วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ธปท.แจงเอ็นพีแอลไม่พุ่ง



ธปท.แจงเอ็นพีแอลไม่พุ่ง

การเงินการคลัง วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2556
ผู้เข้าชม : 6 คน

ผู้บริหารของ ธปท. ออกมายืนยันว่า ยังไม่เห็นสัญญาณของตัวเลขหนี้เสียในระบบธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนปัญหาหนี้ “สหฟาร์ม” นั้น เชื่อมั่นแบงก์เจ้าหนี้จะบริหารจัดการได้ และไม่น่าห่วง

นายเกริก วาณิชกุล รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นจนน่ากังวลจากปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ลดลง โดยหากมองในมุมกลับเชื่อว่า การที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่งผลบวกให้ประชาชนระมัดระวังด้านการบริโภค และ เตรียมรับมือกับการใช้จ่ายได้อย่างทันท่วงที
ขณะเดียวกันภาคสถาบันการเงินก็พร้อมจะดูแล และปรับตัวในการบริหารจัดการธุรกิจ เช่นเดียวกับการดูแลภาคสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งธปท. ก็ยังคงติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ไม่เกิน 2.5% ของสินเชื่อที่ได้ปล่อยกู้ไปทั้งหมด
"ความสามารถชำระหนี้ครัวเรือนตอนนี้แม้ลดลง แต่ก็ยังไม่เห็นตัวเลขหนี้เสีย แต่กลับรู้สึกว่าไม่ได้เห็นภาพเร็วขนาดนั้น ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรมากนอกจากข่าวที่ออกมาว่าการบริโภคที่ลดลง และในยามที่หน่วยงานต่างๆ แจ้งว่าเศรษฐกิจจะแผ่วลงเท่ากับเป็นสัญญาณดีที่ประชาชนจะเก็บออมไว้เพื่อรอดูสถานการณ์ต่อไป ส่วนสินเชื่อบ้านหลังที่สาม ที่แบงก์คุมมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดี ถ้าเขาดูแลดีเราก็ไม่มีอะไรพิเศษ” นายเกริก กล่าว
ส่วนกรณีของปัญหาหนี้ของบริษัทสหฟาร์มนั้น นายเกริก กล่าวว่า วงเงินประมาณ 5 พันล้านบาทนั้น ไม่ถือว่าใหญ่มากเมื่อเทียบกับปริมาณหนี้เสียทั้งระบบ และเชื่อว่าสถาบันการเงินสามารถรับมือกับหนี้เสียที่เกิดขึ้นได้
นายเกริก กล่าวว่า ธปท. และธนาคารกลางฮ่องกงได้ร่วมกันแถลงถึงความร่วมมือพัฒนาการเชื่อมโยงระบบบาทเนตของไทยกับระบบ US Dollar Clearing House Automated Transfer System(USD CHATS) ของฮ่องกง โดยการพัฒนาระบบการชำระเงินไทยเพื่อรองรับการเชื่อมโยงระบบการโอนเงินมูลค่าสูงในลักษณะการชำระดุลในเวลาเดียวกันแบบข้ามพรมแดนด้วยกลไก Payment-versus-Payment (PvP) นี้คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2557
นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่าง HKMA และ ธปท. ในครั้งนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการชำระดุลธุรกรรมซื้อขายเงินบาท และ เงินดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้คู่สัญญาได้รับเงินตราต่างประเทศที่ทำการซื้อขายใน เวลาเดียวกัน และสนับสนุนให้ระบบการชำระเงินของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรองรับธุรกรรม ซื้อขายเงินตราต่างประเทศระหว่างเงินบาท และเงินดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสัดส่วนถึงร้อยละ 85 ของปริมาณธุรกรรมซื้อขายทั้งสิ้นในประเทศ และสนับสนุนให้ระบบการชำระเงินพร้อมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการค้าภายใต้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยการเชื่อมโยงระบบการโอนเงินแบบ PvP ดังกล่าวยังเป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมระบบด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเข้าไปดูข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการกองทุน หรือ AIMC พบว่าในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 8 เดือนก.ค. 2556 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระดับดีต่อเนื่อง โดยรอบนี้กองทุนตราสารทุนของบลจ.เอ็มเอฟซี บลจ.วรรณ และบลจ.กรุงไทย สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดเป็นอันดับต้นๆ
ประกอบด้วย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอ็มเอฟซี-นิชดาธานี ของบลจ.เอ็มเอฟซี ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 56.39% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก บลจ.วรรณ ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 14.44% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค บลจ.วรรณ ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 12.09% กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตลาดไท บลจ.กรุงไทย ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10.64%  และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ บลจ.กรุงไทย ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10.57%
