วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

TRUEฟุ้งปีนี้พลิกกำไร มูดี้ส์หั่นเครดิตลงCaa1 ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 07 มีนาคม 2557 

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: TRUEฟุ้งปีนี้พลิกกำไร
มูดี้ส์หั่นเครดิตลงCaa1
ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 07 มีนาคม 2557
ผู้เข้าชม : 6 คน
"TRUE" แย้มผลงานปี 57 พลิกกลับมาเป็นกำไร หลังคุมค่าใช้จ่าย-รายได้โตต่อเนื่อง 8-9% จากปีก่อน แถมบุ๊คกำไรพิเศษ 5 พันล้านบาท พร้อมเปิดทางพันธมิตรถือหุ้นไม่เกิน 25% มูดี้ส์ฯปรับลดอันดับเครดิตลงสู่ระดับ Caa1 จากระดับ B3 เหตุกังวลสถานะการเงิน


นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยว่า ในปี 2557 มีโอกาสที่ผลประกอบการของบริษัทจะพลิกกลับมามีกำไรทางบัญชีได้ เนื่องจากในปีนี้บริษัทจะควบคุมค่าใช้จ่ายให้ลดลง ขณะที่รายได้เติบโตต่อเนื่อง

รวมทั้งในปีนี้จะมีการบันทึกกำไรทางบัญชีจากการสร้างและส่งมอบเสาโทรคมนาคมจำนวน 3,000 ต้น เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทรูโกรท หรือ TRUEIF คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท และในปี 2558 มีบันทึกกำไรทางบัญชีจากการสร้างและส่งมอบเสาโทรคมนาคมอีก 3,000 ต้น เข้ากองทุน TRUEIF มูลค่าไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทยังมีการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์โครงข่าย 2G ของทรูมูฟ ประมาณ 500 ล้านบาทต่อไตรมาส จนถึงเดือนก.ย. 2557 รวมเป็นเงินประมาณ 1.5 พันล้านบาท

“ในปี 56 เราบันทึกด้อยค่าโครงข่าย 2G ประมาณ 3 พันล้านบาท และในปี 57 เราจะเข้าประมูลคลื่น 1800MHz เพื่อให้บริการ 2G ต่อไปได้ด้วย ซึ่งถ้าประมูลได้เราจะกลับมาบันทึกเป็นกำไรจากที่บันทึกการด้อยค่าโครงข่าย 2G กลับมา 2-3 พันล้านบาทก็เป็นได้ แต่ถ้าประมูลไม่ได้ก็ต้องบันทึกด้อยค่าโครงข่าย 2G ต่อไปถึงเดือนก.ย. 57 ไตรมาสละ 500 ล้านบาท หรือราว 1.5 พันล้านบาท” นายศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2557 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโดยรวมอยู่ที่ 8-9% จากปีก่อนเติบโต 7.2% โดยธุรกิจโมบายล์คาดเติบโตรายได้อยู่ที่ 13-17% จากปีก่อนเติบโต 13% ธุรกิจบรอดแบนด์เติบโต 21-23% จากปีก่อนเติบโต 21% และธุรกิจเคเบิลทีวี คาดเติบโต 7-9% จากปีก่อนเติบโต 3%

นอกจากนี้ ในปี 2557 บริษัทกำลังพิจารณานำสินทรัพย์อื่น เช่น เสาโทรคมนาคม และไฟเบอร์ ออพติก ขายเข้ากองทุน TRUEIF เพิ่มเติมในเฟส 2 อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการโทรคมนาคมอีก 3 รายจะนำสินทรัพย์เข้ามาขายในกองทุน TRUEIF ด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ทางกองทุนฯอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการดังกล่าว ดังนั้นก็จะทำสินทรัพย์ของกองทุนฯเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันกองทุนฯมีสินทรัพย์อยู่ที่ 5.8 หมื่นล้านบาท

ส่วนงบลงทุนในปีนี้อยู่ที่ 2.65 หมื่นล้านบาท แบ่งลงทุนในธุรกิจโมบายล์ 1.55 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายโครงข่าย 3G บนคลื่น 2100MHz เพิ่มเป็น 6,000 สถานีฐาน และ 4G LTE อีก 2,000 สถานีฐานในกรุงเทพฯ และหัวเมือง 15 จังหวัดที่จะให้บริการได้ในสิ้นไตรมาส 1/2557 อีกทั้งลงทุนในธุรกิจบรอดแบนด์จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น และลงทุนในธุรกิจทรูวิชั่นส์รวมทีวีดิจิตอลอีก 1 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะหาพันธมิตรธุรกิจเข้ามาถือหุ้น TRUE ไม่เกิน 25% โดยการเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้มีผู้สนใจเข้ามาเจรจาหลายรายจากทุกทวีป คาดว่าจะสามารถสรุปได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทโทรคมนาคมเท่านั้นหรือภูมิภาคใด แต่บริษัทต้องการพันธมิตรที่มีความรู้ และเสริมสร้างซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีความแข็งแกร่งด้านทางเงินด้วย

