วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

IVL กำไรดำดิ่งสู่ก้นเหว

IVL กำไรดำดิ่งสู่ก้นเหว

รายงานพิเศษ วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 62 คน 


การประเมินผลการดำเนินงานไตรมาสที่สองล่วงหน้าของบรรดานักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์หลายสำนักของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ออกมาตรงกันว่า จะมีผลขาดทุนจำนวน 428 ล้านบาท ปรับลดลงจากไตรมาสแรกที่มีกำไรสุทธิ 491 ล้านบาท
เหตุผลก็คือว่า ผลดำเนินงานของธุรกิจผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำของบริษัท หรือ  FEEDSTOCK โดยเฉพาะ PTA ยังอ่อนตัวลงในภาพรวมทั้งหมด แม้ว่าแนวโน้มบางส่วน ของธุรกิจ PET จะปรับตัวดีขึ้นจากทั้งส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นและปริมาณการจำหน่าย PET ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากตลาดในแถบเอเชีย แต่เชื่อว่าผลดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจะไม่สามารถชดเชยแนวโน้ม
ส่วนต่างของต้นทุนสินค้าที่ IVL ผลิต นับตั้งแต่ PTA ที่อ่อนตัวลงมามาก ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 194 เหรียญสหรัฐต่อตันตลาดเอเชีย และ 256 เหรียญสหรัฐต่อตันในส่วนของตลาด ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ในขณะที่ต้นทุนอุปทานใหม่ของวัตถุดิบในการผลิต PTA ได้แก่ PX จะเพิ่มสูงขึ้น
ในทางกลับกัน ยังมีตัวแปรลบเกิดขึ้นคือ การหยุดตามแผนของโรงงาน MEG เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาส่งให้ปริมาณ MEG ที่ผลิตได้นั้นไม่สูงอย่างในไตรมาสแรกที่ผ่านมา
ผลประกอบการที่ติดลบดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ช่วงเวลาของการปรับยุทธศาสตร์การผลิตของ IVL ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีนี้ ยังไม่เสร็จเรียบร้อย และต้องการเวลาอีกยาวนานพอสมควร
สถานการณ์ของ IVL ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ลบริหารของบริษัทด้อยความสามารถลง แต่เป็นผลพวงของภาวะขาลงของธุรกิจปิโตรเคมีปลายน้ำที่มีกำลังการผลิตล้นเกินความต้องการของโลก ซึ่ง IVLในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีฐานการผลิตทั่วโลก ตกอยู่ในฐานะต้องกลายเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่เลี่ยงไม่พ้น
IVL เป็นธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนเชื้อสายอินเดียตระกูลโลเฮีย สร้างฐานรากสำคัญจากธุรกิจเส้นใยในอินโดนีเซีย จากนั้นก็ขยายกิจการกลับเข้าไปในอินเดีย กลายเป็นกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและเส้นใยรายใหญ่ระดับโลก เรียกว่ากลุ่ม อินโดรามา โดยที่มีฐานการผลิตบางส่วนที่ประเทศไทยด้วย
แรกสุดกลุ่มอินโดรามา ได้ส่งบริษัทในกลุ่มที่ทำธุรกิจเส้นใยสังเคราะห์ เข้าจดทะเบียนในตลาดในนามรหัสย่อที่นักลงทุนรู้จักกันดีคือ  IRP แต่เมื่อถึงต้นปี 2553 กลุ่มอินโดรามาในการบริหารของนายอาลก โลเฮีย ได้แยกตัวออกจากบริษัทแม่ในอินเดีย เพื่อสร้างฐานธุรกิจใหม่ของตนเอง  เปลี่ยนโครงสร้างกิจการ ถอดเอา IRP ออกจากตลาด แล้วส่งโฮลดิ้ง คือ  IVL  เข้ามาจดทะเบียนแทน
