วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไพรเวทแบงกิ้ง ไพรเวทฟันด์


ไพรเวทแบงกิ้ง ไพรเวทฟันด์

คอลัมน์ วันอังคารที่ 02 กรกฎาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

กว่า 250 ปีมาแล้วที่บริการธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ที่เรียกว่า ไพรเวท แบงกิ้ง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งซุกซ่อนความร่ำรวยส่วนตัวสำหรับคนที่อยากหลบหนีการตรวจสอบทางการเงินของตนเองโดยสื่อ หน่วยงานรัฐ หรือ กระทั่งนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามที่วางใจได้ว่าปลอดภัย
ไม่เพียงเท่านั้น บรรดากลุ่มทุนธนาคารทั้งหลายจากทั่วโลก ก็รู้ดีเช่นกันว่า การเข้าไปถือหุ้นในธนาคารสวิสที่ทำธุรกรรมไพรเวท แบงกิ้งนั้น เป็นการทำกำไรชั้นยอดที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ
คำกล่าวที่ว่ามานั้น กำลังจะกลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว หลังจากที่กติกาว่าด้วยกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินและตอบโต้การให้สินเชื่อแก่การก่อการร้าย (AML/CFT - anti-money laundering and Counter Financing of Terrorism) เริ่มมีผลบังคับใช้ในระดับโลก โดยหน่วยงานชื่อว่า FATF (ซึ่งแม้ว่าจะมีชาติสมาชิกไม่ครบทั้งโลก แต่กติกาที่เอามาบังคับใช้มีผลครอบคลุมทั่วโลกอย่างเอาจริงเอาจัง)
สวิสที่กลายเป็นสวรรค์ของเศรษฐีที่สร้างตัวขึ้นมาจากธุรกิจสีเทาและสีดำทั้งหลาย จึงหมดเสน่ห์ไปโดยปริยาย เพราะว่า ศาสตร์และศิลปะของการซุกซ่อนเงินผ่านกลไกอันซับซ้อนที่สร้างขึ้นมาในฐานะศูนย์กลางการเงินออฟชอร์อันดับหนึ่งของโลกมายาวนานถูกบังคับให้ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
เงื่อนไขที่กำหนดให้ว่าด้วย CDD และ KYC (Client Due Diligence, Know your Client ) ซึ่งระบุเอาไว้เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับที่มาและที่ไปของความร่ำรวยในกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินและตอบโต้การให้สินเชื่อแก่การก่อการร้าย เพื่อแกะรอยและตามติด “พฤติกรรมน่าสงสัย (suspicious behavior)” นั้น ไม่อนุญาตให้ความลับได้มีเวทีมากเหมือนในอดีตอีกต่อไป
การฟอกเงิน ที่ FATF ระบุเอาไว้ว่ามี 21 มูลฐานความผิดนั้น เป็นเงื่อนไขบังคับให้เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน และธนาคารต้องทำหน้าที่เสมือน “ผู้สอดส่องและผู้รายงาน” ข้อมูลอันน่าสงสัยต่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแล (ฝ่ายกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารเจ้าหนี้ ธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลฟอกเงิน)
คำว่า “น่าสงสัย” ซึ่งมีความหมายกำกวมแบบนักกฎหมาย ทำให้การเก็บงำความลับซึ่งเคยเป็นจารีตของไพรเวทแบงก์ กลายเป็นความผิดได้ง่ายมาก หากมีการตรวจพบในภายหลัง จะถูกข้อหา “ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย”ได้ง่ายมาก
กรณีของการร่วมมือฟอกเงินให้กับกลุ่มทุนการเงินของอิหร่านโดยธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด หรือ สแตนชาร์ด ของอังกฤษ สาขานิวยอร์ก ซึ่งหน่วยงานกำกับการฟอกเงินของรัฐนิวยอร์กได้ตรวจพบเมื่อกลางปี 2555 ซึ่งผิดกฎหมายถึง 2 ฉบับสำคัญคือ กฎหมายว่าด้วยการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการทำธุรกรรมกับชาติศัตรู ซึ่งทำให้ธนาคารดังกล่าวถูกปรับเป็นเงินมากถึง 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพื่อแลกกับการได้สิทธิประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต่อไปในนิวยอร์กและสหรัฐ) ถือเป็นกรณีที่เป็นตัวอย่างของการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ที่มีนัยสำคัญ
หลังจากนั้น ปรากฏการณ์ที่หลายคนเชื่อว่าจบลงไปแล้วก็ยังมีรากงอกต่อมาอีก เพราะล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทบัญชีชื่อดังอันดับสองของโลก ดีลอยท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกรรมให้กับธนาคารสแตนชาร์ด ก็ได้ถูกหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐ คือ Department of Financial Services (ทำนองเดียวกับ ปปง.ของไทยเรา) เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในข้อหาว่า ไม่ได้ใช้ความรอบคอบเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และห้ามการรับลูกค้าใหม่ในสหรัฐเป็นเวลา 6 เดือน
การปรับเป็นเงินเพื่อชดเชยความผิด เป็นมาตรการเบื้องต้นของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกรรมการเงิน ในกรณีที่ผู้ถูกตรวจสอบมีความผิดจากการให้ความร่วมมือทำผิดกฎหมายในทางอ้อม แต่ไม่ได้กระทำความผิดโดยตรง หากผู้ถูกกล่าวหายอมรับเสียค่าปรับ ก็จะไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาที่จะทำให้มีปัญหาตามมามากมาย เพราะคดีอาญาบางกรณีนั้น เป็นคดีที่ไม่สามารถประนีประนอมยอมความได้
สำหรับ ดีลอยท์ การเสียเงินค่าปรับแม้จะมากพอสมควรสำหรับธุรกิจบริการก็จริง แต่ก็ยังถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายทางด้านชื่อเสียงที่ย่อยยับ ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ดีลอยท์ จะสามารถกอบกู้ชื่อเสียงกลับมาได้มากน้อยเพียงใดในอนาคต หรือจะมีชะตากรรมเดียวกันกับบริษัทบัญชีชื่อดัง อาร์เธอร์ แอนเดอร์สัน เมื่อสิบปีก่อนที่ล่มสลายไปกับกรณีการฉ้อโกงของบริษัทน้ำมัน เอนรอน (Enron) อันอื้อฉาว
กรณีของดีลอยท์ โยงมาถึงธนาคารไพรเวท แบงกิ้งในสวิส เพราะหลายเดือนมานี้ ธนาคารสวิสเก่าแก่ที่เคยประวัติการทำธุรกรรมไพรเวท แบงกิ้งมานานกว่าร้อยปี หลายรายเริ่มประกาศปิดตัวเอง เพราะถูกปรับจากกรณีของการละเมิดกติกาของกฎหมาย AML/CFTและเสียค่าปรับเป็นเงินมากเกินจนเกินส่วนของผู้ถือหุ้น
บรรดาธนาคารหรือกลุ่มทุนต่างชาติที่เคยเข้ามาร่วมหุ้นหรือซื้อกิจการในสวิสเซอร์แลนด์เพื่อทำไพรเวท แบงกิ้ง พากันร้อนตัวไปตามๆ กัน เพราะอาจจะตกอยู่ในฐานะจำเลยของหน่วยงานกำกับดูแลเรื่อง AML/CFT เมื่อใดก็ได้
การถอนตัวจากการถือครองหุ้นธนาคารสวิส จึงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นไม่อาจเลี่ยงได้ บริษัทวิจัยธุรกิจชื่อดังระดับโลก แมคคินซีย์ ระบุในผลการสำรวจล่าสุดว่า 30% ของธนาคารที่เน้นทำธุรกรรมไพรเวท แบงก์กิ้งในยุโรป ถูกลูกค้าไถ่ถอนเงินหนีเพราะกลับถูกตรวจสอบ และธนาคารหกหลายแห่งโดยเฉพาะในสวิส เริ่มมีปัญหาขาดทุนในการดำเนินงานจากปัญหาดังกล่าว
ส่วนหนึ่งในบริษัทระดับโลกที่ถอนตัวจากไพรเวทแบงกิ้งในสวิส ได้แก่ Lloyds Banking Group Plc และ HSBCของอังกฤษ รวมทั้งบริษัทประกันภัยอันดับหนึ่งของอิตาลี Generali
อนาคตที่ห่อเหี่ยวของไพรเวท แบงกิ้ง อันเนื่องมาจากกฎหมาย AML/CFT เป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา ไม่ใช่เรื่องแปลก
ในทำนองเดียวกันก็เตือนสติบรรดาบริษัทที่สนใจทำธุรกิจด้าน ไพรเวทฟันด์ ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเอเชียที่มีเศรษฐีใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นว่า หากไม่ใส่ใจกับข้อกฎหมายว่าด้วยต่อต้านการฟอกเงินและตอบโต้การให้สินเชื่อแก่การก่อการร้าย หรือไม่ปฏิบัติตามกติกา CDD และ KYC อย่างรอบคอบ ก็มีสิทธิพับฐานได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น