นายนพปฏล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน TRUE กล่าวว่า บริษัทมีแผนล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 6.48 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นการลดทุนโดยการลดพาร์จาก 10 บาท แต่การดำเนินการลดทุนจะต้องเจรจากับพันธมิตรก่อนว่าจะดำเนินการก่อนที่พันธมิตรใหม่จะเข้ามาร่วมทุนไม่เกิน 25% หรืออาจจะทำในคราวเดียวกันที่เพิ่มทุนขึ้นอยู่กับการเจรจา อย่างไรก็ตามหากมีการล้างขาดทุนสะสมครั้งเดียวก็มีความเป็นไปได้สูงว่า บริษัทก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้

“หากบริษัทสามารถล้างขาดทุนสะสมได้หมดภายในปีนี้ และมีกระแสเงินสดเหลือก็อาจจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ และถ้าจะปันผลก็จะต้องล้างขาดทุนในครั้งเดียว ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง แต่ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย” นายนพปฏล กล่าว



มูดี้ส์ปรับลดเครดิตเรตติ้ง
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเครือบริษัทของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และลดอันดับความน่าเชื่อถือเครือบริษัท และอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันของบริษัททรูมูฟลงสู่ระดับ Caa1 จากระดับ B3 โดยแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในเชิงลบ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งนี้เป็นการสรุปผลการทบทวนปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือที่มูดี้ส์ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2556

"การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ สะท้อนถึงภาวะธุรกิจ และการเงินที่เปราะบางของ TRUE แม้ว่าบริษัทได้ทำการปรับลดระดับหนี้ลง ด้วยการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจัดตั้งขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2556" นายโยชิโอะ ทากาฮาชิ ผู้ช่วยรองประธานและนักวิเคราะห์ของมูดี้ส์กล่าว

ขณะที่หนี้รวมของ TRUE ลดลงสู่ 9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี2556 จาก 1.13 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนก.ย. 2556 แต่ระดับหนี้ของ TRUE ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ เมื่อพิจารณาจากกระแสเงินสดที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง

มูดี้ส์คาดว่ากระแสเงินสดที่ติดลบของ TRUE ปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก (1) ผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ (2) การลงทุนขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ในการให้บริการธุรกิจ 3G และ 4G (3) แนวโน้มการจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นหลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิรตซ์ในปีนี้

ขณะเดียวกัน หนี้ระยะสั้นของ TRUE มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้มูลค่า 10.7 ล้านดอลลาร์ (353 ล้านบาท) ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 1 ส.ค.ปีนี้ ขณะที่การถือครองเงินสด ณ เดือนธ.ค. 2556 อยู่ที่ระดับรวม 1.5 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น TRUE จึงมีแนวโน้มที่จะยังคงต้องพึ่งพาการกู้ยืมจากธนาคารในประเทศ รวมถึงการเบิกจ่ายเงินจากวงเงินกู้ที่ยังไม่มีการเบิกถอน และระดมทุนจากตลาดหุ้นกู้สกุลเงินบาทเพื่อลดช่องว่างทางการเงินถึงแม้ธนาคารไทยหลายแห่ง และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทได้ให้การสนับสนุน TRUE แต่มูดี้ส์ก็เชื่อว่าผลการดำเนินงาน และภาวะทางการเงินที่อ่อนแอของ TRUE ได้ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าการสนับสนุนที่แข็งแกร่งดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่

แนวโน้มเชิงลบสะท้อนมุมมองของมูดี้ส์ที่ว่า ถ้าไม่มีการปรับโครงสร้าง และไม่มีมาตรการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ ผลการดำเนินงานและภาวะทางการเงินของ TRUE จะยังคงเปราะบางต่อไป เมื่อพิจารณาจากกระแสเงินสดที่ติดลบมาเป็นเวลานาน, ภาระหนี้ที่ระดับสูงและการทำผิดสัญญาที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งราคาหุ้นที่ตกต่ำ

โดยเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในเชิงลบดังกล่าว การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจึงไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในระยะใกล้ อย่างไรก็ดี แนวโน้มเชิงลบดังกล่าวอาจพลิกกลับมาสู่ระดับมีเสถียรภาพได้ ถ้าบริษัททำการปรับปรุงภาวะทางการเงินและสภาพคล่องขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยการ (1) ปรับปรุงผลกำไร และกระแสเงินสด (2) ลดภาระหนี้ (3) ฟื้นราคาหุ้น (4) ปฏิบัติตามข้อตกลงทางการเงิน โดยมาตรวัดที่มูดี้ส์จะพิจารณาได้แก่ การดำรงสัดส่วนหนี้/กำไรก่อนรายการดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ที่ปรับปรุงแล้วให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 6.0-6.5 เท่าเป็นเวลาระยะหนึ่ง และให้กระแสเงินสดติดลบอยู่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทถึง 1.0 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันแรงกดดันในช่วงขาลงต่ออันดับความน่าเชื่อถืออาจเกิดขึ้น ถ้ากระแสเงินสดติดลบของบริษัทไม่มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทบความสามารถของบริษัทในการขอสินเชื่อจากธนาคารในประเทศและระดมทุนจากตลาดพันธบัตร หรือถ้าบริษัทไม่สามารถได้รับการยกเว้นสำหรับข้อตกลงทางการเงิน

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น