วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

THAIเจอวิกฤติ2เด้ง! กำไรวูบ-ปลดผู้บริหาร

THAIเจอวิกฤติ2เด้ง!
กำไรวูบ-ปลดผู้บริหาร

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 04 กรกฎาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 8 คน 

THAI วิกฤติผลประกอบการไตรมาส 2/56 ร่วงหนัก เป็นเหตุ “ดนุช บุนนาค” กลายเป็นแพะถูกปลดจากรองผู้อำนวยการ สายพาณิชย์ เพื่อดัน “โชคชัย ปัญญายงค์” ขึ้นแทน ล่าสุดเตรียมปรับแผนกลยุทธ์การตลาดช่วงครึ่งปีหลัง ตั้งธงเพิ่มรายได้จากปีก่อนอีก 15% เพื่อพยุงเป้ากำไรทั้งปี 6,000 ล้านบาท เชื่อจะไม่เลวร้ายกว่านี้อีกแล้ว

แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI  เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/56 ของการบินไทย  ถือเป็นไตรมาสที่เลวร้ายสุดไตรมาสหนึ่งของปีนี้ เป็นผลจากค่าเงินบาทแข็งค่าและเป็นช่วงโลว์ซีซั่นด้วย ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเหตุผลให้บอร์ดมีมติเมื่อ 21 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา สั่งโยกย้ายนายดนุช บุนนาค จากรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ ไปดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้า
ด้วยเหตุผลว่านายดนุชเป็นผู้มีประสบการณ์หลากหลาย ทั้งด้านสายการพาณิชย์ และเคยดูแลงานด้านการบริการภาคพื้น จึงเป็นผู้มีความเข้าใจถึงความรู้สึกและความต้องการของผู้โดยสารเป็นอย่างดี และเพื่อใช้ประสบการณ์มาช่วยงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
โดยมีมติโยกย้ายนายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ  มาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อาวุโสสายการพาณิชย์แทน เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ และเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ที่สามารถดูแลประสานงานกับสายงานอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
            นายโชคชัย ปัญญายงค์  รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ THAI ต้องปรับแผนกลยุทธ์การตลาดสร้างรายได้เพิ่มอีก 15% จากปีก่อน เพื่อให้สามารถคงเป้าหมายรายได้ปี 2556 ให้เติบโต 11% และมีกำไรสุทธิ 6,000 ล้านบาท  
เนื่องจากมีปัจจัยที่เหนือความคาดหมายมาส่งผลกระทบการดำเนินงานช่วงไตรมาส 2/56 (เม.ย.-มิ.ย.) คือ กรณีเงินบาทแข็งค่า ประกอบกับเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) ด้วย จึงทำให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน (Cabin Factor) อยู่ระดับต่ำ เฉพาะเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มี Cabin Factor เส้นทางต่างประเทศที่ 66.1% เส้นทางในประเทศ 72.6% และเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ที่ 76.3% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มี  Cabin Factor 76.9% อีกทั้งพบว่าช่วงปลายปีนี้จะมีสายการบินใหม่เพิ่มขึ้นอีกมาก เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการจัดทำแผนกลยุทธ์
“ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ยอมรับว่าเจอผลกระทบเรื่องเงินบาทแข็งค่าอย่างหนัก โดยค่าเงินเยนกับเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงประมาณ 17% ซึ่งเรามีรายได้จากสกุลเยน 20% เงินดอลลาร์ 10% ขณะต้นทุนใหญ่ในการดำเนินงานของเราคือน้ำมัน เราต้องใช้ดอลลาร์ซื้อ ประกอบกับเป็นช่วง Low Season ด้วย Cabin Factor จึงต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แถมปลายปีจะมีสายการบินใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ได้วางแผนไว้ เราจึงต้องปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ โดยตั้งเป้าต้องเพิ่มรายได้ครึ่งปีหลังอีก 15% จากปีก่อน เพื่อให้สามารถคงเป้าทั้งปีไว้ได้ ผมจะใช้เวลาทำแผนประมาณ 1  สัปดาห์จากนี้และจะเห็นผลภายใน 6 เดือน” นายโชคชัย กล่าว
