คลังมั่นใจเฟดลดคิวอี
การเมือง วันอังคารที่ 17 กันยายน 2556 ผู้เข้าชม : 3 คน
กิตติรัตน์มั่นใจธนาคารกลางสหรัฐลดมาตรการในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หรือคิวอี เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นเรื่องที่ดีในระยะยาว ด้านกสิกรไทยมองผลประชุมเฟดทยอยลดคิวอี ป้องกันแพนิก
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากธนาคารกลางสหรัฐปรับลดมาตรการในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หรือคิวอี ลงอีกเดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นเรื่องที่ดีในระยะยาว โดยหากสหรัฐยังคงใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป อาจทำให้มีจำนวนเงินล้นตลาดโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตราย และยังมองว่าการปรับลดการอัดฉีดเงินจากมาตรการดังกล่าว จะลดความผันผวนของตลาดเงินในภูมิภาคเอเชียได้ เพราะที่ผ่านมาการใช้มาตรการ คิวอี ทำให้มีเงินไหลเข้าเอเชียเป็นจำนวนมาก จนทำให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปรับลดมาตรการดังกล่าว ก็จะทำให้เม็ดเงินที่เข้ามาเก็งกำไรไหลกลับออกไป แต่ในส่วนตลาดทุน คงมีผลกระทบระยะสั้นจากความผันผวน แต่ทั้งนี้ สหรัฐจะปรับลดปริมาณคิวอีอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือในลักษณะการชะลอตัว ก็ไม่น่ามีผลกระทบต่อไทยมากนัก
ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าเฟดจะทยอยลดขนาดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือน หรือ QE จากเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ เหลือเดือนละ 75,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อไม่ให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก
ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าเฟดจะยังคงระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง และอาจจะเริ่มปรับขึ้นในปลายปี 2557 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงไม่ปรับขึ้น โดยยังต้องจับตามองหลังจากมาตรการลด QE จบลงในกลางปี 2557 โดยต้องติดตามว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดและจะมีผลให้เงินลงทุนต่างชาติไหลกลับไปอเมริกามากน้อยเพียงใด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงจะนำข้อมูลมากำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 คณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.50% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.50 ขณะที่ตลาดการเงินไทยและค่าเงินบาทจะยังมีความผันผวนตามกระแสข่าวการชะลอมาตรการ QE ซึ่งคาดว่าค่าเงินบาทจะมีความผันผวนอยู่ที่ 6.5% สูงกว่าค่าความผันผวนของเงินสกุลเอเชียที่อยู่ประมาณ 4%
กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวอีกว่า เชื่อมั่นว่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่สูงถึง 191,000 ล้านดอลลาร์ และสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ 2.4 ล้านล้านบาท จะเพียงพอรองรับหากเฟดชะลอมาตรการ QE และต่างชาติถอนเงินลงทุนออกจากประเทศไทย โดยต่างชาติลงทุนในสินทรัพย์ประมาณ 700,000 ล้านบาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น