เมื่อเข้ามาจดทะเบียนในตลาด IVL ได้ใช้กลยุทธ์วิศวกรรมทางการเงิน ผสมกับการรุกทางการตลาดผ่านกระบวนการผลิต ที่เรียกกันว่า กลยุทธ์ 2 แนวทาง 2 สายการผลิต 
2 แนวทาง ได้แก่ การเติบโตด้วยการซื้อกิจการจากภายนอก และเติบโตด้วยการขยายสายการผลิตเดิมที่บริษัทเคยกระทำมา
2 สายการผลิตคือ การผลิตสินค้าปิโตรเคมีเพื่อทำขวดพลาสติก (PET และ PTA) กับการผลิตเส้นด้ายสำหรับธุรกิจสิ่งทอชนิดพิเศษ (polyester fibre และ wools)
ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว IVL ขยายกิจการอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2553-2555 อย่างรวดเร็ว ขยายตัวเติบโตปีละกว่า 90% จนกระทั่งมีคำถามว่าจะหยุดยั้งเมื่อใด
ในช่วงแรกดูเหมือนว่า ขีดจำกัดการเติบโตของ IVL จะไม่หยุดยั้งง่ายๆ เพราะยิ่งซื้อกิจการก็ยิ่งทำให้กำไรของบริษัทดูดีมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งราคาหุ้นเคยทะลุสูงกว่า 60 บาทต่อหุ้นมาแล้ว เข้าข่ายยิ่งโตยิ่งดูดี ทั้งในแง่ของยอดขาย และในเรื่องของผลกำไร
นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา IVL มีจุดอ่อนสำคัญที่นักลงทุนในตลาดหุ่นไทยจดจำกันมาอย่างดีเรื่องเดียวคือ ราคาหุ้นที่ดูเหมือนว่าจะไม่ขานรับกับพื้นฐานอันโดดเด่นของบริษัทเอาเสียเลย แม้นักวิเคราะห์จะออกแรงเชียร์ ก็ไม่ได้ผลเอาเสียเลย มีแต่ถอยลงอย่างเดียว
การที่นักวิเคราะห์ในสองปีมานี้ ยังคงออกแรงเชียร์ เพราะได้เล็งเห็นชัดเจนว่า การซื้อกิจการของ IVL นั้น เข้าข่ายฉลาดซื้อ เป็นสำคัญ โดยที่การเลือกเข้าซื้อกิจการทุกแห่งของบริษัทนั้น ไม่ใช่เป็นการลงทุนที่ใช้เวลายาวนานสำหรับรอคืนทุน หากแต่บริษัทมีเป้าหมาย สามารถผลิดอกออกผลส่วนแบ่งกำไรเข้ามาได้ทันทีเสมอ  ส่งผลให้หลังจากเข้าซื้อกิจการแล้ว ช่วยให้IVL มีสภาพคล่องทางการเงินแข็งแกร่ง และมีกำไรต่อเนื่อง เป็นกุญแจความสำเร็จชัดเจน และส่งผลต่อกลยุทธ์ธุรกิจที่โดดเด่นนั่นคือ ยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกหลายตัว ประกอบด้วย
- การเสริมความเข้มแข็งของธุรกิจ
- การประหยัดโดยขนาด
- การเพิ่มสายผลิตภัณฑ์
- การเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
- การเป็นเจ้าเทคโนโลยีการผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่า
แผนธุรกิจที่ได้กระทำมานั้น เริ่มไม่ได้ผลนับแต่ปี 2555 เป็นต้นมาเพราะ ในปีดังกล่าวถือเป็นปีที่ราคาหุ้น IVL สร้างความผิดหวังให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุด เพราะผลประกอบการของบริษัทโดยรวมทั่วโลกเผชิญกับปัญหา 2 ต่อที่ทับซ้อนกัน คือ ด้านหนึ่งเกิดภาวะสินค้าปิโตรเคมีโดยรวมล้นตลาดทั่วโลก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีราคาตกต่ำลงอย่างรุนแรง จากการเพิ่มขึ้นของโรงงานในจีน และอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่ทรุดตัวตกต่ำ ซึ่งทำให้กำไรของ IVL ลดฮวบลงไป
ดาวรุ่ง กลายเป็นดาวร่วงในฉับพลัน เป็นสถานการณ์ที่แก้ไม่ตกต่อเนื่อง 
