GRAMMY บนเส้นทางขรุขระ
รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2556 ผู้เข้าชม : 5 คน
คำประกาศเพิ่มทุน พร้อมกับราคาหุ้นที่ร่วงทำนิวโลว์ในรอบหลายเดือนในจังหวะที่ตลาดหุ้นผันผวน ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายเดือน ผู้บริหารระดับ ซีเอฟโอ. หรือประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ของบริษัทจะยืนยันหนักแน่รนว่าไม่เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ทางการเงินในปีนี้ของ บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY เป็นที่ทราบกันดีว่าต้องเดินบนเส้นทางที่ขรุขระ เพราะผลตอบแทนของการลงทุนต้องการเวลาสำหรับคืนทุน
ในอดีตหลายปีก่อน ภาพของ GRAMMY ซึ่งมีผู้นำคนสำคัญ คือ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ได้ชื่อว่า ทำอะไรก็ดูเหมือนได้ผลตอบแทนกลับคืนง่ายไปเสียหมด ไม่ต่างอะไรกับกษัตริย์ไมดาส ในตำนานกรีกโบราณที่ได้รับพรจากเทพไดโอนีซุสให้มือแตะอะไรก็กลายเป็นทองคำไป เสียหมด แต่วันนี้ ในยามที่สถานการณ์ของธุรกิจสื่อทั้งบันเทิงและทั่วไปกำลังอยู่ในช่วงหัว เลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจ (business metamorphosis) มนต์ดำที่เคยขลังในแบบเดิมอาจจะไม่สะดวกเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ผู้ช่ำชองสถานการณ์อาจจะกลายเป็นนักลองผิดลองถูกได้ไม่ยาก
การตัดสินใจเพิ่มทุนครั้งล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ให้ลดทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 291,153 บาท จากเดิมทุนจดทะเบียน 530,556,100 บาท เป็น 530,264,947 บาท และให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯใหม่ที่มากกว่าเดิมประมาณ 16% เพิ่มอีกจำนวน 106,052,989 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ จำนวน 636,317,936 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน106,052,989 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จะขายแบบ RO ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ในราคาเสนอขายหุ้นละ 10 บาท โดยกำหนดวันจองซื้อระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน
นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากการเพิ่มทุนสำเร็จจะเกิด dilution effect ประมาณ 16% โดยที่ GRAMMY จะได้เงินราว 1 พันล้านบาท เงินที่ได้มาจะนำไปใช้ในธุรกิจทีวีดิจิตอล ซึ่ง GRAMMY วางแผนจะประมูลรวม 3 ช่อง คือ ช่องวาไรตี้ HD ช่องวาไรตี้ SD และช่องรายการเด็ก GRAMMY เผยเพิ่มเติมว่า บริษัทเตรียมเงินทุนกว่า 3 พันล้านบาทผ่านทางการเพิ่มทุนครั้งนี้
การขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว มีความจำเป็นเพราะฐานะการเงินของบริษัทในยามนี้ ไม่สดใสมากนัก เนื่องจากขาดทุนสะสมติดต่อกันหลายไตรมาส จนกระทั่งล่าสุดมีดี/อี มากกว่า 2 เท่าตัว แม้ว่าที่ผ่านมา GRAMMY จะได้พยายามระดมทุนกลับคืนมาแก้ปัญหาของกิจการด้วยการขายเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทอื่นๆค่อนข้างมากได้กลับคืนมาหลายพันล้านบาท ก็ไม่เพียงพอ
