สหรัฐ "ชัตดาวน์" ป่วนหุ้นโลก



หุ้นโลกป่วนหนัก นับถอยหลัง เส้นตายสภาคองเกรสอนุมัติงบปี 57 รู้ผลวันที่ 1 ต.ค. นี้ ตามเวลาในประเทศไทย หวั่นเกิด 'government shutdown' ครั้งแรกรอบ 17 ปี และยังต้องจับตาเรื่องขยายเพดานหนี้ ที่จะต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อน 17 ต.ค.นี้ เปิดสถิติในอดีต หากขยายเพดานหนี้ไม่ทัน ดาวโจนส์เคยร่วงกว่า 15% ใน 2 สัปดาห์ แต่ข่าวดีคือ เฟดมีโอกาสคงนโยบาย QE ต่อไปจนถึงต้นปีหน้า ขณะที่ประเด็นการเมืองในประเทศเริ่มมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นมากขึ้น หลังศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายปี 57 และร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โบรกฯสั่ง "ลดพอร์ต" หลังดัชนีห
ลุด 1,410 จุด แนะรอซื้อกลับที่บริเวณ 1380-1350 จุด

ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทย ต้องพบกับความปั่นป่วนอีกครั้ง เมื่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปสำหรับร่างกฎหมายงบประมาณ ขณะที่ เส้นตายเที่ยงคืนวันที่ 30 ก.ย.2556 ตามเวลาสหรัฐฯ (12.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) กำลังจะใกล้เข้ามา ซึ่งหากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ก็มีโอกาสที่สหรัฐจะเกิด 'government shutdown' ครั้งแรกในรอบรอบ 17 ปี อีกทั้งยังมีประเด็นใหญ่กว่าให้รอลุ้นอยู่ข้างหน้า นั่นคือข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้ ที่จะต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนวันที่ 17 ต.ค. นี้

ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศ เริ่มมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นมากขึ้น โดยศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณา (1) ร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2557 และ (2) ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยล่าสุด (30 ก.ย. 56) เคลื่อนไหวในแดนลบตั้งแต่เปิดการซื้อขาย และลดลงแตะระดับต่ำสุดที่ 1381.26 จุดก่อนปิดการซื้อขายที่ 1383.16 จุด ลดลง 34.33 จุด มูลค่าการซื้อขาย 32,730.65 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,661.85 ล้านบาท สถาบันขายสุทธิ 779.86 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,511.15 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 3,952.85 ล้านบาท


**วงในเผยสภาผู้แทนฯสหรัฐฯมีแผนสำรองไว้แล้ว
รายงานข่าวบนเว็บไซท์บลูมเบิร์กดอทคอมระบุว่า สภาคองเกรสของสหรัฐฯมีเวลาเพียง 1 วันในการหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะขาดเงินคงคลัง หรือ government shutdown เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

โดยวุฒิสภาสหรัฐฯ อาจลงมติไม่รับร่างกฎหมายงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยับยั้งนโยบายสวัสดิการด้านสุขภาพของประธานาธิบดีบารัค โอบามา หรือ Obamacare ซึ่งทางฝ่ายรีพับลิกันตำหนิฝ่ายเดโมแครตว่า เป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดข้องในการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณและการขยายเพดานหนี้สาธารณะ
ขณะที่นายเควิน แมคคาร์ธี่ผู้นำในสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า สภาผู้แทนฯมีร่างงบประมาณรายจ่ายสำรองที่จะเสนอต่อวุฒิสภา ซึ่งเชื่อว่า เป็นร่างที่วุฒิสภาจะยอมรับได้
'ร่างสำรองจะสะท้อนถึงเจตจำนองของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นร่างที่วุฒิสภาจะยอมรับได้' นายแมคคาร์ธี่กล่าว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ปรึกษาในสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยว่า ร่างดังกล่าวอาจตัดงบรายจ่ายด้านหลักประกันสุขภาพที่รัฐบาลต้องจ่ายทุกปีออกไป และจะเป็นการสิ้นสุดการใช้งบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพ

** เปิดสถิติสหรัฐเคย Government Shutdown ตั้งแต่ 1 วัน ถึง 21 วัน
บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ปัญหาเรื่องรัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินจ่ายลูกจ้างเคยเกิดมาแล้ว 17 ครั้ง (Government Shutdown) ระยะเวลาของการเกิดมีตั้งแต่ 1 วันถึงสูงสุด 21 วัน โดยผลของการหยุดจ่ายเงินต่อตลาดหุ้นสหรัฐอย่าง S&P มีแตกต่างกันไป ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ คือ หากหยุด 10 หรือมากกว่าดัชนี S&P จะลงไปเฉลี่ย 2.5% และหยุด 5 วันหรือน้อยกว่าดัชนี S&P ปรับตัวลง 1.4% ซึ่งถือว่ากระทบไม่มาก 


** "ขยายเพดานหนี้" ประเด็นใหญ่กว่าที่รออยู่
บทวิเคราะห์ระบุว่า หากทั้ง 2 สภาสามารถตกลงกันได้และไม่เกิด Government shutdown ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์จะดีดตัวกลับ แต่คงไม่ไกล เนื่องจากยังมีประเด็นที่ใหญ่กว่านี้ คือ ข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้ ที่จะต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนวันที่ 17 ต.ค. ในทางตรงข้ามหากเกิด Government shutdown ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐจะปรับตัวลงแต่ก็ไม่มากเช่นกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกระทบ GDP ของสหรัฐมากหรือน้อย จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการหยุดจ่ายเงิน
ล่าสุดทาง Moody ได้ออกมาประเมินว่าหากทางสหรัฐเกิด Government shutdown กินเวลา 3-4 สัปดาห์ จะส่งผลให้ GDP ใน Q4/13 ลดลงถึง 1.4%

ดังนั้นในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร คงขึ้นกับเหตุการณ์ในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในสหรัฐเรื่องร่างงบประมาณจะผ่านหรือไม่ หากผ่านตลาดจะดีดตัวกลับชั่วคราว แต่คงไปไม่ได้ไกล เนื่องจาก ยังต้องรอดูความชัดเจนเรื่องการโหวตเพดานหนี้ในกลางเดือน ต.ค. ส่วนแรงขายของต่างชาติคาดว่าจะยังมีอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเกิดความชัดเจน เรื่องงบประมาณรายจ่ายของไทยและเพดานหนี้ของสหรัฐ

** หุ้นสหรัฐเคยดิ่งลงกว่า 15% หลังขยายเพดานหนี้ไม่ทัน
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เคที ซีมิโก้ ระบุว่า
1. กรณีสภาอนุมัติงบประมาณปี 57 ไม่ทัน คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจำกัด โดย GDP สหรัฐฯ ปรับลดลง 0.27-0.50 ppt ในช่วงที่ต้องปิดหน่วยงานของรัฐชั่วคราว 20 วัน ในช่วงเดือนธันวาคม 1995 เนื่องจาก พนักงานรัฐที่ถูกให้มีการหยุดแบบ Unpaid Leave จะได้รับเงินคืนทั้งหมดในที่สุด ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงเพียง 3.7% โดยมีโอกาส 50% ที่สภาฯจะไม่สามารถผ่านงบฯ ได้ทันเส้นตาย

2. กรณีขยายวงเงินเพดานหนี้ไม่ทัน 17 ตุลาคมนี้จะมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายและชำระหนี้ แต่ข่าวดีคือ เฟดจะยังคงนโยบาย QE ต่อไปจนถึงต้นปีหน้า โดยในอดีตเคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2011 พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P 500 ดิ่งลงจากระดับ 1300 จุด ลงมาที่ระดับ 1100 จุด หรือ -15.4% / DJIA จาก 12724.41 (21/7) ลงมาที่ 10719.94 จุด (10/8) ภายใน 2 สัปดาห์ หรือลดลง 15.8% และ ราคาทองคำปรับขึ้น จาก $1596 ต่อออนซ์ (21/7) ไปที่ $1897 ต่อออนซ์ (23/8)
ดังนั้นแนวโน้ม หากสหรัฐไม่สามารถขยายเพดานหนี้ทันกำหนดเส้นตาย คือ 1. ตลาดหุ้นโลกลดลงแรง จากการขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ 2. ยิลด์บอนด์สหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นชั่วคราว จากการส่งสัญญาณเตือนหั่นเครดิตของสถาบันจัดอันดับ S&P, Moody ผิดนัดชำระหนี้ 3. ทองคำขึ้นไปทดสอบระดับ 1400 ดอลล์ต่ออนซ์ จากการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ ไม่คาดว่าจะเกิดปัญหานาน เพราะเป็นเรื่องเกมการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถประนีประนอมกันได้ในวันสุดท้าย หรือ Delay ไม่นาน (จะเกิดการแรลลี่ หากสภาฯ อนุมัติการขยายเพดานหนี้)