ตลอดปี 2555 จนถึงปัจจุบันราคาหุ้นของ IVL ถูกลดเกรดลงมาโดยนักวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาดำดิ่งลงมาใต้ 20 บาท ตัวเลขยอดการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากจากโรงงานที่เพิ่มจำนวนขึ้น สวนทางกับรายได้จากการขายที่หดตัวลงไป และกำไรที่หดหายไปอย่างรุนแรง ทำให้ผู้บริหารเก็บตัวเงียบ ไม่กล้าออกมาชี้แจงกับนักลงทุน แต่ก็ไม่ได้หยุดยั้งที่จะหาทางพลิกฟื้นสถานการร์ โดยในปี 2556 ผู้บริหารพยายามปรับแผนธุรกิจใหม่จากการฉลาดซื้อ เป็นฉลาดทำ เปิดแผนรุกด้วยกลยุทธ์ใหม่คือ organic growth เน้นความสามารถจากการแข่งขันภายในขึ้นมา ในภาวะที่ภาพรวมของตลาดเริ่มฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นหลังจากเศรษฐกิจในย่านสหรัฐอเมริกาและยุโรปกระเตื้อง เนื่องจากยอดขายของบริษัทได้อยู่ในย่านพื้นที่ตะวันตกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% จากภาพรวมทั้งหมด
แนวคิดของแผนกลยุทธ์ธุรกิจคือ ภายในช่วง 3 ปีข้างหน้าที่จะมีการลงทุนใหม่ไม่เกิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะจะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือขยายไลน์การผลิตด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้สอดคล้องต่อทิศทางอุตสาหกรรมและความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก จากกระบวนการควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำ และพยายามเพิ่มสินค้าที่มีอัตรามาร์จิ้นสูงเพิ่มเติม
ตามแผนของIVL ระบุว่ากลยุทธ์ใหม่ “ฉลาดทำ” นี้ จะทำให้กำไรของ IVLในปี 2556 เพิ่มขึ้นประมาณ 15% หรือประมาณ 8 พันล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะทำให้เสน่ห์ของธุรกิจลดน้อยกว่าช่วงของการเติบโตอย่างหวือหวา ถือเป็นการ“กลับสู่พื้นฐาน”อย่างมั่นคงมากขึ้น
น่าเสียดายที่แผนดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อกำไรเพิ่มขึ้นตามที่ประเมินเอาไว้ ตัวเลขขาดทุนในไตรมาสสองที่ปรากฏ ซึ่งยังผลให้ครึ่งแรกของปี มีกำไรเพียงแค่ 63 ล้านบาท จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้บริหารต้องทำการบ้านตอบนักลงทุนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
แม้ว่าครึ่งหลังของปีนี้ โอกาสที่ IVL จะกลับมาทำกำไรสวยงามยังไม่หมดไปเสียทีเดียว เพราะนักวิเคราะห์ก็คาดว่า แนวโน้มในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากโรงงาน MEG จะกลับมาผลิตเต็มที่อีกครั้ง ขณะที่แนวโน้มอุปสงค์ PX ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นส่วนช่วยรักษาระดับส่วนต่างผลิตภัณฑ์ PTA โดยฝ่ายคาดผลดำเนินงานในครึ่งปีหลังที่ 2,208 ล้านบาท ตามสมมติฐานส่วนต่างผลิตภัณฑ์ทั้งธุรกิจ PET และ FEEDSTOCK ยังคงใกล้เคียงกับงวดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แต่ก็จะส่งผลให้กำไรตลอดทั้งปีของ IVL ยังคงไม่สวยงามเอาเสียเลย เพราะคาดว่าจะมีกำไรสุทธิตลอดปี 2556 อยู่ที่ 2,272 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาด 6,282 ล้านบาท
วิบากกรรมเช่นนี้ เป็นสิ่งที่นักลงทุนที่ถือหุ้นของ IVL จำต้องยอมรับสภาพว่า บริษัทที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ จะต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าสถานการณ์จะกระเตื้องขึ้นมา ทำนองเดียวกันกับอุตสาหกรรมเหล็กที่อยู่ในชะตากรรมเช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น