ข่าวเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556



“บ้านปู” ใช้เน็ตเวิร์ก ตปท.รุกธุรกิจไฟฟ้า ปี 57 สรุปผลศึกษาทำเหมืองมองโกเลีย


“บ้านปู” สบช่องใช้เน็ตเวิร์กฐานธุรกิจในต่างประเทศเสาะหาลู่ทางการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินต่างประเทศทั้งอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ลุ้นเห็นสัดส่วนกำไรจากธุรกิจไฟฟ้ามากกว่า 30% ในปี 58 หลังโรงไฟฟ้าหงสาเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เผยเตรียมเดินหน้าพัฒนาเหมืองถ่านหินที่มองโกเลียหลังได้ข้อสรุปผลศึกษาต้นปี 57 ยันราคาถ่านหินโลกพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แย้มบริษัทฯ ได้เซ็นเอ็มโอยูเพื่อช่วยศึกษาการพัฒนาโรงไฟฟ้าโคเจน และโรงไฟฟ้าในนิคมฯ ที่มองโกเลีย

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ หาโอกาสการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในต่างประเทศทั้งอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดยอาศัยเน็ตเวิร์กของบริษัทฯ มีฐานการผลิตถ่านหินอยู่แล้ว โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบ้านปูได้ลงทุนธุรกิจถ่านหินมาก แต่ไม่ได้มีการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและมีการขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ทำให้โครงสร้างกำไรของบริษัทฯ มาจากธุรกิจถ่านหินกว่า 80% เมื่อราคาถ่านหินผันผวนลดลงย่อมกระทบต่อผลการดำเนินงานบริษัทฯ ทำให้ต้องวางตำแหน่ง (Position) ของบริษัทฯ ใหม่

โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรของธุรกิจไฟฟ้าประมาณ 30% ของกำไรทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าปากเหมืองที่เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ โดยมีความคืบหน้าไปแล้ว 50% คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์เริ่มยูนิตแรกเดือน มิ.ย. 58 ยูนิตที่ 2 พ.ย. 58 และยูนิตที่ 3 มี.ค. 59 ทำให้สัดส่วนกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียง 30% ของกำไรรวม และหากมีโอกาสเข้าไปซื้อหรือถือหุ้นในโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ต่างประเทศเพิ่มเติมจะทำให้สัดส่วนกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าในปี 2558 อาจมากกว่า 30% ก็ได้

การตัดสินใจเข้าไปซื้อกิจการหรือลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศนั้นจะต้องมีผลตอบแทนที่ดี และสร้างรายได้ทันที ซึ่งแหล่งเงินในการซื้อกิจการนั้นไม่กังวลว่ากระแสเงินสดในมือจะไม่เพียงพอ เพราะบริษัทฯ ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นหนี้ดอลลาร์มากขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายลดลง และสามารถก่อหนี้ได้อีกมาก

ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลไทยมีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าไอพีพีที่ผลิตจากถ่านหิน บริษัทฯ ก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปร่วมประมูลเนื่องจากมีพื้นที่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้อีก 1,000 เมกะวัตต์ติดกับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่จังหวัดระยอง แต่เชื่อว่าโอกาสสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยเป็นไปได้ลำบาก ทั้งมีอุปสรรคด้านการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และโรงไฟฟ้าต้องอยู่ใกล้ท่าเรือน้ำลึกเพื่อสะดวกในการขนถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น

นายชนินท์กล่าวถึงทิศทางราคาถ่านหินว่า ขณะนี้ราคาถ่านหินในตลาดโลกประมาณ 87 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.ที่เฉลี่ย 85 เหรียญสหรัฐ/ตัน เชื่อว่าราคาถ่านหินน่าจะพ้นระดับต่ำสุดแล้วเนื่องจากความต้องการใช้ถ่านหินในตลาดโลกไม่ได้ลดลงโดยเฉพาะตลาดเอเชียทั้งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีมีการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น แต่เหมืองถ่านหินคุณภาพต่ำบางแห่งต้องหยุดไปทำให้ราคาขยับเพิ่มขึ้นบ้าง ไม่เกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นในช่วงนี้ โดยบริษัทฯ ได้มีการขายถ่านหินล่วงหน้าสำหรับปีนี้ไปมากแล้วในราคาตลาดโลก และเริ่มวางแผนการตลาดสำหรับปีหน้า และมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนการผลิตให้มากขึ้นเพื่อรักษากระแสเงินสดให้มากเพื่อเตรียมพร้อมลงทุนในอนาคตหากมีโอกาสที่ดี

