วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

RS ชัยชนะของลิขสิทธิ์ รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 01 เมษายน 2557

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: RS ชัยชนะของลิขสิทธิ์

รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 01 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 4 คน
คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวานนี้ ในกรณีบริษัทในเครืออาร์เอส (อาร์เอสบีเอส-อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด) หนึ่งในบริษัทลูกของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ยื่นฟ้องทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กับพวกรวม 12 คน เพื่อให้มีคำสั่งให้ กสทช. แก้ไขหรือยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือ มัสต์ แฮฟ (MustHave) ถือเป็นความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่าผู้ที่แพ้คือ กสทช. ยืนยันว่า จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดก็ตาม เรียกว่าไม่ล่าไม่มีเลิกรา

กรณีที่เกิดขึ้น ยืดเยื้อมายาวนาน หลังจากที่ กสทช.ระบุว่า บริษัทในเครืออาร์เอสดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามกฏมัสต์ แฮฟ-MUST have rule ลงวันที่ 4 มกราคม 2556 ที่ให้การถ่ายทอดกีฬาฟุตบอลโลกปี 2014 ทุกนัด ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวีเท่านั้น และห้ามจอดำอันเป็นส่วนหนึ่งของกฎที่ครอบคลุมให้ 7 รายการกีฬาต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวีเท่านั้น โดยมีฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้ง 64 นัด เป็น 1 ในรายการที่อยู่ในข่าย โดยอ้างถึงอ้างหลักการทั่วไปว่าด้วยสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างเสมอภาค โดยการคุ้มครองไปถึงคนพิการและคนด้อยโอกาส

ตามกฎดังกล่าว กำหนดกีฬา 7 ประเภทที่ต้องบังคับให้มีการถ่ายทอดสดผ่านฟรีที่ว่า หรือ FTA (free-to-air) ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในด้านสื่อสาธารณะ คือ

1.การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกีฬาซีเกมส์

2.การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์

3.การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย หรือเอเชี่ยนเกมส์

4.การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการเอเชี่ยนพาราเกมส์

5.การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

6.การแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการหลายประเภทจากทั่วโลก หรือกีฬาพาราลิมปิก

7.การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (64 นัดสุดท้าย)

ข้อกำหนดดังกล่าว สร้างปัญหาให้กับบริษัทในเครือ RS ซึ่งเป็นผู้ครอบครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 โดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา ทางเอกชนได้ยื่นคำขอผ่อนผันต่อ กสทช. ขอถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายผ่านฟรีทีวี เพียง 22 คู่ จาก 64 คู่

คำกล่าวอ้างของ RS ระบุว่า บริษัทฯ ได้รับลิขสิทธิ์จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ให้ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี 22 คู่ ที่เป็นคู่สำคัญ และนัดแข่งขันที่เหลือจะออกอากาศผ่านกล่องรับสัญญาณ "ซันบ็อกซ์" ของอาร์เอส

ข้อร้องเรียนดังกล่าว ถูก กสทช. ปฏิเสธ และยืนมติเดิม ให้บริษัทเครือ RS ต้องถ่ายทอดสดทั้ง 64 คู่ พร้อมระบุว่า หากฝ่าฝืนไม่ ปฏิบัติตามมัสต์แฮฟ จะมีโทษสูงสุดถึงการเพิกถอนใบอนุญาต กรณีเอาเปรียบผู้บริโภค ปรับ 5 ล้านบาท และปรับเพิ่มอีกวันละ 100,000 บาท นับจากวันที่มีการโฆษณาขัดต่อกฎดังกล่าว

ซึ่งบริษัทอาร์เอส เห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เพราะจะเป็นการละเมิดกฎของฟีฟ่า อีกทั้งประกาศของ กสทช.ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังที่บริษัทอาร์เอส ได้ลิขสิทธิ์จากฟีฟ่าแล้ว จึงได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อฟ้อง กสทช.ให้ยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือกฎมัสต์ แฮฟ (Must Have) โดยอ้างถึงกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นแนวทางต่อสู้

