วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

SCB ล้มแผนปรับเป้าสินเชื่อ หลังศก.H2ชะลอตัว ระวังกลุ่มโภคภัณฑ์-ส่งออกจีน

SCB ล้มแผนปรับเป้าสินเชื่อ หลังศก.H2ชะลอตัว ระวังกลุ่มโภคภัณฑ์-ส่งออกจีน


Wednesday, 17 July 2013



นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ธนาคารคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ไว้ที่ 13% จากก่อนหน้านี้ที่มีแผนจะปรับเป้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
ขณะที่ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สินเชื่อของ SCB เติบโตได้สูงกว่าระบบที่เติบโต 12% และเชื่อว่าในครึ่งปีหลังสินเชื่อของธนาคารจะเติบโตสูงกว่าระบบเช่นเดียวกัน โดยศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ ประเมินว่าปีนี้สินเชื่อทั้งระบบจะโต 9-11% ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลังธนาคารจะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์และธุรกิจที่เน้นส่งออกไปจีน

SCB รุกหนักค่าฟีธุรกิจรายใหญ่ ดันสัดส่วนรายได้ 50% H2มีดีลระดมทุนอีกแสนลบ.


Wednesday, 17 July 2013



นายอาทิตย์ นันทะวิทยา รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ธนาคารมีดีลลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการระดมทุนมากกว่า 4 ดีล มูลค่าแสนล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT นอกจากนี้ ยังมีดีลการซื้อกิจการอีกกว่าหมื่นล้านบาท โดยธนาคารจะเน้นดีลที่เป็นการซื้อกิจการที่พร้อมสร้างรายได้เพื่อให้มีศักยภาพในการชำระหนี้หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการควบรวมกิจการ
ทั้งนี้ นโยบายของธนาคารจะรุกธุรกิจขนาดใหญ่ โดยจะหันมาเน้นสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสินเชื่อของธนาคารแม้จะเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุดพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 40% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร แต่อัตราเติบโตอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าที่ได้มีการระดมทุนไปก่อนหน้านี้
โดยในส่วนของสินเชื่อครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากจะมีสินเชื่อจากการปล่อยกู้ให้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ที่เข้าซื้อบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ที่จะบันทึกในครึ่งปีหลังมูลค่าประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้รวมจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลักนั้นมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 5% เทียบกับรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 2 หลัก นอกจากนี้ ยังทำให้สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 47% จากปีก่อนอยู่ที่ 43% และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 50% และหากอัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับดังกล่าว เชื่อว่าสัดส่วนรายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 60% ของรายได้รวมภายใน 2-3 ปีนับจากนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น