“ในปีที่ผ่านมาทรัพย์สินของบ้านปู ไม่ว่าจะที่ออสเตรเลีย อินโดนีเซียมีผลกำไรทั้งสิ้น แม้ว่าราคาถ่านหินจะต่ำลงมากก็ตาม โดยออสเตรเลียมีกำไรเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการควบคุมต้นทุนการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง”

รุกทำเหมืองถ่านหินในมองโกเลีย


นายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมเข้าไปพัฒนาเหมืองถ่านหินที่มองโกเลีย หลังจากบริษัทฯ ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท Hunnu Coal ซึ่งมีแหล่งถ่านหินประเภทให้ความร้อน (Thermal Coal) และถ่านหินคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก (Coking Coal) อยู่ประมาณ 15 แหล่ง โดยโครงการซานต์ อูล คาดว่ามีปริมาณถ่านหินสำรอง 50-60 ล้านตัน ซึ่งบ้านปูอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานเพื่ออัปเกรดถ่านหินสร้างมูลค่าเพิ่ม คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ และหากตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานก็น่าจะแล้วเสร็จในปลายปีหน้า

ซึ่งกระบวนการผลิตของโรงงานดังกล่าวจะอุ่นถ่านหินทำให้เกิดก๊าซฯ มีเทนเพื่อขายไปยังโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็จะมีทาร์ออยล์ขายให้โรงงานผลิตเป็นน้ำมันดีเซลต่อไป ส่วนถ่านหินที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้วยังสามารถขายได้อีกแต่ราคาต่ำลง

นอกจากนี้ บ้านปูได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเหมืองถ่านโค้ก ซึ่งมีปริมาณสำรอง 100 ล้านตัน ปัจจุบันราคาถ่านโค้กเฉลี่ยตันละ 100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าราคาถ่านหินทั่วไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีหน้า และใช้เวลาพัฒนาเหมืองประมาณ 2 ปี โดยถ่านโค้กที่ผลิตได้จะส่งขายไปยังจีนเป็นหลัก

นายวรวุฒิกล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นได้ในการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินในจีนเพิ่มเติมจากที่ผลิตอยู่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีหน้า เนื่องจากต้องประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตก่อน

เมื่อเร็วๆ นี้บ้านปูได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมของมองโกเลียจำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ 1. ศึกษาวิเคราะห์โอกาสในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Heat and Power Plant – CHP หรือโรงไฟฟ้า Co-gen) ในประเทศมองโกเลีย โดยเอ็มโอยูดังกล่าวมีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.56-28 เม.ย. 57 และ 2. ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรม Coal Chemical ในนิคมอุตสาหกรรมที่มองโกเลีย คาดว่าผลศึกษาดังกล่าวจะเสนอให้รัฐบาลมองโกเลียได้ในปีหน้า

บ้านปูกำไรไตรมาส 1 วูบ 57%

นายชนินท์กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2556 ว่า บ้านปูฯ มีรายได้จากการขายรวม 835 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,905 ล้านบาท ลดลง 9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 31 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 925 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 57% เนื่องจากราคาขายถ่านหินในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีราคาเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 76.91 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ย 92.08 เหรียญสหรัฐ/ตัน

โดยรายได้รวมในไตรมาสนี้ แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายถ่านหิน 770 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 22,962 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 92% ของรายได้จากการขายรวม ขณะที่มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 3 แห่งในประเทศจีน จำนวน 57 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ1,705 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ จำนวน 8 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนปริมาณการผลิตและขายถ่านหินในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 0.74 ล้านตัน เป็น 9.97 ล้านตัน ทั้งนี้เป็นผลจากการที่แหล่งผลิตในอินโดนีเซียมีผลการดำเนินงานที่ดีในช่วงฤดูฝนด้วยปริมาณผลิตและขายจำนวน 7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.29 ล้านตัน ขณะที่ธุรกิจถ่านหินในออสเตรเลียมีปริมาณผลิตและขายลดลง 0.55 ล้านตัน

สำหรับธุรกิจถ่านหินในประเทศจีนรายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 10.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ขณะที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีดำเนินการผลิตและขายไฟฟ้าได้ดี โดยบันทึกส่วนแบ่งกำไรจำนวน 17.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 510 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากไตรมาส 1/2555