ชื่อ:  ดาวน์โหลด (3).jpg
ครั้ง: 335
ขนาด:  6.3 กิโลไบต์

บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยที่เคยโดดเด่นทั้งด้านผลตอบแทนการลงทุนจากราคาหุ้นที่ปรับสูงขึ้นและมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากดัชนีตลาดหุ้นทำจุดสูงสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม การปรับตัวลงของตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายที่เบาบางลง ทำให้มูลค่าตลาดโดยรวมลดลงกว่า 10 % ในเวลาไม่ถึงสองเดือน

นอกจากไม่มีปัจจัยบวกใหม่ที่มีนัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนตลาดให้กลับขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ในอนาคตอันใกล้แล้ว ยังมีหลายปัจจัยลบได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกา สัญญาณเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทย เงินทุนไหลออกของนักลงทุนต่างชาติ การอ่อนตัวของค่าเงินบาท ประเด็นการเมืองจากนโยบายซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ความไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ. เงินกู้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน 2 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่หน่วยงานต่างๆ ทยอยประกาศออกมาเช่น การปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลง แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและกำลังซื้อลดต่ำลง อัตราหนี้ครัวเรือนที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น การลงทุนในประเทศชะลอตัวต่อเนื่อง ล้วนเป็นสัญญาณที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ กำไรและผลประการการของบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น

ในการตัดสินใจเลือกลงทุนนั้น นอกจากวิเคราะห์อุตสาหกรรมและกิจการแต่ละแห่งแล้ว นักลงทุนจำเป็นต้องคำนึงถึงสถานะของบริษัทในทุกสภาวะเศรษฐกิจด้วย ในยามที่ตลาดขาดปัจจัยบวกเช่นปัจจุบัน นักลงทุนควรพิจารณาทำ ‘Stress Test’ หรือ การทดสอบความสามารถรับวิกฤตและความท้าท้ายของหุ้นผ่านสถานการณ์จำลองกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst-case scenario) เพื่อประเมินดูว่าเรามีความพร้อมและสามารถรับมือได้มากน้อยเพียงใดหากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง

หากลองทำ Stress Test กลุ่มธุรกิจในตลาดหุ้นไทยในกรณีที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกส่งผลกระทบทั้งภาคส่งออกและการบริโภคในประเทศ ปัญหาที่พบและกลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบเป็นดังนี้

การเติบโตของยอดขายและรายได้คือความท้าทายอันดับต้นๆ ยามเศรษฐกิจขาลง เมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย วิธีที่บริษัทส่วนใหญ่มักเลือกปฏิบัติเพื่อรักษาระดับการทำกำไรคือ ‘การลดค่าใช้จ่าย’ งบโฆษณาประชาสัมพันธ์มักจะเป็นรายจ่ายอันดับต้นๆ ที่ถูกตัดลงแม้สื่อโฆษณาจะยังมีความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์โดยรวมต้องเผชิญความท้าทาย ผู้ประกอบการที่ตอบโจทย์ธุรกิจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผลสูงสุดอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนำไปสู่ความเสี่ยงด้านรายได้ของผู้คนในประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อโดยรวม สินค้าและบริการที่ไม่ใช่ความต้องการพื้นฐานอาจต้องได้รับผลกระทบ เช่นกลุ่มธุรกิจบันเทิง ท่องเที่ยวและสันทนาการ แฟชั่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารราคาสูง ผู้บริโภคอาจลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเลือกใช้บริการในลักษณะเดียวกันในราคาที่ย่อมเยากว่า สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้ยังพบตัวเลขที่เติบโตในระดับที่ดี แต่หากบรรยากาศเศรษฐกิจไม่สดใส ผู้ซื้ออาจชะลอการตัดสินใจออกไปแม้ยังเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อดีอยู่ก็ตาม

แม้จะต้องลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวม กลุ่มธุรกิจบางอย่างที่อาจได้รับผลกระผลไม่มากนักเช่น กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม กลุ่มพลังงาน กลุ่มโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจเหล่านี้อาจเผชิญความท้าทายอื่นได้เช่นกัน 

ส่วนการทำ Stress Test หุ้นแต่ละตัวนั้น นักลงทุนจะต้องปรับประมาณการผลประกอบการสะท้อนกรณีเลวร้ายที่สุดเพื่อประเมิน ‘มูลค่าที่แท้จริง’ และเมื่อราคาหุ้นตกต่ำกว่าระดับดังกล่าว ก็อาจเกิดจากการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่มักใช้ ‘สติ’ และ ‘เหตุผล’ มากกว่า‘อารมณ์’ นั่นเอง

ข้อควรระวังสำหรับนักลงทุนที่เคยได้รับผลตอบแทนดีจากหุ้นเติบโต Growth Stock) คือ เมื่อกิจการมีอัตราการเติบโตลดลง ส่วนเพิ่มระดับราคา Premium) ที่เคยได้รับจะลดต่ำลงด้วย ดังนั้นราคาหุ้นอาจปรับลดลงมากกว่าตลาดโดยรวมจากทั้งสองปัจจัยสำคัญอีกด้วย

ภาวะตลาดหุ้นขาลงเป็นสิ่งที่นักลงทุนระยะยาวต้องประสบไม่เร็วก็ช้า ครั้งหนึ่งวอร์เรน บัฟเฟต์เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าทนเห็นหุ้นที่ถืออยู่ ราคาตกลงไป 50% ไม่ได้ ไม่ควรอยู่ในตลาดหุ้น” การทำ Stress Test จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราจินตนาการว่าเรามีความพร้อมและมีแผนรับมืออย่างไรเมื่อภาวะนั้นมาถึง ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด