วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

ย้อนตำนาน"ศรีเฟื่องฟุ้ง"

ย้อนตำนาน"ศรีเฟื่องฟุ้ง"
การยิงตัวตายของ "ชัยคีรี ศรีเฟื่องฟุ้ง" ยังคงทิ้งปมปริศนาถึงสาเหตุ และแน่นอนว่าย่อมทำให้ชื่อของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้งกลับมาอยู่ในกระแสข่าวอีกครั้ง
“พ่อทิ้งอาณาจักรธุรกิจอันกว้างใหญ่ไว้ให้ลูก หลาน เหลนที่รัก จงดูแลมรดกอันยิ่งใหญ่นี้ให้ดี รักษาบริษัทเหล่านี้ให้มีความมั่นคง มีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยนโยบายการเติบโตที่ไม่มีการเสี่ยง อย่าดำเนินกิจการโดยใช้เครดิต แต่จงใช้เงินสดตามทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ ถ้าลูกต้องการจะเสี่ยงโชค จงใช้เงินส่วนของลูก อย่าใช้เงินของ ‘กงสี’ (เงินกองทุน)”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำสอนที่ลึกซึ้งของ เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ผู้บุกเบิกธุรกิจกระจกไทย-อาซาฮี ผู้สร้างอาญาจักรธุรกิจของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้งให้เบ่งบานออกไป จากธุรกิจกระจก แตกไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเคมี สถาบันการเงิน ธุรกิจยางรถยนต์ร่วมกับกู๊ดเยียร์ ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจประกันชีวิต และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง นับเป็นตระกูลเจ้าสัว หากจะย้อนรอยต้องนับแต่รุ่นที่ 1 เริ่มจากนายเทียนจุ้ย แซ่แต้ ชาวจีนที่บุกเบิกมาตั้งรกรากในเมืองไทย และมีทายาทรุ่นที่ 2 ถึง 11 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 6 คน ซึ่งรุ่น 2 ที่ดำเนินธุรกิจสืบต่อจากรุ่นแรก ได้แก่ เกียรติ บุตรชายคนโต สมควร บุญเดช บุญทรง และ ณัฐ ศรีเฟื่องฟุ้ง
ความเป็นมาของตระกูลเจ้าสัวนี้มีตำนาน คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ แต่นักธุรกิจยุคบุกเบิกรู้จักกันดี เนื่องจากเจ้าสัวเกียรติ ถูกส่งไปเรียนที่ประเทศจีน แต่เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศจีน ทำให้ต้องตัดสินใจไปเรียนเป็นนักบิน และเข้าร่วมกับฝูงบินฝ่ายสัมพันธมิตร
เมื่อผ่านพ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกียรติได้มีโอกาสเข้ารับหน้าที่เป็นเลขาของ ดร.ซุนฟู บุตรชาย ดร.ซุนยัดเซ็น จากนั้นจึงขอลาออกไปเป็นพนักงานธนาคารมณฑลกวางตุ้ง จนได้แต่งงานกับธิดาของผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร และเมื่อธนาคารแห่งนี้มีแผนขยายสาขามาที่ประเทศไทย เกียรติจึงเป็นตัวแทนเจรจากับทางรัฐบาลไทยมาเจรจาจนสามารถเข้ามาตั้งสาขาในไทยได้
จากนั้น เกียรติเข้าร่วมกับตระกูล|เตชะไพบูลย์ในการตั้งธนาคารใหม่ชื่อสิงขร ในปี 2493 และเปลี่ยนเป็น ธนาคารศรีนคร ต่อมาปี 2496 นายเกียรติตั้งบริษัท |ไทยศรีนครประกันภัย ขึ้น โดยร่วมกับ|หุ้นส่วนจากตระกูลบุรณานนท์ พานิชชีวะ เตชะไพบูลย์ และอื้อจือเหลียง ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ไทยศรีนครประกันภัยและคลังสินค้า
กระทั่งปี 2505 เกียรติได้ตัดสินใจบุกเบิกธุรกิจอุตสาหกรรมกระจก ในนามบริษัท กระจกไทย ร่วมกับผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิม และเป็นบริษัทผลิตกระจกเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และได้มีแผนการร่วมทุนจากเดิมที่เป็นบริษัทในไต้หวัน มาเป็นบริษัท ญี่ปุ่น นำมา|ซึ่งการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อาซาฮีกลาส และเปลี่ยนเป็นบริษัท กระจกไทย-อาซาฮี ในปี 2507
