วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

ตลาดหุ้นเปิดเดือนกันยาด้วยดี ต่างประเทศ วันอังคารที่ 03 กันยายน 2556

ตลาดหุ้นเปิดเดือนกันยาด้วยดี

ต่างประเทศ วันอังคารที่ 03 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 9 คน 

ไฟแนนเชียลไทม์ - มุมมองในด้านบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและยุโรป และการอนุมานของนักลงทุนที่ว่า น่าจะมีโอกาสน้อยลงที่สหรัฐจะโจมตีซีเรีย ทำให้หุ้นเริ่มต้นเดือนกันยายนด้วยดี ในขณะเดียวกันก็ทำให้โภคภัณฑ์อุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น

                ราคาทองแดงพุ่งขึ้น 1.9% เป็น 3.29 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ในขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวลง 52 เซนต์ เหลือ 113.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
                ในตลาดยุโรป ดัชนีสต๊อกซ์ 600 ดีดตัวขึ้น 1.6% หลังจากที่ตลาดในเอเชียแปซิฟิกปรับตัวขึ้น 0.6%  ส่วนตลาดวอลล์สตรีทปิดทำการเมื่อวานนี้ เนื่องจากหยุดวันแรงงาน  ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขายทั่วโลก 
                ตลาดยังคงมีความระมัดระวังเกี่ยวกับแนวโน้มที่เฟดจะลดการซื้อพันธบัตรและการสันนิษฐานที่ว่าสภาพคล่องทั่วโลกจะลดลง แต่นักลงทุนมีความรู้สึกในขณะนี้ว่า โอกาสที่จะมีการโจมตีซีเรียได้ลดลง ในขณะเดียวกันมีข่าวจากจีนและยุโรปที่ชี้ว่าภาคผลิตทั่วโลกฟื้นตัวอีกครั้ง
                ดัชนีผู้จัดการจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ของจีนของเอชเอสบีซี/มาร์คิต อยู่ที่ 50.1 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนได้ขยายตัวเล็กน้อยหลังจากที่หดตัวลงในเดือนกรกฎาคม ก่อนหน้านี้ดัชนีพีเอ็มไอของทางการจีนก็ชี้ว่าภาคผลิตของจีนขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 16 เดือนในเดือนสิงหาคม โดยดัชนีพีเอ็มไอของทางการจีนเพิ่มขึ้นเป็น 51 จาก 50.3 ในเดือนกรกฎาคม
                นักวิเคราะห์ของเครดิต อะกริโกล ระบุว่า ข้อมูลที่ออกมาเป็นหลักฐานมากขึ้นว่าเศรษฐกิจจีนกำลังมีแรงส่งอีกครั้ง จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่มั่นคงขึ้นในภูมิภาค
                ดัชนีคอมโพสิต เซี่ยงไฮ้ปิดตลาดเพิ่มขึ้นแค่ 0.07 จุด อยู่ที่ระดับ 2,098.45 จุด แต่ดัชนีฮั่งเส็งดีดตัวขึ้นถึง 2.04% เนื่องจากรายงานต่างๆ ทำให้เกิดแรงซื้อสินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวต่อการเติบโต   ในขณะเดียวกันตลาดหุ้นออสเตรเลียก็ปรับตัวขึ้น 1%
                ดัชนีพีเอ็มไอทั่วยุโรปก็เพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม โดยอยู่ในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบกว่าสองปี และยังมีรายงานจากอังกฤษว่า คำสั่งซื้อใหม่ๆ และอัตราผลผลิตอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี  
                ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดความอยากเสี่ยงมากขึ้น จึงทำให้สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยปรับตัวลง ซึ่งส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมัน พุ่งขึ้น 0.07% เป็น 1.92% และยังทำให้ทองคำลดลง 2 ดอลลาร์ เหลือ 1,394 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ในขณะเดียวกันก็ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 99.26 เยนต่อดอลลาร์
                การอ่อนค่าของเงินเยนทำให้เกิดแรงขับเพิ่มเติมต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนีนิกเกอิ ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 1.4% หลังจากที่ข้อมูลชี้ว่า บริษัทมีการลงทุนในโรงงานและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 2.9% ในช่วงไตรมาสปัจจุบัน จากที่โตแค่ 0.3% ในช่วงสามเดือนก่อนหน้า
                ค่าเงินลีร์ของตุรกีก็ได้ประโยชน์ที่ความตึงเครียดในซีเรียลดลง  หลังจากที่ได้อ่อนตัวลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ที่ถูกทุบเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างเช่นสกุลเงินของอินเดียและอินโดนีเซียยังคงได้รับแรงกดดัน
                ดัชนีพีเอ็มไอของอินโดนีเซียของเอชเอสบีซี แตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนโดยอยู่ที่ 48.5  จึงทำให้เงินรูเปียอ่อนตัวลง 0.2% อยู่ที่ 10,930 รูเปียต่อดอลลาร์    ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นอินโดนีเซียสวนกระแสในภูมิภาค โดยปรับตัวลง 2.24% เนื่องจากมีรายงานว่า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนกรกฎาคมมากกว่าที่คาด
                ดัชนีพีเอ็มไอของอินเดียก็ปรับตัวลงเหลือ 48.5 จาก 50.1 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี จึงทำให้เงินรูปีอ่อนลงเหลือ 66.26 รูปีต่อดอลลาร์ แต่ดัชนีหุ้นเซนเซกซ์  ฟื้นตัว 1.43%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น