อุตฯค้าปลีกกระอักกำลังซื้อวูบ 1.2 แสนล้าน ประชานิยมดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง-ค่าครองชีพสูง เตือนผู้ประกอบการตั้งรับแรงกดดัน
อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งปี 2556 เผชิญปัญหา “กำลังซื้อหดตัว” อย่างต่อเนื่อง แรงซื้อส่วนใหญ่ถูกใช้จ่ายไปกับการซื้อรถยนต์คันแรก รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องจากการใช้รถยนต์ ขณะที่ค่าครองชีพขยับสูงขึ้น ทั้งค่าพลังงาน อุปโภคบริโภค ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ส่งผลช่วงครึ่งปีแรกนี้ขยายตัวเพียง 8% ต่ำกว่าคาดการณ์ พร้อมปรับตัวเลขการเติบโตปีนี้ลงเหลือ 9% ต่ำสุดในรอบหลายปี
นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้อยู่ในภาวะ “ทรงตัว” เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในระบบขยายตัวสูง ทำให้กำลังซื้อลดลง โดยสมาคมฯ คาดการณ์ธุรกิจค้าปลีกมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาทในปีนี้จะขยายตัวเพียง 9% ลดลงจากเดิมคาดการณ์เติบโต 10-12% หรือมูลค่าในการบริโภคหายไปกว่า 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1-2% ของจีดีพีประเทศ
สาเหตุที่ภาคค้าปลีกขยายตัวต่ำ เป็นผลโดยตรงจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากภาระการผ่อนรถยนต์คันแรก การซื้อมือถือและอุปกรณ์ไอที ขณะเดียวกันผู้บริโภคต้องเผชิญปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้งราคาอาหารในชีวิตประจำวัน ค่าโดยสาร เชื้อเพลิง ประการสำคัญขาดแรงกระตุ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ธุรกิจค้าปลีกทุกประเภทเติบโตลดลงในปีนี้
โดย “ซูเปอร์เซ็นเตอร์” คาดการณ์เติบโต 7% จากปีก่อนเติบโต 10% ร้านคอนวีเนียนสโตร์ หรือ ร้านสะดวกซื้อ เติบโต 12% เทียบปีก่อนเติบโต 18% ห้างสรรพสินค้า เติบโต 7.5% เทียบปีก่อนเติบโต 12% ร้านค้าปลีกเฉพาะอย่าง หรือ สเปเชียลตี้สโตร์ เติบโต 11.5% เทียบปีก่อนเติบโต 18% ส่วนร้านค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ต เติบโต 8% ลดลงจากปีก่อนเติบโตในระดับ 10%
“ค้าปลีกปีนี้ค่อนข้างช็อก จากช่วงไตรมาสแรกตัวเลขเติบโตดี แต่หลังจากเดือนมี.ค. เป็นต้นมากำลังซื้อแผ่วลง การอัดฉีดเงินของภาครัฐไม่ได้ผล เม็ดเงินบริโภคหายไป 1.2 แสนล้านบาท หรือ 1-2% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งเวลานี้ประชาชนใช้กำลังเครดิตของตัวเองเต็มเพดาน หมดโอกาสจะไปใช้ต่อ”
สมาคมฯ เชื่อว่า ผลจากหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้ภาคครัวเรือนตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นมากขึ้นในครึ่งปีหลัง ทั้งสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน
จี้รัฐหนุน9มาตรการฟื้นเศรษฐกิจ
นางสาวบุษบา กล่าวต่อว่า รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเพื่อให้เกิดการกระตุ้นและหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ย) และมาตรการทางการคลัง (การลดหย่อนภาษี) ซึ่งเห็นผลได้ช้า เนื่องจากภาวะธุรกิจ “แผ่วลง” ในทุกภาคส่วน ยกเว้นการท่องเที่ยว และการค้าชายแดน จะมีแนวทางส่งเสริมและเชื่อมโยงไปกับภาคการค้าปลีกได้อย่างไร
“หากรัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณไหลออกมาได้เร็วเท่าไร เชื่อว่าจะกระตุ้นเม็ดเงินสะพัดในระบบได้มาก ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ต้องผลักดันให้ออกในต้นปีงบประมาณเดือนต.ค. นี้ทันที จากปกติจะไปเริ่มใช้ปีถัดไป ซึ่งตามคาดการณ์หากไหลเข้ามา 1.5 ล้านล้านบาทในเบื้องต้น เชื่อว่าจะทำให้ภาพรวมปรับตัวดีขึ้น”
ทั้งนี้ สมาคมฯ มีข้อเสนอมาตรการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีศักยภาพ รวม 9 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ 1.รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น ทั้งหมวดอาหาร ค่าโดยสาร และ ค่าเชื้อเพลิง 2.รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ และอำนวยความสะดวกในลักษณะ single window 3.รัฐต้องหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน 4.เร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ให้เสร็จโดยเร็ว
5.รัฐบาลควรเปิดช่องให้ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เข้ามาดูแลกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ในลักษณะ Fast Track เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง 6.รัฐต้องกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อที่จะผลักดันให้การท่องเที่ยวบรรลุ 2.2 ล้านล้านบาท ผลักดันประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการชอปปิงของเอเชียในทุกแขนงธุรกิจค้าปลีก (Shopping Destination Asia in All Segments) 7.รัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนผู้ค้าปลีกไทยไปลงทุนในอาเซียนอย่างชัดเจน เพื่อส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ สามารถขยายธุรกิจตามไปด้วย
