม่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของยูโรโซน แม้จะไม่สามารถทำให้เยอรมนีทิ้งจารีตรัฐบาลผสมไปได้ แต่ได้เกิดปรากฏการณ์สำคัญคือ พรรคพันธมิตรของ CDU คือ FDP ไม่ได้เก้าอี้ในสภาเลย ทำให้ต้องหารือดึงพรรค SDP ซึ่งเคยต่างขั้วกับ CDU มาตลอด ยกเว้นตอนที่พรรคดังกล่าวจัดตั้งรัฐบาลผสมเองโดยมี CDU1 เป็นเสียงข้างน้อย เข้ามาร่วมตั้งรัฐบาล
ปัญหาคือ แกนนำบางส่วนของพรรค SDP เคยมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการร่วมรัฐบาลกับนางแมร์เคิล เพราะถูกนางแมร์เคิล “ขโมย” ความสำเร็จทางการเมืองไปเกือบหมด ต้องการเป็นฝ่ายค้านมากกว่า แต่ข้อเรียกร้องว่า ประเทศสำคัญกว่าพรรค ก็เป็นเครื่องบีบรัดทางการเมือง เพราะปัญหาใหญ่ที่คนเยอรมันและสหภาพยุโรปต้องเร่งแก้ร่วมกันด่วนที่สุดคือ เรื่องการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่รุนแรงอย่างมากใน 3 ปีมานี้
การเมือง “เอกภาพของความขัดแย้ง” สไตล์เยอรมันจะทำงานได้จากรัฐบาลผสมที่ต่างขั้ว จะเกิดขึ้นหรือไม่ เป็นสัญญาณบอกอนาคตของเยอรมนี และสหภาพยุโรปในอนาคตอย่างลึกซึ้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น