วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

EFORL IPO GOOD OR NOT

ธุรกิจสื่อโฆษณาตัวการณ์ทำ EFORL “ขาดทุน 4 ปีซ้อน” ทว่าวันนี้คนบนดอยมีแววได้สัมผัสเงินปันผลครั้งแรก

เศรษฐกิจผันผวนและความไม่แน่นอนทางการเมือง ถือเป็น “ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ” ของธุรกิจสื่อโฆษณา ความผันผวนเหล่านั้นได้ผลักดันให้ “บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม” หรือ EFORL ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และให้บริการและผลิตสื่อโฆษณาภายในอาคาร (In-store Media) ชื่อเดิม “บมจ.แอปโซลูท อิมแพค” หรือ AIM ตกอยู่ใน “มุมมืด” มาตั้งแต่ปีแรก (2552) ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2552-2555) บริษัทแสดงผลขาดทุน 54.96-124.51-51.26-65.43 ล้านบาท

ก่อน EFORL จะหันมาให้รุกธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในช่วงปลายปี 2556 การพึ่งพิงรายได้จากการให้บริการสื่อโฆษณาสูงถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็น “จุดตำนิ” ที่ทำให้บริษัทประสบผลขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนที่เหนือการควบคุม “ความเครียด” จึงค่อยๆก่อตัวขึ้นในสมองของ “ปริญ ชนันทรานนท์” ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2548

หลังบริษัท “ขาดทุนติดกัน 3 ปี” บมจ.อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น หรือ ADAM จึงตัดสินใจขายหุ้น AIM ทั้งหมด 428,214,100 หุ้น ก่อนจะประกาศเพิ่มทุนในเดือนก.ย.2555 จาก 280 ,000,000 บาท เป็น 280,000,900 บาท ต่อมาในเดือนมิ.ย.2556 บริษัทได้เพิ่มทุนเป็น1,380,002,025 บาท โดยจัดสรรให้กับบุคคลในวงจากัด และผู้ถือหุ้นเดิม ราคาขายต่อหุ้น 0.10 บาท

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ EFORL ออกแนวกระจัดกระจาย โดย 5 อันดับแรก คือ “ศุภชัย วัฒนาสุวิสุทธิ์” สัดส่วน 6.01เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็น “พิชชุดา ชาน” จำนวน 5.68 เปอร์เซ็นต์ “ทัศนีย์ วงศ์มณีโรจน์” 4.89 เปอร์เซ็นต์ “พิสิฏฐ์ ภิสสาสุนทร” 4.89 เปอร์เซ็นต์ และ “จักรพงษ์ โลหะเจริญทรัพย์” 4.62 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลข ณ วันที่ 18 มี.ค.2557

ทันทีที่ EFORL ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการหันมาทำจำหน่ายครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ยี่ห้อ“Hamilton” และยี่ห้อ “NIHON KOHDEN” โดยมีเขตความรับผิดชอบทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย “แสงสว่างเริ่มสาดส่องมาที่ปลายอุโมงค์” โดยในปี 2556 บริษัทสามารถพลิกกลับมามี “กำไรสุทธิ” 26.46 ล้านบาท หลังมีรายได้จากการจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 82 ล้านบาท ล่าสุด EFORL ได้ขายหุ้นทั้งหมดของบ.เอนโม ผู้ประกอบกิจการสื่อออนไลน์ให้กับ "กิติพงษ์ ธรรมชุตาภรณ์" ในราคา 4.83 บาทต่อหุ้น

เมื่อ “ความสวย” ค่อยๆเคลื่อนตัวแทนที่ “ความขี้เหร่” ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 บริษัทมี “กำไรสุทธิ” มากถึง 46.41 ล้านบาท หลังมีรายได้จากการขายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 194.85 ล้านบาท

“จากหุ้นไม่มีอนาคตกำลังจะกลายเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์” “ธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม เล่าว่าความเชื่อของตัวเองให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง

“ผมรู้จัก “ปริญ” มานานหลายสิบปี วันหนึ่งเขาเดินมาปรับทุกข์ด้วย หลังกุ้มใจที่ทำให้บริษัทต้องตกอยู่ในภาวะขาดทุนนานถึง 4 ปี ตอนนั้นเขาพูดว่า ต้องการหาธุรกิจใหม่ๆเข้ามาเสริมรายได้ของบริษัท เขามีความมุ่งมั่นอยากคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้นบ้าง” เพื่อนสนิทต่างวัยของ “ปริญ” (อายุ 54 ปี) เล่าถึงที่มาของการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของ EFORL