ในช่วง 3 เดือนมานี้ GRAMMY ขายหุ้นที่ถือในบริษัทมติชนจำกัด (มหาชน) หรือ MATI ไปแล้ว 469.94 ล้านบาท และทยอยขายหุ้นที่ถือในบริษัทต่างๆ ได้เงินรวม 1.33 พันล้านบาท ใน บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด(มหาชน) หรือ OFM ที่ 27.348 ล้านบาท และบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ POST อีก 844.11 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า เป็นไปตามแผนบริหารการลงทุน เพื่อหมุนเวียนในกิจการ หรือลงทุนในเชิงกลยุทธ์
สถานการณ์นี้ ช่างตรงกันข้ามกับอดีต เมื่อสำหรับ GRAMMY เพราะเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่กำลังจะหันเหความสนจากธุรกิจบันเทิงในแบบที่ถนัดมายาวนาน นายไพบูลย์เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2554 ถึงโรดแมปของ GRAMMY ว่า “ที่ผ่านมาผมเป็นลีดเดอร์ในทุกๆ เรื่อง ฉะนั้นเมื่อคิดจะทำอะไรต้อง แตกต่าง และสามารถ ต่อยอดธุรกิจได้ ที่สำคัญต้องทำธุรกิจแบบเป็นมิตรไม่เป็นภัยกับสังคม” โดยมั่นใจว่า จะใช้เวลาไม่นานเพื่อขึ้นแท่นอันดับ 1ธุรกิจแพลตฟอร์ม โอเปอเรเตอร์ ของทีวีดาวเทียมที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 12% และคาดว่าภายในปี 2557 ธุรกิจใหม่จะสร้างรายได้ให้แกรมมี่มากถึง 28% ส่วนอีก 72% เป็นรายได้จากธุรกิจเดิม
พร้อมกันเขาก็ยังมั่นใจอีกว่า การเข้าสู่ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งที่ร่วมมือกับเกาหลีนำของมาขาย และคิดจะนำนักฟุตบอลระดับโลกที่มีชื่อเสียงมาแข่งกีฬาในเมืองไทย จะทำให้ GRAMMY มีรายได้จากการจัดกิจกรรมเพิ่ม ยังทำอะไรได้อีกมากมาย
การวาดฝันเมื่อหลายปีก่อนที่ดูง่ายไปเสียทุกอย่างนั้น กลายเป็นกับดักของการลงทุนในระยะสั้น
ความเชื่อมั่นเกินขนาดจากความช่ำชองกับธุรกิจเดิมในด้านสื่ออย่างโชกโชน แล้วหวังใช้องค์ประกอบเดิมที่ถนัดมาในการอธิบายการเคลื่อนตัวจากฐานธุรกิจเดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจบรอดแคสติ้งในกำลังเปลี่ยนทิศทางใหม่กับการมาของเทคโนโลยีดิจิตอล ด้วยการแบ่งกลุ่มธุรกิจออกให้เกิดความชัดเจนเป็น 9 กลุ่มธุรกิจ แบ่งเป็น 6 ธุรกิจเดิม (เพลง ดิจิตอล สื่อ ภาพยนตร์ สร้างสรรค์และบริหารกิจกรรมการตลาด แอนิเมชั่น) และ 3 ธุรกิจใหม่ (โฮมช็อปปิ้ง โทรทัศน์ดาวเทียม และโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล)
กลยุทธ์ของ GRAMMY ที่เน้นมากเป็นพิเศษคือ ทีวีดาวเทียม ทางผู้บริหารบริษัทอ้างว่ามีความพร้อมเต็มที่ เพราะมีการลงทุนวิจัยเพื่อสำรวจความนิยมในช่องรายการ พฤติกรรมผู้บริโภค และรายการคู่แข่ง ตามมาตรฐานการวิจัย 1,500 คนต่อครั้งและดำเนินการวิจัย 2 ครั้ง/ปี เพื่อเข้าถึงความต้องการที่แท้จริง และนำผลการวิจัยมาปรับปรุงรูปแบบรายการและเป็นข้อมูลทางการตลาดเพื่ออ้างอิงให้กับผู้สนับสนุนรายการ รวมทั้งมีการวัดความนิยมของช่องรายการจากยอดการส่ง SMS หรือ Download เพลง รวมถึงการจัดกิจกรรมพิเศษของช่องที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีส่วน เพื่อติดตามให้ทันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น ยังได้ใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาและเจาะกลุ่มหรือ Segmentation เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะตามไลฟ์สไตล์ของผู้ชมแต่ละช่องรายการ ด้วยการเสนอแพ็คเกจทางการตลาดทั้งในรูปแบบซื้อกล่องหรือแพลตฟอร์มการเข้าครั้งเดียวแล้วชมรายการฟรี กับแบบเปย์-ออน-ดีมานด์ที่มีราคาแตกต่างกัน
