บทความ ""การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค (2) : รู้จัก “เซียนเทคนิคอลคนแรก”" โดย สฤณี อาชวานันทกุล
บทความ ""การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค (2) : รู้จัก “เซียนเทคนิคอลคนแรก”" โดย สฤณี อาชวานันทกุล
ตอนที่แล้วพูดเรื่อง “เหตุผลวิบัติของนักพนัน” ว่าเป็น “อคติการรับรู้” (cognitive bias) ที่ฝังลึกตั้งแต่เกิดในสมองของมนุษย์เราทุกคน
ส่งผลให้เรามักจะเชื่อว่ากำลัง “มือขึ้น” กับซีรีส์เหตุการณ์ที่แท้จริงแล้วเป็นเอกเทศจากกันและเป็นเรื่องของความบังเอิญล้วนๆ อย่างเช่นการทอยลูกเต๋าหรือโยนเหรียญเสี่ยงทาย
ผู้เขียนทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า เหตุผลวิบัติข้อนี้เกิดกับนักลงทุนในตลาดหุ้นด้วยหรือเปล่า
สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้คำถามนี้คือ ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะถ้าตลาดมีประสิทธิภาพจริงๆ แปลว่าราคาหุ้นทุกชั่วขณะได้สะท้อนข้อมูลทั้งหมดทั้งอดีตและปัจจุบันที่ส่งผลต่อราคา ณ ขณะนั้นแล้ว และจะปรับตัวทันทีที่มีข้อมูลใหม่ออกมา
พูดง่ายๆ คือ ถ้าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ เหตุผลวิบัติของนักพนันก็น่าจะเกิดกับนักลงทุนเป็นปกติด้วย เพราะราคาหุ้นแต่ละวันถึงแม้ไม่ใช่ “เหตุบังเอิญ” เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา ราคาหุ้นในวันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับราคาหุ้นวันพรุ่งนี้หรือเมื่อวาน เพราะราคาหุ้น “อยู่กับปัจจุบันขณะ” ถ้าใช้ภาษาพระ
แต่ถ้าเหตุผลวิบัติของนักพนันเกิดกับนักลงทุนเป็นปกติ ก็แปลว่านักลงทุนไม่ได้ตัดสินใจซื้อขายอย่างมีเหตุมีผล (คำนึงถึงข้อมูลต่างๆ) ตลอดเวลา แต่ใช้อารมณ์และมีอคติ ในเมื่อราคาหุ้นเป็นผลจากการตัดสินใจซื้อขายของนักลงทุนรวมกัน ก็น่าจะแปลว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพสิ
คำถามข้อนี้จึงดูขัดแย้งในตัวเองน่าเวียนหัว เป็นปัญหาเขาควายที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
นัยสำคัญประการหนึ่งของทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพคือ ไม่มีประโยชน์ที่จะพยากรณ์ราคาหุ้นในอนาคตจากราคาหุ้นในอดีต ฉะนั้นวิธีวิเคราะห์ทางเทคนิค (technical analysis) นานาชนิด หรือชื่อเล่น “เทคนิคอล” อันหมายถึงการพยากรณ์ราคาตลาดด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลและกราฟการซื้อขายในอดีตนั้น จึงไม่ใช่ “หลักวิชา” อันใด อย่างมากก็เป็นแค่ “อุปาทาน” ของคนใช้เท่านั้น
นักลงทุนที่ใช้เทคนิคอลอาจรู้สึกว่าเทคนิคอลช่วยให้เขาได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาอาจจะแค่ “โชคดี” หรือไม่ก็ “มีเซ้นส์” ในการจับจังหวะซื้อขาย ไม่ใช่ว่าเครื่องมือเจ๋งจริงแต่อย่างใด
หลายคนอ่านแล้วคงสงสัยว่า ถ้าหากเทคนิคอลใช้ไม่ได้จริง แล้วทำไมบริษัทหลักทรัพย์ไทยแทบทุกบริษัทถึงได้มีฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค ผลิตบทวิเคราะห์ทางเทคนิค จัดการอบรมทางเทคนิค ศัพท์เทคนิคอลอย่าง “แนวรับ” “แนวต้าน” “พักฐาน” และ “ไปต่อ” ถูกใช้เป็นกิจวัตรตามหน้าสื่อ และเซียนหุ้นหลายคนทั้งไทยและเทศที่ร่ำรวยจากการเล่นหุ้นก็ยืนยันว่า เทคนิคอลนี่แหละคือเบื้องหลังความสำเร็จ
ลองมาดูเรื่องราวของเซียนเทคนิคอลคนแรกที่โด่งดังระดับโลก รวมถึงการถกเถียงและทดสอบหลักการลงทุนของเขานานนับร้อยปีหลังจากนั้น เผื่อจะช่วยเราตอบคำถามข้อนี้และคลี่คลายปัญหาเขาควายข้างต้นได้
จุดกำเนิดของวงการเทคนิคอลไม่มีที่มาแน่ชัด แต่เนื้อหาในบทบรรณาธิการกว่าสองร้อยชิ้นของ ชาร์ลส์ ดาว (Charles Dow) นักข่าวผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้ถูกรวบรวมและสังเคราะห์หลังจากที่เขาล่วงลับในปี 1902 ตั้งชื่อให้เกียรติว่า “ทฤษฎีดาว” (Dow Theory) ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของวงการเทคนิคอลทั้งวงการ
ชาร์ลส์ ดาว ไม่ได้โด่งดังในฐานะผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกเท่านั้น แต่เขายังเป็นคนประดิษฐ์ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) ซึ่งสะท้อนราคาหุ้นของบริษัทผู้นำอุตสาหกรรม 30 แห่งในตลาดหุ้นสหรัฐ ปัจจุบันเป็นดัชนีหุ้นที่ถูกติดตามมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เซียนเทคนิคอลคนแรกจึงไม่ธรรมดาด้วยประการทั้งปวง
“ทฤษฎีดาว” มีองค์ประกอบหกข้อ สรุปอย่างย่นย่อได้ว่า
1. การเคลื่อนไหวของตลาดมีสามประเภท คือ “ทิศหลัก” (main movement) ซึ่งเป็นเทรนด์หลัก ตลาดจะเคลื่อนในทิศทางนี้เป็นเวลาหนึ่งปีหรือมากกว่าหนึ่งนั้น จะเป็นตลาดขาขึ้นหรือขาลงก็ได้, “แกว่งกลาง” (medium swing) หมายถึงปฏิกิริยาที่แกว่ง 33-66% จากราคาหลักนับจากช่วงแกว่งกลางหรือช่วงทิศหลักก่อนหน้า กินเวลาตั้งแต่ 10 วันถึง 3 เดือน, และ “แกว่งสั้น” (short swing) หรือการเคลื่อนไหวทีละนิดที่เปลี่ยนไปตามความคิดเห็นในตลาด อาจกินเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ การเคลื่อนไหวสามประเภทนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมกันก็ได้
2. เทรนด์ตลาด (ผู้เขียนใช้คำนี้ทับศัพท์แทนคำไทยว่า “แนวโน้ม” เนื่องจากในวิธีคิดของเทคนิคอล market trend หมายถึงแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ใช้ในความหมายปกติที่ไม่รู้อนาคต) มีสามช่วง ได้แก่ 1) ช่วงเก็บของ (accumulation phase) หมายถึงช่วงที่นักลงทุน “หูไว” กำลังซื้อหรือขายหุ้นในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับตลาด ช่วงนี้ราคาจะไม่ปรับตัวมากนักเพราะนักลงทุนหูไวยังเป็นส่วนน้อยอยู่ แต่สุดท้ายตลาดก็จะตามทัน คนแห่กันทำตามจนเข้าสู่ 2) ช่วงแห่เข้า (public participation phase) ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็ว ช่วงนี้จะกินเวลานานจนเกิดการเก็งกำไรอย่างกว้างขวาง จนเข้าสู่ 3) ช่วงปล่อยของ (distribution phase) เมื่อนักลงทุนหูไวซื้อหรือขายหุ้นออกมา
3. ตลาดหุ้น “ซึมซับ” ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทันทีที่รับรู้ ราคาหุ้นปรับตัวสะท้อนข้อมูลใหม่ในพริบตา เรื่องนี้ทฤษฎีดาวเห็นตรงกับกฎหลักของทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ
4. ดัชนีหุ้นจะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กัน ในยุคของดาวอเมริกาเป็นประเทศอุตสาหกรรมดาวรุ่ง สินค้าต่างๆ ถูกส่งไปขายผ่านรางรถไฟ ดาวประดิษฐ์ดัชนีหุ้นสองตัว คือ ดัชนีบริษัทอุตสาหกรรม กับดัชนีบริษัทรถไฟ ดาวมองว่าดัชนีอุตสาหกรรมจะพุ่งแรงไม่ได้ถ้าหากดัชนีรถไฟไม่พุ่งด้วย เพราะถ้าบริษัทอุตสาหกรรมมีกำไรดีขึ้นก็แปลว่าพวกเขากำลังส่งสินค้ามากขึ้นไปขายทางรถไฟ ถ้าดัชนีสองตัวนี้เคลื่อนไหวคนละทางก็แปลว่ากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่บางอย่าง
5. ปริมาณการซื้อขายยืนยันเทรนด์ ดาวเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวพร้อมกับมีปริมาณการซื้อขายมากๆ จุดนั้นก็สะท้อนมุมมองของตลาด “ที่แท้จริง” และแปลว่าเทรนด์ตลาดกำลังเกิดขึ้นจริงๆ
6. เทรนด์ตลาดจะดำรงอยู่จนกว่าจะมีสัญญาณว่ามันจบ ดาวเชื่อว่าเทรนด์ตลาดมีอยู่จริงถึงแม้จะมี “คลื่นรบกวน” (market noise) มากมายในตลาดก็ตาม เขาเชื่อว่าตลาดอาจจะเคลื่อนไหวในทิศที่ตรงข้ามกับเทรนด์อยู่บ้าง แต่ไม่นานมันก็จะขึ้นหรือลงตามเทรนด์เช่นเดิม
แน่นอน การดูว่า “จุดพลิกผัน” นั้นเป็นแค่การเคลื่อนไหวชั่วคราว หรือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์ใหม่ ต้องนับเป็นทักษะขั้นเทพ แม้แต่เซียนหุ้นที่เจริญรอยตามดาวก็เห็นไม่ตรงกัน
สรุปแล้วดาวคิดถูกหรือคิดผิด งานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่นำทฤษฎีดาวไปทดสอบย้อนหลังกับราคาหุ้นจริงในอดีต (back-testing) บอกอะไรเราได้บ้าง?
ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างน่าสนใจคือ สตีเฟน บราวน์ อาจารย์สอนวิชาการเงินของผู้เขียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
โปรดติดตามตอนต่อไป
ที่มา BIZWEEKONLINE
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น