TPOLY
TPOLY เร่งเครื่องขยายธุรกิจด้านพลังงาน มั่นใจอนาคตธุรกิจสดใส ล่าสุดบอร์ดไฟเขียวอนุมัติเพิ่มทุนในบริษัทย่อย “ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” จากเดิม 210.55 ล้านบาท เป็น 310.55 ล้านบาท ขายผู้ถือหุ้นเดิมราคาไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 33 บาท คาดได้เม็ดเงินกว่า 330 ล้านบาท นำไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 3 โครงการตามแผนในเฟสแรก รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของทีพีซีฯ ใน “ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์” จากเดิม 65% เป็น 73.125% คาดการณ์รายได้จากโรงไฟฟ้าช้างแรกปีนี้ 160-170 ล้านบาท พร้อมเดินเครื่องนำ “ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” เข้าจดทะเบียนในตลาด mai ปีหน้า วางเป้าเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็น 100-150 เมกะวัตต์ในปี 2560 คาดช่วยหนุนรายได้ TPOLY ปีนี้โตขึ้น 30%
TICON
TICON ตั้งกองทุน REIT มูลค่า 6,000 ล้านบาท คาดเสนอขายหน่วยลงทุนได้ภายในเดือนต.ค. 56 พร้อมรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/56 “วีรพันธ์” ย้ำปีนี้รายได้โต 30% ที่ 7,550 ล้านบาท ดอดซื้อที่ดินเพิ่มขยายโรงงานให้เช่าอีก 1.2 แสนตารางเมตร
JMART
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยว่าบริษัทมั่นใจว่าธุรกิจในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเติบโตไม่แตกต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมา และสำหรับปีนี้คาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% จากปีก่อนหน้า โดยไตรมาสแรกกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 50% และในไตรมาส 2 คาดว่าจะมีแนวโน้มไม่ต่างไปจากไตรมาสแรก
โดยปีนี้จะถือเป็นปีแห่งการลงทุนของบริษัท โดยบริษัทลงทุน 250 ล้านบาทในการขยายสาขา และเตรียมเงินประมาณ 500 ล้านบาทสำหรับการซื้อหนี้ในส่วนของบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ซึ่ง JMART ถือหุ้นประมาณ 75% และ 70-80 ล้านบาทสำหรับ JAS ASSET ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจให้เช่าพื้นที่ นอกจากนี้ จะลงทุนคอมมูนิตี้มอลอีกประมาณ 300 ล้านบาทแถววังหิน เพื่อกระจายรายได้ออกไปในธุรกิจให้เช่าเพิ่มขึ้น และมีแผนนำ JAS ASSET เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป
ปัจจุบันสัดส่วนกำไรสุทธิของ JAMRT จะแบ่งเป็น ธุรกิจมือถือประมาณ 60% และธุรกิจบริหารหนี้ ( JMT) ประมาณ 30% และอีก 10% เป็นธุรกิจให้เช่าพื้นที่ โดยคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปเป็น 50% 35% และ 15% ตามลำดับ
สำหรับตลาดพม่าซึ่งบริษัทเข้าไปลงทุน คาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีในปีถัดไปหลังจากกลุ่มบริษัทมือถือที่เพิ่งได้ ไลเซนส์เริ่มวางระบบ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นบริษัทก็จะเริ่มขายโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนมือถือต่อจำนวนประชากรของพม่าอยู่ที่ประมาณ 5% เท่านั้น ถือเป็นโอกาสของบริษัทที่ได้เข้าไปทำการตลาด
สำหรับการเปิดตัวของโทรศัพท์เฮาส์แบรนด์ของค่ายมือถือต่างๆ นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทแต่อย่างใด แต่กลับส่งผลดีต่อบริษัท ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่ายมือถือต้องการกระจายสินค้าดังกล่าวออกไปในวงกว้าง ทำให้ต้องนำสินค้าดังกล่าวมาจำหน่ายผ่านสาขาของ JMART นอกจากนี้ การหมดสัญญาสัมปทาน 2G ในอนาคตจะเป็นตัวผลักดันยอดขายโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 3G ได้ในอนาคต โดยคาดว่าปี 2015 นั้นตลาดมือถือจะอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านเครื่อง จากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 20 ล้านเครื่อง
BJC
ผู้บริหารบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เปิดเผยว่า บริษัทได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่สู่ตลาดผลิตภัณฑ์กันยุงสำหรับผิว ภายใต้แบรนด์ "เบลล์" โดยตั้งเป้าขึ้นเป็นอันดับ 2 ในตลาดผลิตภัณฑ์กันยุงซึ่งมีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ภายใน 2 ปี
CMO
ผู้บริหารบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO เปิดเผยถึงแผน ธุรกิจในปี 56 นอกจากการดำเนินธุรกิจอีเว้นต์ บริษัทได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการและออกแบบพิพิธภัณฑ์แบบครบวงจร ล่าสุดบริษัทเพิ่งรับรู้รายได้ประมาณ 20 ล้านบาท จากการส่งมอบงานออกแบบและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และหอจดหมายเหตุ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นอกจากนี้ยังมีงานที่รอรับรู้รายได้อีกหลายโครงการ เช่น นิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.อุบลราชธานี ภายใต้กองทัพภาคที่ 2
ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้จากการรับบริหารและออกแบบพิพิธภัณฑ์ , ศูนย์การเรียนรู้ในปี 56 ประมาณ 120 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันรายได้อยู่ที่ประมาณ 75 ล้านบาท จึงมั่นใจว่าช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือบริษัทจะสามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมาย ที่วางไว้ ส่วนภาพรวมตลาดงานจัดแสดง-พิพิธภัณฑ์ของไทย ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท และเติบโตปีละ 10% เชื่อว่าจะขยายตัวสูงขึ้นหลังเปิดตลาด AEC
DEMCO
นายไพฑูรย์ กำชัย เลขานุการบริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO เปิดเผยถึงกรณีหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทที่ยังเหลือ 64.92 ล้านหุ้น บริษัทจะดำเนินการ 2 กรณี โดยในกรณีที่ 1 บริษัทจะดำเนินการขอขยายเวลาการชำระเงินในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ( WEH) จำนวน 5.26 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วหลังเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละประมาณ 190 บาท รวมเป็นมูลค่า 1 พันล้านบาท จากเดิมที่จะต้องชำระเงินในวันที่ 15 ก.ค.นี้ ออกไปก่อน
ทั้งนี้หากบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด มีการขยายระยะเวลาการชำระเงินให้บริษัท ทางบริษัทจะดำเนินการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือแบบเฉพาะเจาะจง โดยราคาเสนอขายหุ้นไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 10 บาท และไม่ต่ำกว่า 90% ของราคาตลาด ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน
ส่วนกรณีที่ 2 หากบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ไม่ขยายระยะเวลาการชำระเงิน บริษัทจะเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 4% ตามจำนวนเงินที่บริษัทมีอยู่รวม 800 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่บริษัทได้รับเงินจากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ประมาณ 600 ล้านบาท และเงินที่บริษัทได้ทำสัญญาจองซื้อหุ้นและจ่ายเงินมัดจำ 200 ล้านบาท หลังจากนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาดำเนินการกับจำนวนหุ้นในส่วนที่เหลือ

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น