“ชายวัย 51 ปี” เล่าต่อว่า ด้วยความที่เรานั่งเป็นกรรมการใน “บริษัท อี ฟอร์ แอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” ประกอบกับมีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับเจ้าของบริษัทแห่งนี้ “ธีรวุทธิ์” ไม่ยอมระบุความสัมพันธ์ชัดเจน จึงตัดสินใจนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอต่อผู้ถือหุ้นใหญ่

ตอนนั้นเราไปถามหุ้นใหญ่ว่า สนใจนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในลักษณะที่ไม่ต้องขายหุ้น IPO หรือไม่ หลังจากเกริ่นเรื่องนี้ไปไม่นาน เราใช้เวลาคุยกันต่ออีก 3-4 เดือน EFORLก็ประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนในวงจำกัด ต่อจากนั้นกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจจึงเกิดขึ้น

“เมื่อธุรกิจกำลังรีเทิร์น ผู้ถือหุ้น EFORL ย่อมมีโอกาสได้รับเงินปันผล”

“ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” เล่าแผนธุรกิจสั้นๆในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2557-2561) ว่า เราจะเน้นขยายการเติบโตในธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือแพทย์เป็นหลัก โดยจะเพิ่มแบรนด์ใหม่ๆเข้ามา เพื่อดันยอดขายให้เพิ่มขึ้น ทำไมต้องรุกหนักธุรกิจนี้ เขาตอบว่า “มาร์จิ้นสูงมาก”

ด้วยความที่ธุรกิจดังกล่าวมีทั้ง “ขาขึ้นและขาลง” บริษัทจึงจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์ ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจความงามและสุขภาพ ปลายปีนี้คงได้ข้อสรุป โดยบริษัทจะใช้กระแสเงินสดที่มีอยู่มาลงทุน (บริษัทมีกระแสเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ วันที่ 31 มี.ค.2557 ประมาณ 409.74 ล้านบาท)

“3 ปีข้างหน้า (2557-2559) รายได้รวมต้องแตะ 3,000 ล้านบาท”

“ธีรวุทธิ์” ขยายความต่อว่า ในปี 2557 รายได้จากการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ต้องยืนระดับ 1,500 ล้านบาท โดยเราจะพยายามจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์มากขึ้น ปัจจุบันมีการประสานงานติดต่อแบรนด์สินค้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศมากกว่า 30 ยี่ห้อ โดยจะเร่งดำเนินการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า ล่าสุดได้นำเข้าสินค้ามาแล้ว 14-15 ยี่ห้อ

ที่ผ่านมาบริษัทเน้นเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น Hamilton GE และ Olympus เป็นต้น ขณะเดียวกันบริษัทยังจะเพิ่มทีมงานที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญมาเสริมทัพให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจเชิงรุก ด้วยการเดินเข้าหาลูกค้าภายในประเทศที่เป็นกลุ่มโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน

“ปีนี้จะเป็นปีแห่งการเทิร์นอะราวด์ เขาย้ำ เนื่องจากอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์เป็นสินค้าที่มีการเติบโตสอดคล้องกับธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเมืองไทยและภูมิภาคอาเซี่ยนยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”

เขาบอกว่า ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมด้านสุขภาพของเมืองไทยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 400,000 ล้านบาท คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของประเทศ แบ่งเป็นธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ 10 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 40,000 ล้านบาท

ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รวบรวมค่าเฉลี่ยอัตราการใช้เครื่องมือแพทย์ของประเทศที่เจริญแล้วไว้ระดับ 12 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ประเทศ จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังมีความต้องการอีกมาก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์

“ธีรวุทธิ์” พูดทิ้งท้ายว่า อยากเห็นด EFORL มีธุรกิจอยู่เหนือคู่แข่ง มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าอุตสาหกรรม และมีกระแสเงินสดคอยหล่อเลี้ยงต่อเนื่อง ที่สำคัญอยากให้บริษัทมีความเป็นสากลมากขึ้น

ส่วนในแง่ของการลงทุนอยากให้นักลงทุนถือหุ้น FORL“ระยะยาว” ไม่อยากให้มองเป็นการลงทุนสั้นๆ หรือเก็งกำไร เพราะธุรกิจของเราจะมีการเติบโตอย่างแน่นอน หากอุตสาหกรรมขยายตัว

“หากไม่มีอะไรผิดพลาดปี 2558 บริษัทจะย้ายการซื้อขายจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (SET) เมื่อย้ายไปแล้วราคาหุ้นคงดีขึ้น”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น