ในตอนฟ้องนั้น ค่ายอาร์เอสได้ทำการขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลปกครองก็ไม่คุ้มครองให้ จึงต้องรอการดำเนินการของศาลปกครองเสียก่อน ซึ่งไม่ชัดเจนว่าจะเสร็จทันบอลโลกอีก 2 เดือนนี้หรือไม่ หากไม่ทัน อาร์เอสก็จะเสียโอกาสทางธุรกิจ

ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัย สั่งเพิกถอนประกาศ กสทช.ดังกล่าว โดยระบุว่า การแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ที่ บริษัท อาร์เอสบีเอส ได้รับอนุญาตจากฟีฟ่า มีลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์กฎหมายให้ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังนั้นเนื้อหาในข้อ 3 ประกอบกับรายการการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ของภาคผนวกตามประกาศดังกล่าวของ กสทช. ทำให้บริษัทอาร์เอสบีเอส ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิโดยชอบไม่อาจใช้สิทธิของตนได้ตามที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย หรือทำให้ต้องตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ได้ทำไว้กับฟีฟ่า

ศาลปกครองกลางยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า กสทช.อาจกำหนดกฎเกณฑ์หรือมาตรการอย่างอื่นที่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิ หรือบรรเทาภาระความเดือดร้อนแก่บริษัทอาร์เอสบีเอส. ได้ แต่ กสทช.กลับมิได้ดำเนินการแต่อย่างใด ประกาศดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกระทำที่เกินจำเป็น

ศาลปกครองระบุอีกว่า แม้ กสทช.จะอ้างว่า การออกประกาศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและรับชมรายการการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้โดยไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนั้น แต่หลักกฎหมายปกครองในระบบนิติรัฐไม่ได้พิจารณายอมรับการอ้างเหตุผลเรื่องประโยชน์สาธารณะ โดยการให้ประโยชน์หรือกำหนดยกเว้นมิให้เกิดภาระแก่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือแม้แต่แก่คนส่วนใหญ่ของสังคม แต่กลับละเลยไม่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของบุคคล หรือผลักภาระให้บริษัทอาร์เอสบีเอส ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิโดยชอบและได้สิทธินั้นมา ดังนั้น จึงมิให้นำประกาศดังกล่าวมาใช้กับการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปีนี้

สาระสำคัญของ คำวินิจฉัยดังกล่าว ยืนยันว่า ประกาศของ กสทช. มีอำนาจบังคับต่ำกว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ดังนั้น จึงไม่อาจลบล้างข้อความในกฎหมายลิขสิทธิ์ได้

สาระของศาลปกครองกลางดังกล่าว สอดรับกับคำวิจารณ์ก่อนหน้านี้ของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ท้วงว่า ขัดกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ชัดเจน ส่งผลให้ในอนาคตเจ้าของลิขสิทธิ์รายการต่างๆ หากจะพิจารณาขายสิทธิรายการให้กับประเทศไทย ต้องมีแนวโน้มที่จะคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถึงขั้นทำหนังสือยืนยันเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2555

คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นล่าสุด ถือว่าเป็น การปลดล็อกทางธุรกิจของ RS อย่างมีนัยสำคัญ เพราะนี่คือโอกาสทองที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนไปประมูลลิขสิทธิ์จากฟีฟ่า ผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิลในปีนี้ หลังจากที่ในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมาทิศทางธุรกิจไม่ค่อยดีนัก ผลประกอบการปรับตัวลดลงไปในทุกกลุ่มธุรกิจ ทำให้คาดผลประกอบการในไตรมาส 1/57 น่าจะออกมาไม่ดีนัก

