วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย (ตอนจบ)

หลังจาก  SET INDEX พยายามจะทดสอบแนวต้านแถว 1,600 จุด  ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาก็ไม่ผ่าน  ทำให้มีการปรับตัวลงไป แถว 1,500 ต้นๆ ในเดือนตุลาคม  แล้วก็มีแรงฮึดวิ่งขึ้นมาอีกรอบที่พยายามจะทดสอบ 1,600 จุดอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถผ่านแนวต้านนี้ไปได้  โดยเฉพาะเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา  SLT INDEX ลงหนักไปกว่า 22 จุด  นับว่าเป็นการลงภายในวันเดียวที่มากที่สุดในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา  และก็เป็นไปตามแพทเทิร์นเดิมๆ   คือ นักวิเคราะห์ต้องหาเหตุมาสนับสนุนผล  และตันเหตุคราวนี้ก็มาจากข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติซ้อน  คงจะเป็นเพราะบทสัมภาษณ์ของพลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ  เมื่อเร็วๆ นี้  ซึ่งได้แพร่สะพัดไปใน  SOCIAL  MEDIA ต่างๆ เรื่องปฏิวัติซึ่งไม่เป็นเรื่องจริง  นักลงทุนที่หวั่นไหวไปกับข่าวนี้  จึ่งช่วยเทกันขายหุ้นในตลาดอีกแรง  จริงๆแล้วการที่มีมาตรา 44ก็เป็นเกราะป้องกันการปฏิวัติซ้อนของ คสช. อยู่แล้ว  การเป็นนักลงทุนที่ดีต้องมีความหนักแน่น  และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างระมัดระวังและรอบคอบ  อย่างไรก็ตามการที่ SET INDEX จะตีฝ่าทะลุ 1,600 จุด  คงต้องมีข่าวดีใหม่ ๆ มาสนับสนุน  มิฉะนั้นในระยะสั้นยังมองไม่เห็นโอกาส
                กลับมาคุยกันต่อเรื่องประกันภัยครับ  2 บทความที่แล้วผมเน้นพูดถึงเรื่องประกันชีวิต  แต่บทความนี้ผมจะพูดถึงประกันภัย  เมื่อเปรียบเทียบINSURANCE PENETRATION AS % OF GDP. ของไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.7 – 1.8 ในขณะที่เกาหลีอยู่ที่ประมาณเกือบ 4เมื่อมองแบบนี้แล้วทำให้เห็นได้ว่าการทำประกันภัยภายในประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นี่ขนาดว่าเรามีบทเรียนจากภาวะน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2554  ทำให้ภาคเอกชนเริ่มเล็งเห็นประโยชน์จากการทำประกันภัยมากขึ้นแล้วก็ตาม  และเมื่อมาดูบริษัทประกันภัยที่ทำธุรกิจในประเทศไทย  โดยเฉพาะ TOP ของธุรกิจประกันภัยในประเทศล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทสัญชาติไทยทั้งสิ้น  และในภาพรวมบริษัทประกันภัยที่ทำธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่ประมาณ 80 % เป็นบริษัทสัญชาติไทยแลประมาณสิบกว่า ที่เป็นบริษัทที่มีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  และที่เหลือก็เป็นลักษณะบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับต่างชาติ  เมื่อดูเบี้ยประกันภัยรับรวมของปี 2556  จะเห็นได้ว่า  บริษัทที่ทำเบี้ยรับรวมสูงสุดคือ  บริษัท วิริยะประกันภัย  ซึ่งทำเบี้ยรับรวมได้ถึง 33,983.11 ล้านบาท (MARKET SHARE = 16.74 %)  ตามมาด้วยบริษัททิพยประกันภัย (TIP) เป็นอันดับ 2 ทำเบี้ยรวมได้ 23,617.95 ล้านบาท (MARKET SHARE = 11.63 %) ที่ 3 เป็นของบริษัท กรุงเทพประกันภัย (BKI) ทำเบี้ยรับรวมได้ 15,057.77 ล้านบาท (MARKET SHARE = 7.42 %) ทิ้งห่างอันดับที่ 4 บริษัท สินมั่นคง ประกันภัย (SMK) ทำเบี้ยรับได้  8,862.72 ล้านบาท (MARKET SHARE = 4.37 %) ส่วนที่ 5 เป็นของบริษัท เมืองไทยประกันภัย (MTI) ที่ทำเบี้ยรับรวมแทบจะหายใจรดตันคออันดับ 4 ที่ 8,663.53 ล้านบาท (MARKET SHARE = 4.27 %) แต่ถ้าหักเอาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สูด  เพราะว่าเป็นภัยชนิดที่ถ้าบริหารจัดการไม่ดีโอกาสขาดทุนเกิดขึ้นได้ง่ายๆ  ทำให้บริษัทประกันภัยหลายๆ บริษัทไม่ค่อยเน้นที่จะขายประกันภัยชนิดนี้  บริษัท วิระยะประกันภัย จะไม่ติด TOP5 เนื่องจากในเบี้ยรับรวมเป็นประกันภัยรถยนต์ถึง 30,940 ล้านบาท  บริษัทที่จะขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ก็คือ TIP ที่มีเบี้ยรับรวม 18,470 ล้านบาท  ตามมาด้วย BKI เป็นอันดับ 2 โดยมีเบี้ยรับรวม 8,377 ล้านบาท  อันดับ 3 เป็นของ MTI ที่ 4,407 ล้านบาท  ส่วนอันดับ 4 และ 5 เป็นของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นคือ บริษัทโตเกียวมารีนประกันภัยที่ 3,702 ล้านบาท  และบริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ ที่ 3,671 ล้านบาท  ตามลำดับ ซึ่ง 2 บริษัทหลังนี้  ส่วนใหญ่จะได้ลูกค้าเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย  คงเป็นเพราะว่าสัญชาติเดียวกันคุยกันรู้เรื่อง  และเชื่อถือกันมากกว่า  รวมทั้งอาจจะทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตามบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น

                จากการที่เบี้ยประกันภัยรับรวมของประเทศไทยยังต่ำอยู่เมื่อเที่ยบกับหลายๆ ประเทศ   ทำให้โอกาสเติบโตของเบี้ยรับในอนาคตยังมีอีกมาก  นี่ยังไม่นับรวมโครงการขนาดใหญ่ในส่วนของเม็ดเงิน 2.40 ล้านบาทที่รัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งใจจะทำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายปัจจุบัน  และรถไฟฟ้าสายใหม่อีกหลายสาย โครงการรถไฟทางคู่  โครงการขยายทางหลวงชนบทเพื่อสนับสนุนการเกษตร  และการท่องเที่ยว  โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง  โครงการพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางน้ำ  ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ  รวมทั้งเป็นการลดต้นทุน LOGISTICS ของไทย  ที่คิดเป็นเปอร์เซนต์ของต้นทุนการผลิตที่สูงมากเมื่อเที่ยบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งโครงการเหล่านี้น่าจะต้องประกันภัยทั้งในขั้นตอนที่ก่อสร้าง  และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว  ก็คงต้องทำประกันภัยต่อเนื่องไปอีก  โครงการ  MEGA PROGECT นี้  จึงเป็นรายได้ก้อนมหึมาที่บริษัทประกันภัยในประเทศไทยจะได้แบ่งเค็กกัน โดยเฉพาะบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ๆ ที่จัดอยู่ใน TOP และบริษัทประกันภัยที่มีหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนที่มาก  น่าจะยิ่งมีโอกาสได้รับส่วนแบ่ง SLICEของ CAKE ชิ้นนี้มากกว่ารายอื่นๆ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น