แต่ในความสำเร็จของกระจกไทย-อาซาฮี นอกจากเกียรติเองแล้ว ยังต้องเอ่ยถึง “สมบัติ พานิชชีวะ” หลานชายที่เกียรติดูแลอุปการะเสมือนลูก เพราะเป็นบุตรชายของ เจริญ พานิชชีวะ กับ เฮียง ศรีเฟื่องฟุ้ง ซึ่งเป็นพี่สาวของเขา ที่สำคัญคือ เกียรติมองว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถจะเข้ามาช่วยดูธุรกิจได้ ประกอบกับตอนตั้งโรงงานกระจกไทย ลูกชายทั้งสาม คือ ชัยคีรี ชัยณรงค์ และ ชัยนรินทร์ อายุยังน้อย เรียนอยู่ในต่างประเทศ จึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า ศรีเฟื่องฟุ้งและพานิชชีวะ เป็นตระกูลพี่น้องที่แนบแน่นในความสัมพันธ์
หลังการมรณกรรมของเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ภารกิจดูแลรักษาอาณาจักรนี้ได้ตกอยู่กับ ชัยคีรี ทายาทคนโตที่เพิ่งขึ้นมาเป็นกรรมการอำนวยการแทนสมบัติ
ตระกูลศรีเฟื่องฟุ้งนั้นร่ำรวยอย่างเงียบๆ ไม่ทำตัวเด่นดัง เพราะถือคำสั่งของเจ้าสัวเกียรติในการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดและมีสายสัมพันธ์แนบแน่นยาวนานกับนักการเมืองสายซอยราชครู ทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง
แต่จู่ๆ ตระกูลนี้กลับมาเป็นข่าวหน้าหนึ่งอีกครั้ง เมื่อ ชัยคีรี ทายาทรุ่นที่ 3 ได้ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงเมื่อกลางดึกวันที่ 19 ก.ย. บนดาดฟ้าของอาคารเกียรติธานีซิตี้แมนชั่น ในซอยสุขุมวิท 31 ท่ามกลางความตื่นตระหนกของลูกหลานและญาติมิตร
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดระบุว่า ชัยคีรีเป็นคนร่าเริง สนุกสนาน แต่ช่วงหลังเริ่มมีปัญหาสุขภาพและเตรียมจะเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยละเอียดในเร็วๆ นี้ แต่ก็มาจบชีวิตลงเสียก่อน
นที พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยศรีประกันภัย ผู้เป็นหลานชายของสมบัติ กล่าวว่า ธุรกิจของศรีเฟื่องฟุ้งทั้งหมดเป็นลักษณะกงสี ภายหลังการเสียชีวิตของ “ชัยคีรี” คนที่จะรับช่วงธุรกิจต่อคือทายาทสายตรง “ธาวิน ศรีเฟื่องฟุ้ง” บุตรชายของ “ชัยคีรี” หัวหน้าแผนกธุรกิจชาวต่างชาติ สายงาน I&C บริษัท ไทยศรีประกันภัย วัยกว่า 30 ปี น้องชายของ “เชอร์รี่-ชัญญา ศรีเฟื่องฟุ้ง” ไฮโซสาว อดีตดาราและนางแบบที่ชื่นชอบการขี่ม้าเป็นชีวิตจิตใจ
“ธาวิน” แต่งงานแล้วกับ “ทิพนันท์ไกรฤกษ์” หลานสาวของ “อานันท์ ปันยารชุน”
จากนี้ อนาคตของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้งจึงฝากไว้กับรุ่น 4 ที่จะเข้ามาดูแลสืบทอดกิจการต่อไป โดยมีรุ่น 3 คอยประคับประคอง รวมถึงอาณาจักรพันล้านของตระกูลบนที่ดินขนาดใหญ่กว่า 3,000 ไร่ ใน อ.บางละมุง พัทยา ที่ปัจจุบันเป็น ฮอร์สชู พอยท์ และลงทุนไปแล้วนับพันล้านบาท ทั้งโรงเรียนสอนขี่ม้านานาชาติ ฮอร์สชู พอยท์ รีสอร์ต แอนด์ คันทรี คลับ และอุทยานสามก๊ก
คำสอนที่ลึกซึ้งจากพ่อสู่ลูกของเจ้าสัวเกียรติที่บันทึกไว้ ณ อุทยานสามก๊ก ที่ว่า “พ่อหวังเป็นอย่างมากที่สุดว่า ลูกทุกคนจะรักษาวิญญาณของความเป็นเลิศไว้และสืบทอดต่อไปโดยทางใดทางหนึ่งไม่มากก็น้อย จะเป็นอะไรก็ได้ที่ใจอยากจะเป็น แต่จงเป็นให้ดีที่สุดที่จะเป็นได้ จงรับผิดชอบต่อชีวิตและการกระทำของตนเอง จงจำไว้ว่าความสามารถของเธอที่จะทำให้สำเร็จตามความปรารถนาไม่มีขอบเขตจำกัด” นั้นลูกหลานตระกูลศรีเฟื่องฟุ้งได้ปฏิบัติกันสืบต่อมา
ณ วันนี้พ่อและลูกคงจะได้พบกันในสัมปรายภพแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น