วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

GRAMMY สละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต

GRAMMY สละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต

รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2557  

ธุรกรรมทางการเงินล่าสุด ระหว่างบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY กับผู้บริหารในเครือ นายถกลเกียรติ วีรวรรณ สะท้อนภาพที่ชัดเจนของภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของธุรกิจ ซึ่งต่อเนื่องจากธุรกรรมก่อนหน้านี้ อันเกิดจาก “ทุกขลาภ” ของการย้ายธุรกิจจากบันเทิง มาสู่ธุรกิจสื่อดิจิตอล ที่ยังไม่รู้ผลสำเร็จในบั้นปลาย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ GRAMMY จะต้องกระทำภายใต้แผนการ กระจายการขาดทุน (loss-sharing) ในช่วงเวลาที่ธุรกิจยังไม่เห็นทางทำกำไรกลับคืนในระยะเวลาอันสั้น เพราะแผนธุรกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
คำชี้แจงล่าสุดของ GRAMMY ระบุว่า ในแผนการเพิ่มทุนจาก 400 ล้านบาท เป็น 900 ล้านบาทของบริษัทย่อยในกลุ่มคือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี เทรดดิ้ง จำกัด (GMM ONE) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธุรกิจย่อยที่มีใบอนุญาต ธุรกิจดิจิตอล ทีวี ได้ปรากฏว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท GRAMMY มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ขายหุ้นสามัญของ GMM ONE ที่บริษัทถือครองอยู่ให้กับนายถกลเกียรติ วีรวรรณ จำนวน 2,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นมูลค่า 200,000 บาท และนายถกลเกียรติจะขายหุ้นคืนบริษัทฯ จำนวน 1 หุ้น
พร้อมกันนั้นก็ GRAMMY ก็สละสิทธิการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนบางส่วนใน GMM ONE จำนวน 4,408,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 88.16 ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดที่ GMM ONE จะทำการเพิ่มทุน เพื่อให้นายถกลเกียรติ เข้าซื้อหุ้นดังกล่าวแทน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ จะทำให้ กลุ่มนายถกลเกียรติ สามารถเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน GMM ONE รวมเป็นจำนวน 4,408,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 440,800,000 บาท กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสองของ GMM ONE ในสัดส่วน 49% รองจาก GRAMMY ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51%
พร้อมกันนั้น GRAMMY ยังได้ขายเงินลงทุนใน บริษัท แอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด (ACTS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 62.5 (ถือหุ้นทางตรงในสัดส่วนร้อยละ 50 และถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 12.5) ให้กับ GMM ONE จำนวน 2,531,249 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นมูลค่า 253,124,900 บาท
การขายหุ้น และสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุน 2 รายการดังกล่าว หากมองจากภายนอก ย่อมเป็นการแต่งตัวธรรมดาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ เพราะโดยข้อเท็จจริง นายถกลเกียรติ ก็มีฐานะเป็นผู้บริหารเดิมของ GRAMMY และบริษัทในเครืออยู่แล้ว โดยดำรงตำแหน่งเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม วัน ดิจิทัล ทีวี ถือว่าอยู่ในกลุ่มผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับบริหารสี่รายแรกต่อจากผู้บริหารสูงสุดของบริษัทฯ (ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทฯ คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม) จึงถือเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับบริษัท
เมื่อหักลบแล้ว จะทำให้ GRAMMY ได้รับเงินสดจากธุรกรรมครั้งนี้ที่ 253,234,800ล้านบาท เป็นกระแสเงินสดที่เข้ามาในยามที่สภาพคล่องของบริษัทเข้าข่ายฝืดเคืองพอสมควร และสามารถเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปได้อีก เพราะแผนกระจายการขาดทุนทำงานได้ผลอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งนี้ มิใช่ครั้งแรกในปีนี้ ที่ GRAMMY ตัดสินใจขายหุ้น เพราะในเดือนธันวาคมนี้เอง ก็เพิ่งจะตัดสินใจขายหุ้นหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับ บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SLC จำนวน 10 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.22% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว ในราคาหุ้นละ 13.50 บาท คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนจำนวน 135 ล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา GRAMMY ได้ประกาศจับมือร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ กับ บริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด หรือ CTH ที่มีสาระเป็นทั้งพันธมิตรทางการตลาด และหุ้นส่วนทางการเงินควบคู่กันไปด้วย