** ข่าวดี "เฟด" อาจคง QE ไปจนถึงต้นปีหน้า
บทวิเคราะห์ระบุว่า แม้ตลาด คาดว่า สภาสหรัฐฯ จะสามารถหาข้อยุติได้ทันเส้นตายสิ้นเดือนนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดประวัติศาสตร์ซำรอยปลายปีก่อนอีกครั้ง เนื่องจาก เกมทางการเมืองระหว่าง 2 พรรค ที่ต่างไม่ยอมประนีประนอม ซึ่งจะยิ่งสร้างความกังวลให้กับตลาดมากขึ้น ซึ่งการที่รีพับลิกันยื้อให้โอบามายืดเวลาการเริ่มใช้กฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพออกไป จะทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในกระบวนการและความมั่นคงทางการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2011 ปัญหานี้ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างหนัก ประกอบกับที่อัตราผลตอบพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อยู่ในช่วงขาขึ้นอยู่แล้ว แม้ว่าจะปรับลดลงมาบ้าง จากที่เฟดยังคงปริมาณการซื้อสินทรัพย์ แต่ปัญหาเพดานหนี้จะเป็นการซ้ำเติมให้อัตราผลตอบพันธบัตรสหรัฐฯ กลับสูงขึ้นอีกได้ และจะเป็นผลลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้



ทั้งนี้การลดขนาด QE อาจเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม หรือต้นปีหน้า หากสภาสหรัฐฯ ไม่อนุมัติงบฯ โดยผลสำรวจนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดเฟดเริ่มลดวงเงิน QE ในเดือน ธ.ค. โดยประเด็นการลดขนาด QE จะเป็นปัจจัยลบระยะสั้น ต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงสูง (ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง) เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย ฯลฯ โดยคาดว่า การลดขนาด QE3 มีโอกาสสูงที่จะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ หรือกรณีเร็วที่สุด อาจเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม เพราะเฟดไม่ได้มีการส่งสัญญาณว่ามีการเตรียมตัวสำหรับการเริ่มต้นการลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ (QE) แต่อย่างใด ยกเว้นการส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก และเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ รวมถึงกรณีสภาสหรัฐฯเกิดปัญหา Fiscal Cliff ทำให้มุมมองของการลดขนาด QE มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า หรือรอจนกว่า งบประมาณปี 57F ของสภาสหรัฐฯได้ข้อยุติ และข้อมูลเศรษฐกิจส่งสัญญาณเติบโตอย่างต่อเนื่อง

** สั่ง "ลดพอร์ต" หลังหลุดแนวรับ 1,410 จุด
บทวิเคราะห์ บล.ธนชาต ระบุว่า แม้ทางพื้นฐานจะยังมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้ม SET ระยะ 14 เดือนข้างหน้า ด้วยเป้าหมายปลายปี 2014 ที่ 1,650 จุด แต่ถ้าพิจารณาในเชิง Sentiment ควร “ลดพอร์ต” ในกรณีที่ปิดต่ำกว่า 1,410 จุด

สอดคล้องกับ บล.เคที ซีมิโก้ ที่ระบุว่า ให้ขายหุ้นออกไปก่อน เพื่อรอซื้อคืน เมื่อตลาดเกิด Panic Sell บริเวณ 1380-1350 จุด โดยเฉพาะหุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ แบงก์ สื่อสาร และกลุ่ม High Beta รับเหมาฯ อสังหาฯ ส่วนหุ้นปันผลดี แนะนำ สะสมเมื่อราคาอ่อนตัว BTS BECL INTUCH SITHAI
ส่วนบล.โกลเบล็ก ระบุว่า ในช่วงระยะสั้นๆ ดัชนีฯ จึงมีโอกาสซึมลงต่อโดยมีแนวรับถัดไปบริเวณ เส้นค่าเฉลี่ย 75 สัปดาห์แถว ๆ 1372 จุด สำหรับแนวต้านกรณีดีดกลับอยู่บริเวณ 1442 จุด