เจ้าสัวคีรีเก็บหุ้นBTS
เข้าพอร์ต86ล้านหุ้น
DSI ปลดชนัก ‘บีทีเอส’ สั่งไม่ฟ้อง 2 ผู้บริหารหลักและบริษัท
ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2556 ผู้เข้าชม : 9 คน
“เจ้าสัวคีรี” เก็บหุ้น BTS เข้าพอร์ตส่วนตัว 86.25 ล้านหุ้น ซื้อ BTS-W2 อีก 3.4 ล้านหน่วย ราคาถูกน่าลงทุน ยีลด์ 6-7% ด้าน DSI สั่งไม่ฟ้อง 2 ผู้บริหารหลัก “คีรี-สุรพงษ์” และบริษัท โบรกฯเชียร์ลงทุนหุ้น BTS ไร้ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ซื้อหุ้นวันนี้ได้ปันผลทันที
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-2) พบว่า นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ทยอยซื้อหุ้น BTS ตั้งแต่วันที่ 4-7 มิถุนายน 2556 จำนวน 86,254,900 หุ้น หรือคิดเป็นจำนวน 695,940,971 บาท ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 8.10 บาท นอกจากนี้ ยังซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น 2 (BTS-W2) จำนวน 3,461,400 หน่วย ราคาเฉลี่ย 0.58 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทประกาศจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ จำนวน 0.045 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 14 มิ.ย. 2556
แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน กล่าวว่า การเข้าทยอยซื้อหุ้น BTS ของนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารของ BTS ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าหุ้น BTS เป็นหุ้นที่น่าลงทุน โดยเฉพาะตัวเลขการจ่ายปันผลของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาท เทียบราคาหุ้นปัจจุบันที่ประมาณ 7.90 บาท ถือว่าสามารถให้ผลตอบแทนจากเงินลงทุน หรือยีลด์ที่สูงประมาณ 6-7%
“หุ้น BTS ตอนนี้ถือเป็นหุ้นที่น่าลงทุน เนื่องจากนโยบายปันผลของบริษัทที่สามารถการันตีผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ประกอบกับราคาหุ้นปัจจุบันที่ปรับตัวลดลงจากช่วงที่ผ่านมา สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากขึ้น และราคาหุ้นยังห่างกับราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ที่ประเมินราคาหุ้น BTS ไว้อย่างมาก” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ BTS ยังหลุดจากคดีความ จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง นายคีรี กาญจนพาสน์ กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้มีอำนาจ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทำให้ทิศทางของบริษัทจากนี้ไปสามารถที่จะเดินหน้าขยายเส้นทางเดินรถไฟฟ้าได้อีก 30 ปี ตามสัญญาที่เคยมีไว้ก่อนหน้านี้
โดยเมื่อวันนี้ 11 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง หัวหน้าคณะสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำสำนวนการสอบสวน และพยานหลักฐาน จำนวน 5,874 แผ่น รวม 17 แฟ้ม พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กับพวกรวม 9 คน และอีก 1 นิติบุคคล ผู้ต้องหา คดีการต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายออกไป อีก 13 ปี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาส่งมอบให้นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ พิจารณาเพื่อมีคำสั่ง ในข้อหาร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค (กิจการรางรถไฟ) โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานจาก รมว.มหาดไทย อันเป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ.2515 ข้อ 4 และข้อ 16 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84 และมาตรา 86
พ.ต.ท.ถวัล เปิดเผยว่า ตามที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. กับพวกรวม 11 คน และนิติบุคคล 2 ราย นั้นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้วมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 9 คน และนิติบุคคล 1 ราย ประกอบด้วย นายธนา วิชัยสาร ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ผู้ต้องหาที่ 1 นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ อดีตปลัดฯ กทม. ผู้ต้องหาที่ 2
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้ต้องหาที่ 3 นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม. ผู้ต้องหาที่ 4 ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ต้องหาที่ 5 นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ต้องหาที่ 6 นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ต้องหาที่ 7 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ต้องหาที่ 10 นายกฤษณ์ เกียรติพนชาติ อดีต ผอ.กองการขนส่ง สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ผู้ต้องหาที่ 12 และนายจุมพล สำเภาพล อดีต ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ผู้ต้องหาที่ 13
ส่วนที่มีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง เป็นบุคคล 2 ราย และนิติบุคคล 1 ราย คือ นายคีรี กาญจนพาสน์ กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 8 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 9 และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 11
ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการรถรางมาก่อน ตามสัญญาสัมปทานเดิม และยังมีผลบังคับอยู่จนถึง พ.ศ.2572 แต่กทม.มีหนังสือเชิญชวนให้ผู้ต้องหาที่ 11 เข้ามาเป็นคู่สัญญาอย่างเปิดเผย โปร่งใส ไม่ได้กระทำโดยลำพัง หรือพลการแต่อย่างใด
กรณีนี้จึงฟังได้ว่าการเข้ามาเป็นคู่สัญญา เกิดจากความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง หรือเข้าใจโดยสุจริตว่า การที่กทม.ได้ดำเนินการทุกประการอย่างถูกต้องแล้ว เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของราชการหรือที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน หรือที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ ที่อ้างว่าได้กระทำโดยชอบแล้ว แม้จะเป็นความผิดในส่วนเอกชน ก็ไม่อาจทราบหรือรู้ได้อย่างแน่แท้ อีกทั้งไม่มีข้อเท็จจริงว่า กระทำโดยทุจริตประการอื่น เห็นว่าขาดเจตนาในการร่วมกระทำผิด จึงเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคดีนี้อัตราโทษไม่สูง แต่ผู้ต้องหากระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ หลายครั้ง เพราะมีการขอสัมปทานก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส อีกหลายเส้นทาง เช่น นายสุขุมพันธุ์ ตามสำนวนกระทำผิดรวม 3 กรรม
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ระบุว่า หุ้น BTS จะเป็นเป้าหมายการลงทุนของกองทุนรวมในประเทศที่จะซื้อเพราะหุ้น Defensive ปันผลสูง โดยล็อกอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลล่วงหน้า 3 ปี (FY2557 –FY2559 งบปิดเดือนมี.ค.) แล้ว ไม่ต่ำกว่า 6.7% 7.8% 8.9% ตามลำดับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น