8.รัฐบาลต้องกำหนดให้บีโอไอ เป็นศูนย์กลางประสานการลงทุนในอาเซียนในลักษณะวันสต็อปเซอร์วิส เช่นเดียวกับ เจโทร (JETRO) ประเทศญี่ปุ่น 9.มาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศกว่า 26 ล้านคน รัฐบาลควรพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าลักชัวรีแบรนด์ อาทิ เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องสำอาง เป็นต้น เหลือระดับ 0-5% เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งจูงใจนักชอปปิงชาวไทยจับจ่ายภายในประเทศ แทนที่จะนำเงินตราไปใช้จ่ายยังต่างประเทศ “จากรายงานของโกลบอลบลู พบว่า คนไทยจับจ่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ในภาคพื้นยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 56% ในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 18% ในเดือนก.พ. และเพิ่มขึ้น 38% ในเดือนมี.ค. เป็นอันดับ 6 รองมาจากนักชอปชาวจีน รัสเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และอเมริกัน”
ลดภาษีหนุนเพิ่มรายได้อุตฯท่องเที่ยว
ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวสูง สามารถ “ต่อยอด” เชื่อมโยงไปกับอุตสาหกรรมค้าปลีกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยกว่า 12 ล้านคนในครึ่งปีแรก สูงขึ้น 20% เทียบปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางออกนอกประเทศสูง 17.7% ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลังนี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ
“รัฐต้องลดกำแพงทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกค้าส่งไทย และส่งเสริมให้แข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะฮ่องกง สิงคโปร์ หากสามารถลดภาษีสินค้านำเข้าลงเหลือ 0-5% จะสร้างแรงกระเพื่อม (Impact) และพลิกโฉมค้าปลีกไทยก้าวสู่ฮับแห่งการชอปปิงของภูมิภาคเหนือกว่าคู่แข่ง เป็นมาตรการเร่งด่วนที่อยากให้รัฐทบทวนผลได้ซึ่งจะกระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้าไทยได้อีกมาก สกัดเงินไหลออกนอกประเทศ บรรยากาศจับจ่ายในประเทศจะดีขึ้น”
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พบว่าภาคการส่งออกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การลงทุนภาครัฐมีข้อจำกัด รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น มีเพียงการบริโภคในประเทศที่ยังสามารถกระตุ้นและผลักดันการเติบโตได้
จี้วางยุทธศาสตร์ภาคบริการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต
ภาคค้าปลีกค้าส่งที่เข้มแข็งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การบริโภคภายในเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมูลค่าภาคการค้า (ค้าปลีก-ค้าส่ง) เป็นสัดส่วนประมาณ 14% ของจีดีพีประเทศ เป็นอันดับสองรองจากภาคอุตสาหกรรม โดยภาคค้าปลีกค้าส่ง มีการจ้างงานกว่า 6.02 ล้านคน ซึ่งเป็นการจ้างงานเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
โดยทิศทางการพัฒนาในอนาคต การเติบโตทางเศรษฐกิจจะมาจากการเติบโตในภาคการค้าและการบริการ แทน ภาคการผลิต เช่นเดียวกับประเทศพัฒนา ขณะที่สัดส่วนภาคการค้าและภาคบริการมีเพียง 45.1% ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 63.9% ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย อยู่ในระดับ 77.5% ญี่ปุ่น อยู่ในระดับ 76.5%
อุตฯ ค้าปลีกค้าส่งเป็นภาคสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะช่องทางการจัดจำหน่ายสมัยใหม่ หรือ โมเดิร์นเทรด เป็นฟันเฟืองสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศ เป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนามาตรฐานการครองชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยทำหน้าที่ห่วงโซ่ที่สำคัญในการเชื่อมโยงและกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค การที่จะช่วยให้ภาคการค้าปลีกค้าส่งมีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาด้านแรงงานที่มีศักยภาพและเพียงพอต่อเศรษฐกิจ โดยการจัดตั้งสถาบันการพัฒนาบุคลากรการค้าปลีกค้าส่งแห่งชาติ ซึ่งเน้นการเรียนรู้การค้าปลีกค้าส่งควบคู่กับการพัฒนาทักษะประสบการณ์จากการทำงานจริงร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการค้าปลีกให้มีการขยายการลงทุนในต่างประเทศ
“ผู้ค้าปลีกไทยสามารถยกโมเดลร้านค้าปลีกในประเทศต่างๆ ได้ทันที ทุกคนยอมรับว่าค้าปลีกไทยมีความหลากหลายและเข้มแข็ง แต่รัฐต้องเป็นคนเปิดประตูให้เราเดินไป การที่ผู้ค้าปลีกไทยสามารถขยายตลาดในอาเซียนได้ หมายถึงผู้ประกอบการซัพพลายเออร์จะตามไปขยายธุรกิจด้วยนับพันๆ ราย” นางสาวบุษบา กล่าว
ที่มา : www.bangkokbiznews.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น