วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

คุณูปการทางเศรษฐกิจ คอลัมน์ วันอังคารที่ 24 กันยายน 2556

คุณูปการทางเศรษฐกิจ

คอลัมน์ วันอังคารที่ 24 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 99 คน 


มีตัวเลขที่น่าสนใจจากธนาคารโลก และกลุ่ม OECD เกี่ยวกับประเทศไทยที่น่าสนใจ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยพร่ำพูดอยู่เสมอคือ สัดส่วนของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนต่อรายได้ประชากรต่อหัวของคนไทยนั้น มีอยู่เพียงแค่ไม่เกิน 5% เท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไร (ดูตารางประกอบ)
สัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำของรายจ่ายภาคครัวเรือนต่อหัว เทียบกับรายได้ ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทย ยังไม่ได้ย่างเข้าสู่สังคมที่มีฐานรากบนการบริโภคของประชาชนเท่าใดนัก ย่างห่างไกลจากพัฒนาการแบบที่ชาติตะวันตก และหลายชาติในเอเชีย ก้าวล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
เหตุผลหลักอยู่ที่ว่า สัดส่วนของคุณูปการของการบริโภคที่มีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมยังต่ำเกินกว่าจะแสดงพลังออกมาได้
ข้อมูลดังกล่าว ไม่เพียงแต่ทำให้ความน่ากลัวของปัญหาหนี้ครัวเรือนดูบางเบา และห่างไกลจากปริวิตกเท่านั้น หากยังสามารถนำมาต่อยอดพิจารณาให้เห็นว่า ทิศทางข้างหน้าในอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะก้าวเดินไปอย่างไร 
คำว่า คุณูปการทางเศรษฐกิจ หรือ economic contribution กินความหมายต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศอย่างมาก ถือว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศจะต้องพิจารณาพัฒนาการของตัวแปรที่เกี่ยวข้องในการสร้างคุณูปการต่อเศรษฐกิจไม่ให้ล้ำหน้า หรือล่าช้าจนเกินไป
ในอดีต แนวคิดว่าด้วยลำดับขั้นของเศรษฐกิจ โดย วอลท์ วิทแมน รอสโตว์ ได้อธิบายถึงคุณูปการของตัวแปรทางเศรษฐกิจ ในแต่ละขั้นของการพัฒนา และใช้เป็นเครื่องมือทางการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคสงครามเย็น ต่อมานักเศรษฐศาสตร์อเมริกันอีกคนคือ โรเบิร์ต เมอร์ตัน ซอโลว์ ได้พัฒนาระบบคิดที่ละเอียด โดยเน้นให้เห็นถึงปัจจัยบวกในแต่ละช่วงของเศรษฐกิจที่ต้องเน้น เรียกกันว่า ซอโลว์-สวอน โมเดล (Solow–Swan growth model) ซึ่งถือว่ามีส่วนช่วยให้นักวางแผนเศรษฐกิจสามารถกำหนดว่าปัจจัยใดเป็นตัวชูโรงในการกำหนดแผนแม่บท
โมเดลของซอโลว์ มีจุดเน้นที่การใช้งบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในกรณีที่มุ่งความสามารถในการแข่งขัน ให้พ้นจากการเป็นชาติล้าหลัง 
การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากฐานรากของการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร หรือทรัพยากรใต้ดิน มาสู่การผลิตทางด้านอุตสาหกรรม  มาสู่บริการ และการบริโภค ถือเป็นเส้นทางที่ซับซ้อน และคดเคี้ยว โดยตะละช่วงเวลาหนึ่งมีภาคธุรกิจหลักที่สร้างคุณูปการ
ตัวอย่างเช่นไทย นับแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมา  เศรษฐกิจไทยได้มีการปรับเปลี่ยนจากฐานรากของการส่งออกสินค้าเกษตรและโภคภัณฑ์ มาสู่การผลิตทางด้านอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า แล้วก็สู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน โดยมีอุตสาหกรรมบริการ(โดยเฉพาะการท่องเที่ยว)เป็นตัวสอดแทรก
ถึงวันนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวนหนัก จนกระทั่งการส่งออกเริ่มสะดุดเป็นช่วงๆ การหาปัจจัยทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะสร้างคุณูปการหลักจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึง หนึ่งในสูตรสำเร็จเดิมที่เกือบทุกรัฐบาลนำมาใช้คือ แนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ นั่นคือ การทุ่มงบประมาณลงทุนของรัฐเพื่อสร้าง ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็กำลังทำโดยผ่านโครงการ 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาสาธาณูปโภคด้านการขนส่งสินค้า
แม้โครงการลงุทน 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ของใหม่ แต่ผลสะเทือนเชิงลึกและกว้างยากจะประเมินได้ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ที่ตั้งบนฐานรากของการผลิตเพื่อส่งออก โดยมีภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วน 34% ของจีดีพี ภาคบริการ 44% (ในจำนวนนี้ 13% เป็นภาคค้าส่งและค้าปลีก 7% เป็นภาคขนส่ง คลังสินค่า และสื่อสาร 5% เป็นท่องเที่ยวร้ายอาหาร และโรงแรม อีก 4.5% เป็นภาคบริการสาธารณะของรัฐ) และภาคการเกษตร 13%นั้นกำลังเสียดุลยภาพมากขึ้นชัดเจน ไม่อาจกดำรงอยู่ต่อไปได้  
หลังจากโครงการขนาดใหญ่ 2ล้านล้านบาทจบสิ้นลง ประเทศไทยจะถูกเคลื่อนเข้าสู่การสร้างปัจจัยที่เป็นคุณูปการใหม่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเร่งการเติบโตของจีดีพีได้อย่างมาก แต่ก้ยากจะคาดเดาไม่ได้ในอนาคตว่าจะโน้มนำไปสู่โครงสร้างแบบไหน (หากไม่หมกมุ่นกับตัวเลขความคุ้มค่าทางการเงินของโครงการอย่างสีข้างเข้าถู)
พัฒนาการของเศรษฐกิจเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป เพราะเคยมีกรณีศึกษาจากจีน ที่นับแต่ใช้แนวทาง 4 ทันสมัยของเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนถูกขับเคลื่อนด้วยการลงทุนขนาดใหญ่นานถึง 3 ทศวรรษ แต่มาถึงวันนี้ จีนกำลังปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ ลดบทบาทของการกระตุ้นการลงทุนลง มาให้ความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมบริโภคมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งมโหฬารที่จะได้เห็นในอีกหลายปีข้างหน้า
กรณีของไทยก็เช่นกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร คุณูปการเพื่อการเปลี่ยนแปลง ย่อมดีกว่าปล่อยให้หยุดนิ่ง และเผชิญชะตากรรมในอนาคตตามยถากรรม
...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น