ตามแผนธุรกิจที่กำหนดไว้ RS ตั้งเป้าหมายจะขายกล่องฟุตบอลโลกไว้ที่ประมาณ 1 ล้านกล่อง ราคากล่องละ 1,500 บาท นอกเหนือจากรายได้จากการบริหารสิทธิฟุตบอลโลกในรูปของค่าโฆษณาและสปอนเซอร์ จาก 4 สปอนเซอร์หลักเข้ามาแล้ว ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย, เครื่องดื่มตราช้าง, AIS 3G 2100 และกลุ่ม ปตท.ซึ่งมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 40-45% ของรายได้จากค่าโฆษณาทั้งหมด

คำสั่งของ กสทช. และข้อขัดแย้งในศาลปกครองที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลให้ RS เกิดการชะงักงันในด้านการขายกล่องฟุตบอลโลก จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงวันที่ 1 เมษายน 2557 นี้ จำต้องเลื่อนขายกล่องฟุตบอลโลกออกไป จนกว่าทางศาลปกครองจะมีคำตัดสินชี้ชัด โดยระบุว่า หากไม่สามารถขายกล่องได้ จะพลาดรายได้ขายกล่องประมาณ 100-200 ล้านบาท (หลังหักต้นทุนค่าจ้างผลิตกล่องและต้นทุนค่าการตลาด) แต่ในกรณีที่ศาลออกคำวินิจฉัยออกมาทันเวลา บริษัทก็ยังมีโอกาสและเวลาในการขายกล่องได้ทัน ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งเป็นบวก

ด้าน กสทช. ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวในเย็นวันเดียวกัน ว่าจะทำการอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว แต่ก็เท่ากับว่า RS ได้รับสิทธิดังกล่าวกลับคืน และสามารถทำธุรกรรมอื่นๆ ที่กำหนดเอาไว้ตามแผนธุรกิจได้

ความคาดหวังของผู้บริหาร RS เรื่องรายได้พิเศษจากการบริหารสิทธิฟุตบอลโลกที่ประมูลมาได้เมื่อ 6 ปีก่อน จากที่เคยถ่อมตัวว่า รายได้พิเศษจากการบริหารจัดการลิขสิทธิ์และถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 เข้ามาขั้นต่ำประมาณ 650 ล้านบาท จึงไม่เพียงแต่อยู่แค่เอื้อมเท่านั้น หากยังสามารถที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายกล่องอีกจำนวนมหาศาลทีเดียว

ชัยชนะในทางกฎหมายของ RS ที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่จบสิ้นเสียทีเดียว แต่ก็มีความชัดเจนว่า แผนธุรกิจที่เคยกำหนดเอาไว้ จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และสามารถที่จะพลิกแพลงหาสูตรทางธุรกิจที่แนบเนียนในการทำการตลาดเพี่อสร้างรายได้ ผสมกับการสร้างคะแนนนิยมให้กับตราสินค้าของบริษัทในระยะยาว

สำหรับผู้บริหารของ RS แล้วประสบการณ์จากการทำธุรกิจสื่อบันเทิงในสังคมไทยมายาวนาน น่าจะทำให้พวกเขายืดหยุ่นมากเพียงพอที่จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า แม้จะได้สิทธิเพื่อ “กินรวบ” ในทางธุรกิจมาแล้ว แต่โดยพฤตินัยแล้ว การทำธุรกิจจำต้องมองเห็นทั้งประโยชน์ระยะสั้นและยาวควบคู่กันไป

บทเรียนครั้งนี้ ถือว่ามีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อ กสทช.ในการใช้อำนาจโดยอ้างถึงสาธารณะประโยชน์ และเป็นบทเรียนทางธุรกิจสำคัญของ RS และผู้ที่ต้องการบริหารสิทธิกีฬาระดับโลกรายอื่นในอนาคต

เราคงจะได้เห็นกลยุทธ์การตลาดที่พลิกแพลงและ “กินแบ่ง” ของ RS นับจากนี้ไปในกรณีฟุตบอลโลก 2014 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้และผลกำไรของบริษัทเติบโตสดใสมากยิ่งขึ้น สามารถฝ่าคลื่นลมของธุรกิจในสภาพที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองยามนี้ได้อย่างดี

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น