สำหรับการปรับแผนเบื้องต้นจะมีทั้งการเปิดเส้นทางบินใหม่ ปรับความถี่เที่ยวบิน และขนาดเครื่องบินให้เหมาะสม  เริ่มจากตารางการบินฤดูหนาวเดือนตุลาคมนี้ โดยจะเปิดเส้นทางบินเพิ่ม 4 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-ฉงชิ่ง กับกรุงเทพฯ-ฉางชา ประเทศจีน โดยสายการบินไทยสไมล์ เพราะทั้ง 2 เมืองดังกล่าวมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) สูงมาก และมีประชากรเมืองละเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ และกรุงเทพฯ-เซนได กับกรุงเทพฯ-ฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น โดย THAI จะบริการเอง 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  และเดือนมกราคม 2557 จะเพิ่มเป็น 5-7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นยกเว้นวีซ่าให้กับคนไทย ส่วนเรื่องเงินเยนอ่อนค่าก็ยังเป็นผลดีกับ THAI เพราะจะทำให้คนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้น
ส่วนกรณีสายการบินไทย แอร์เอเชีย เอกซ์ มีแผนเปิดบินญี่ปุ่นช่วงปลายปีนี้นั้น ยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบให้อัตราผู้โดยสารของ THAI เติบโตลดลงแต่ไม่มากจนมีนัยสำคัญ โดยเรื่องที่ THAI กังวลมากกว่านั้น คือการที่ All Nippon Airway (ANA) ซึ่งเป็นสายการบินสัญชาติญี่ปุ่นเจ้าของพื้นที่จะขยายฝูงบิน รวมถึงการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในแถบยุโรป ซึ่งส่งผลให้มีอัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจะส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลงอีกช่วงปลายปีนี้
“เรื่องไทย แอร์เอเชีย เอกซ์ เราไม่ค่อยกังวลมาก เพราะคนญี่ปุ่นไม่ค่อยตอบสนองกับสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ แต่ที่เรากลัวคือ ANA จะขยายฝูงบิน นี่เป็นนัยสำคัญที่เราต้องดูเพราะเขาเป็นเจ้าถิ่น  เบื้องต้นเราต้องพยายามผูกมัดผู้โดยสารญี่ปุ่นไว้กับเราให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าคนญี่ปุ่นแฮปปี้กับ THAI มาก และเรายังถือเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-ญี่ปุ่นมากสุดที่ 20-30%” นายโชคชัย  กล่าว  
นอกจากนี้ THAI จะปรับความถี่เที่ยวบินในบางเส้นทาง เช่น กรุงเทพฯ-ซับโปโร (ญี่ปุ่น) จะเพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพฯ-มอสโก (รัสเซีย) เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากปัจจุบัน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ปรับขนาดเครื่องบินให้เหมาะสมกับความต้องการเดินทาง เช่น กรุงเทพฯ-โคลัมโบ (ศรีลังกา) มีการปรับลดขนาดเครื่องบินลง เพราะ THAI ใช้เครื่องบินขนาด 300 ที่นั่ง แต่มีผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ย 160-170 ที่นั่งเท่านั้น รวมทั้งปรับราคาขายเส้นทางประเทศอินเดียซึ่งมีการตอบรับจากผู้โดยสารดีมาก
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้สถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทมีความเสี่ยงน้อยลง และมั่นใจว่าเงินเยนจะไม่อ่อนค่ามากไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะภาวะปัจจุบันถือว่าย่ำแย่ที่สุดแล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันต่ำกว่าปีก่อน ซึ่ง THAI ทำประกันความเสี่ยงไว้ 80% ประกอบกับ THAI มีเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้นอีก 17 ลำ ทำให้มีพื้นที่รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 9% และต้นทุนน้ำมันลดลงประมาณ 3-4% จากปกติ THAI มีต้นทุนน้ำมัน 82,000 ล้านบาทต่อปี โดย THAI จะทยอยรับมอบเครื่องบินไปจนถึงปี 2560 รวมมีเครื่องบินใหม่ 58 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นเครื่องบินเช่าประมาณ 20-30%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น