รูปแบบของการเป็นพันธมิตรคือ ชูประเด็นการตลาดว่าจะเปิดตลาด “พรีเมียม แมส” ด้วยการสร้างแพ็กเกจใหม่ที่ให้ GMM Z นำเอาการถ่ายทอดสดศึกลูกหนังพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ร่วมกัน รวมถึงคอนเทนต์ฟุตบอลลีกชั้นนำของโลก และกีฬาดังมากมาย อาทิเช่น เทนนิส, มวยปล้ำ หรือว่า มอเตอร์สปอร์ต  ซึ่งหมายถึงการเปิดทางให้ GMM Z นำเอาคอนเทนต์ของ CTH ในด้านฟุตบอลพรีเมียร์ลีก มาสร้างเป็นแพ็กเกจทางการตลาดใหม่ในลักษณะสร้างพลังผนึกด้านคอนเทนต์ สอดรับกับสูตร “ใช้ช่องทางสร้างมูลค่า”
เพื่อให้การร่วมมือบังเกิดผลร่วมทางการเงินด้วย จึงมีกากระชับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนกัน โดยผ่านการเพิ่มทุนบริษัทลูกของ GRAMMY คือ GMM B จากทุนเดิม 1 ล้านบาท เป็น ทุนจดทะเบียนใหม่ 3,865.97 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทย่อยของ GRAMMY ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ GMM B คือ บริษัท แซท เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขายกล่อง จีเอ็มเอ็มแซท เอาใบหุ้นของ GMM B  ซึ่งตีมูลค่าเป็น 26.64 บาทต่อหุ้น ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทุน CTH ในสัดส่วน 10% (สัดส่วนหลังการเพิ่มทุนของบริษัทหลัง) หรือ 300 ล้านหุ้น (ราคาพาร์ 10 บาท) โดยที่การเพิ่มทุนของ CTH นั้น อีกส่วนหนึ่งผู้ถือหุ้นเดิมคือกลุ่มวัชรพล และกลุ่มนายวิชัย ทองแตง ได้ซื้อเอาไปด้วย โดยประเมินมูลค่าหุ้นของ CTH ที่ 34.33 บาทต่อหุ้น
กรณีดังกล่าว  CTH ได้ทำการเพิ่มทุนจากทุนจดทะเบียนเดิม 800 ล้านบาท เป็นทุนใหม่อีก มากกว่าเท่าตัว โดยส่วนหนึ่งเอามาขายให้กับ แซท เทรดดิ้ง กลายเป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 1,925.88 ล้านบาท โดยที่ก่อนการเพิ่มทุนนั้น CTH มีสภาพทางการเงิน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556) ที่ย่ำแย่เพราะส่วนผู้ถือหุ้นติดลบอยู่ 3,499.82 ล้านบาท การเพิ่มทุน จึงถือเป็นการเติมเงินสดเข้าไปทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบน้อยลงโดยปริยาย
ในมุมกลับ บริษัท ซีทีเอช แอลซีโอ จำกัด  หรือ CTH LCO ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CTH ถือหุ้น 100% จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของ GMM B โดยปริยาย เท่ากับย้ายไปอยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารของ CTH เต็มรูป ซึ่งเท่ากับว่า โดยวิธีการนี้ GMM B จะหลุดออกจากโครงสร้างโดยตรงของ GRAMMY อย่างสิ้นเชิง ทำให้การรับรู้ตัวเลขกำไรขาดทุนของ GMM B โดยตรงในบริษัทแม่หมดไป
ธุรกรรมการแลกหุ้นไปมาระหว่างกลุ่มบริษัทสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจร่วมกัน โดยไม่ต้องใช้เงินสดระหว่างกัน ถือเป็นการปลดภาระไปได้เปลาะหนึ่ง จากเปลาะที่มีอยู่จำนวนมาก
โดยข้อเท็จจริง นับแต่GRAMMY เปิดเกมรุกในตลาดสื่อแห่งอนาคตด้วยธุรกิจทีวีดาวเทียม เริ่มตั้งแต่การเข้าซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลยูโร 2012 เป็นต้นมาและขายกล่องรับสัญญาณ โดยผ่านกลยุทธ์หลากหลายทางการตลาด ทั้งกลยุทธ์ทางด้านราคาและเจาะกลุ่ม (Segmentation) ตามไลฟ์สไตล์ ด้วยการเสนอแพ็กเกจทั้งในรูปแบบซื้อกล่อง หรือแพลตฟอร์มการเข้าครั้งเดียว กับแบบ เพย์-ออน-ดีมานด์ ถือว่าพลาดเป้าทำให้ฐานะการเงินย่ำแย่ลง
2 ปีมานี้ พื้นฐานของGRAMMY ได้เปลี่ยนจากบริษัทที่มีกระแสเงินสดเหลือเฟือในอดีต และเป็นหุ้นที่น่าสนใจ กลายเป็นหุ้นที่ถูกเมิน เพราะตัวเลขหนี้สิน ถึงขั้นต้องทำการเพิ่มทุนใหม่ในกลางปี 2556 และยังมีการขอเพิ่มทุนระลอกใหม่ล่วงหน้าเอาไว้
กระบวนการผ่องถ่ายทรัพย์สินออกจากมือ เพื่อปลดสัมภาระ หรือการรักษาชีวิตด้วยการตัดทิ้งอวัยวะบางส่วนออกไป ที่กระทำกันมาตลอดปี 2557 จนถึงล่าสุดกรณี GMM ONE สะท้อนเส้นทางขรุขระทางการเงินในลักษณะ ”อนาคตสดใส แต่หนทางคดเคี้ยว” ของ GRAMMY ได้เป็นอย่างดี
อย่างน้อยที่สุด ก็ได้เห็นความมุ่งมั่นหาทางออกจากปัญหาของกลุ่มผู้บริหารGRAMMY อย่างจริงจัง มิได้ปล่อยไปตามยะถากรรมเสมือนเรือที่ไร้หางเสือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น