ในด้านการตลาด GRAMMY สามารถสร้างความฮือฮาให้กับวงการ เมื่อสามารถซื้อคอนเทนต์จำนวนมากจากต่างประเทศที่น่าสนใจเข้ามา เช่นสิทธิถ่ายทอดสดกีฬาหลายประเทศ หรือ ภาพยนตร์จากฟอกซ์ แชนเนล หรือ อื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่า กลยุทธ์ดังกล่าวมีต้นทุนที่แพง ซึ่งหากได้ผลก็นับว่าคุ้มค่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมที่เป็นสมาชิกของเปย์-ออน-ดีมานด์มีจำนวนมากเพียงพอเกินจุดคุ้มทุน แต่ในด้านการเงินกลับปรากฏผลตอบแทนช้ากว่าที่คาด (ดังตารางประกอบ)
ผลลัพธ์จากการขาดทุนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายไตรมาส จากการที่กลุ่มธุรกิจใหม่ที่ยังไม่ผลิดอกออกผล แม้จะสามารถสร้างตัวเลขฐานลูกค้าที่เป็นผู้ชมในธุรกิจทีวีดาวเทียมนั้นไปได้สวย และธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง หรือซื้อสินค้าทางโทรทัศน์ที่เริ่มดำเนินงานมาเป็นเวลาเพียง 6 เดือนบริษัทฯ มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เป็นที่มาของการขาดสภาพคล่อง ซึ่งทำให้ฐานะทางการเงินล่าสุดของGRAMMY มีตัวเลขเงินเบิกเกินบัญชีมากกว่า 3 พันล้านบาทเลยทีเดียว พร้อมกับยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพากำไรจากธุรกิจเดิมเป็นหลัก(ธุรกิจเพลง, ธุรกิจสื่อ, ธุรกิจภาพยนตร์, ธุรกิจบริการรับจัดและบริหารกิจกรรม, ธุรกิจแอนิเมชั่น และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง) ซึ่งมีรายได้และกำไรระดับใกล้เคียงกับปีก่อน
ภายใต้สถานการณ์ที่ฐานะการเงินขลุกขลักเช่นนี้ ผู้บริหารของ GRAMMY เองก็ยังมีความเชื่อมมั่นว่าเดินมาถูกทางแล้ว และยังคงมุ่งมั่นเข้าสู่ธุรกิจใหม่ต่อไปตามความเชื่อ “อนาคตสดใส แต่หนทางคดเคี้ยว” โดยถือว่าการขาดทุนในระยะสั้นยังสามารถควบคุมได้ จนกว่าการลงทุนใหม่จะผลิดอกออกผลจริงจังในหลายปีข้างหน้า
การเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ก็ยืนยันเจตนารมณ์ดังกล่าวชัดเจน คำถามที่นักหลงทุนจะต้องตอบก่อนวันหมดกำหนดการซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ก็คือ พร้อมจะร่วมลำบากในเฉพาะหน้าเพื่อรอรับความสำเร็จในอนาคตกับผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหารของ GRAMMY มากน้อยเพียงใด
คำพูดเมื่อ 2 ปีก่อนของนายไพบูลย์ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แบบที่ใครไม่เคยเห็น รับรองรายได้เยอะดีน่าดู” ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตากันต่อไปว่า จะทำกำไรเป็นกอบเป็นกำได้แบบเคยทำได้มาก่อนในอดีตอีกครั้งหรือไม่ เพราะบนเส้นทางธุรกิจสื่อดิจิตอลที่กำลังมุ่งไปนี้ ยามนี้ ไม่มีใครกล้าการันตีอีกต่อไปว่า ใครคือผู้เชี่ยวชาญมากกว่ากัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น