นายกวีวัฒน์ โพธานันท์ ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้กองทุนอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทมีผลตอบแทนเติบโตในระดับสูง เป็นผลจากการคัดทรัพย์สินลงทุนอย่างละเอียดเข้มงวด การลงทุนดังกล่าวต่างจากการลงทุนในตราสารทุนค่อนข้างมาก เพราะการลงทุในหุ้นสามารถปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนระยะยาว ไม่สามารถปรับพอร์ตการลงทุนได้อย่างกองทุนตราสารทุน
ดังนั้น การเลือกสินทรัพย์การลงทุนสำหรับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท จะเน้นประเภทสินทรัพย์ที่จะเข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นฟรีโฮลด์ต้องอยู่ในทำเลที่ดี มีอัตราการเติบโตในระยะยาว หลังจากได้สินทรัพย์ที่มีคุณภาพแล้วบริษัทจะต้องมีการเจรจากับเจ้าของสินทรัพย์เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งขบวนการการจัดตั้งกองทุนอังหาริมทรัพย์ฯต่างๆ ของบริษัทจะไม่ค่อยง่ายนัก เนื่องจากบริษัทต้องการเพิ่มช่องทางผลตอบแทนจากการลงทุนให้กับนักลงทุนมากที่สุด
ส่วนช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ บริษัทเตรียมออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ 2-3 กองทุนด้วยกัน โดยคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเลือกสินทรัพย์และขอจัดตั้งกองทุนฯ
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM กล่าวว่า ช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้กองทุนอสังหาริมทรัพย์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงภาวะผันผวนของตลาดหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดซื้อขายกองทุนดังกล่าวขยับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เพราะกองทุนดังกล่าวสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระดับดี ความเสี่ยงจากการลงทุนอยู่ในระดับต่ำกว่าการลงทุนโดยตรงในตราสารทุน
สำหรับพอร์ตกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทในปัจจุบันมีทั้งหมด 5 กองทุนด้วยกัน ประกอบด้วย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ : TCIF กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี : DTCPF กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตลาดไท : TTLPF กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทลอินเวสเม้นต์ : TRIF และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าเทสโก้ โลตัส รีเทล โกรท : TLGF
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มสินทรัพย์ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทลอินเวสเม้นต์ ประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยการนำตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์เข้ามาในพอร์ตลงทุน คาดว่าการเพิ่มสินทรัพย์รอบนี้จะแล้วเสร็จภายในเร็วๆ นี้

ผลตอบแทนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 10 อันดับแรกที่ให้ผลตอบแทนดีสุด ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
ชื่อกองทุน 
YTD%
3 Month Return%
6 Month Return%
มูลค่าหน่วยลงทุน (บาท) 
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอ็มเอฟซี-นิชดาธานี
56.39
28.64
54.77
9.35
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก
14.44
11.61
14.44
10.00
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค
12.09
0.00
10.27
10.20
กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตลาดไท
10.64
5.11
10.09
21.50
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์
10.57
-9.33
10.57
13.60
กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย
10.16
9.09
3.39
17.90
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอ็มเอฟซี-อะเมซิ่ง อะลาฯ
9.51
0.88
7.48
11.40
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทลอินเวสเม้นต์
9.23
5.19
5.97
14.20
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน
7.00
-0.01
-3.19
12.00
กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์ฯ
5.99
5.99
8.17
11.18
ที่มา: สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ณ วันที่ 8 เดือนก.ค. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น