บทความ " M&A " โดย ธันวา เลาหศิริวงศ์
ข่าวบริษัทไมโครซอฟท์ยอมทุ่มเงินกว่า7พันล้านเหรียญเพื่อเข้าซื้อส่วนธุรกิจอุปกรณ์สื่อสารมือถือของโนเกียคือกลยุทธ์สำคัญหนึ่งเพื่อเพิ่มศักยภาพระบบปฏิบัติการ Windows Phoneในการต่อกรกับคู่แข่งสำคัญทั้งiOSจากค่ายแอปเปิ้ลและAndroid จากบริษัทกูเกิ้ล สงครามธุรกิจครั้งนี้มีความสำคัญและเดิมพันสูงมากเพราะหมายถึงส่วนแบ่งตลาดอุปกรณ์มือถือทั้งโลกเลยทีเดียว
เป็นธรรมดาในโลกธุรกิจที่มักจะพบเห็นธุรกรรมM&Aอยู่เสมอ โดยการควบรวมกิจการ(M:Merger) และการซื้อหรือครอบงำกิจการอื่น (A:Acquisition) เป็นกลยุทธ์ธุรกิจสำคัญในการเพื่อประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรและเงินทุน ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายจาก Economies of Scale กระตุ้นการเกิดนวัตกรรมใหม่ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มสายผลิตภัณฑ์ ช่องทางธุรกิจ ขยายตลาดและฐานลูกค้า ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบวกที่ผู้บริหารระดับสูงพิจารณานำกลยุทธ์นี้มาใช้เพื่อการเติบโตธุรกิจแบบก้าวกระโดด (Inorganic growth) ด้วยระยะเวลาสั้นกว่าปกติ
ความเสี่ยงของธุรกรรมโดยเฉพาะการเข้าซื้อกิจการ(Acquisition) ก็มีเช่นกัน โดยความเสี่ยงที่สำคัญคือหนึ่ง การต่อต้านหรือไม่ยินยอมให้เข้าซื้อโดยง่ายเช่นการเข้าซื้อแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover)กรณีบริษัทเสริมสุข (SSC) หรือบริษัทมติชน (MATI) เป็นต้น สอง ราคาที่เสนอซื้อสูงเกินไป ส่งผลให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่ตั้งใจไว้ สาม ความแตกต่างของค่านิยม โครงสร้างและเป้าหมายธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กร ระบบการทำงาน การตัดสินใจ และความไม่ราบรื่นในการปฏิบัติงานร่วมกัน และสี่ ผลที่เกิดขึ้นจริงจากSynergyในแต่ละด้านไม่เป็นไปตามแผนธุรกิจที่คาดไว้ตั้งแต่แรก
ตัวอย่างธุรกรรมที่ส่งผลเชิงบวกในตลาดหุ้นไทยได้แก่ กรณีธนาคารเกียรตินาคิน ควบรวมกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์ภัทร เป็นกลยุทธ์ที่นำข้อดี จุดเด่น ทั้งด้านโครงสร้างเงินทุน บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ผลิตภัณฑ์การเงินที่หลากหลายมากขึ้นในการตอบสนองความต้องการลูกค้าเพื่อความแข็งแกร่งและพร้อมรับมือกับการแข่งขันของอุตสาหกรรมการเงินที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
บริษัทบิ๊กซี ชุปเปอร์เซ็นเตอร์(BIGC) ทำการเสนอซื้อกิจการห้างคาร์ฟูที่ต้องการขายกิจการในประเทศไทย แม้เป็นราคาเสนอซื้อที่สูงและสร้างภาระเงินกู้ก้อนโตแก่บริษัท แต่ผู้บริหารเล็งเห็นโอกาสการเติบโตแบบก้าวกระโดดและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในระยะยาว จากข้อมูลที่เปิดเผยต่อนักลงทุน บิ๊กซีได้รายงานว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ได้ประโยชน์จาก Synergyมากกว่า ในเวลาสั้นกว่า และสามารถเพิ่มสัดส่วนมาร์จิ้นได้มากกว่าที่คาดไว้อีกด้วย
ยังมีธุรกรรม M&Aที่เพิ่งเกิดขั้นและรอการพิสูจน์ได้แก่ กรณีบริษัทออฟฟิศเมท (OFM) ได้ควบรวมกิจการกับบริษัทอุปกรณ์สำนักงาน Office Depotและร้านหนังสือ B2S แม้จะไม่ได้สร้างภาระด้านการเงิน แต่ความสำเร็จในการควบรวมกิจการจำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ขบวนการทำงาน เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนกรณีบริษัทซีพี ออลล์(CPALL)เข้าซื้อกิจการค้าส่ง บริษัทสยามแม็คโคร(MAKRO)ซึ่งเป็นดีลขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยด้วยมูลค่าสูงถึง1.88แสนล้านบาทนั้นนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่มุ่งสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารยังต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถจัดการภาระหนี้ก้อนโตพร้อมดอกเบี้ยได้อย่างเหมาะสม ผลประกอบการของกิจการทั้งสองยังเติบโตตามเป้าหมาย เพราะนั่นจะเป็นคำตอบว่า การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ถูกต้อง คุ้มค่า และไม่ได้ซื้อในราคาสูงอย่างที่หลายฝ่ายคิด
แม้รูปแบบธุรกิจ (Business Model) เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่อาจให้น้ำหนักมากกว่าปัจจัยอื่น แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ M&Aแล้ว “ผู้บริหาร”ย่อมต้องมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกมาก เริ่มตั้งแต่กลยุทธ์ธุรกิจ วิสัยทัศน์ การประเมินความเป็นไปได้และการตัดสินใจเข้าสู่ขบวนการควบรวมหรือครอบงำกิจการ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการปฏิบัติให้เกิดผลจริงตามแผนงาน
การควบรวมกิจการด้วยเงื่อนไขการแลกหุ้นนั้นมักจะไม่มีส่วนต่างราคาเข้ามาเกี่ยวข้อง นักลงทุนที่ถือหุ้นจึงควรพิจารณาถึงกลยุทธ์และเงื่อนไขโดยนำข้อคิดเห็นจากที่ปรึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งมาเป็นส่วนประกอบ หากกิจการใหม่หลังการควบรวมได้รับประโยชน์และมีศักยภาพมากขึ้นนั่นคือการเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการที่เราถืออยู่ ส่วนกรณีการครอบงำกิจการนั้น ผู้ถือหุ้นกิจการที่ถูกเสนอซื้อมักจะได้รับส่วนเพิ่มราคา (Premium)จากราคาที่ซื้อขาย ขณะที่ผู้ถือหุ้นกิจการที่เสนอซื้อต้องประเมินถึงความเป็นไปได้ในเชิงกลยุทธ์ ความเหมาะสมและความสามารถของผู้บริหารแม้นักลงทุนจำเป็นต้องให้ “เวลา”กับผู้บริหารเพื่อให้กิจการได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ในการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว แต่นักลงทุนยังต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
M&Aจึงเปรียบเสมือน “เกมธุรกิจ”ที่เกิดขึ้นได้เสมอและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนที่หมั่นเรียนรู้กรณีศึกษาเหล่านนี้และ“อ่านขาด”เกมธุรกิจในโลกทุนนิยม อาจเป็นวิธีหนึ่งที่สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างงามเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น