วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

บาปของโซลาร์ฟาร์ม คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2557 

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: บาปของโซลาร์ฟาร์ม

คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2557
ผู้เข้าชม : 5 คน
พลังงานแสงอาทิตย์ คือจินตนาการด้านพลังงานที่แสนโรแมนติกสำหรับคนร่วมสมัยเกือบทั้งโลก ด้วยเหตุผลที่อ้างกันว่า เป็นพลังงานสะอาด และได้มาฟรีๆ จากจักรวาล แต่จินตนาการดังกล่าว เป็นมายาคติเสียเกินกว่าครึ่ง เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว การได้มาซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์นั้น มีต้นทุนที่แพงกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ มาก

ความสะอาดของพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นภาระอันหนักอึ้งที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องแบกรับเอาไว้ ไม่โดยตรง (ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น) ก็โดยอ้อม (งบประมาณที่รัฐบาลต้องจ่ายเพื่อการอุดหนุนผู้ลงทุนทำโซลาร์ฟาร์ม)

ความตื่นตัวเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ในรอบ 10 ปีมานี้ หลังจากราคาน้ำมันเป็นขาขึ้นระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ถูกแรงกดดันให้จำต้องหันมาสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจัง เริ่มจากยุโรป และสหรัฐก่อน แล้วก็ลุกลามไปที่อื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย

ข้อเท็จจริงที่คนในวงการพลังงานทราบกันดีคือ เทคโนโลยีการแปลงแสงอาทิตย์จากพลังงานความร้อนและพลังงานแสดงให้เป็นพลังงานไฟฟ้านั้น ยังมีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ เริ่มต้นตั้งแต่ 15% มาจนถึงปัจจุบันดีที่สุดอยู่ที่ไม่เกิน 25% แต่ที่กระทำเชิงพาณิชย์อยู่ที่ระดับไม่เกิน 18%

ในอดีต การใช้เทคโนโลยีเพื่อทำแผงวงจรไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์ ใช้ซิลิก้าอัดแน่นเป็นวัตถุดิบสำคัญ แต่มาหลายปีนี้ มีการค้นพบว่าสามารถใช้โพลีเมอร์ทำแทนได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ากันหลายเท่า ทำให้จีนกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ที่ตีตลาดผู้ผลิตชาติอื่นที่เคยเป็นผู้นำ เช่น เยอรมนี หรือสหรัฐ ไปได้หลายช่วงตัว

ความตื่นตัวของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า มีลักษณะ “ตาบอดนำทางตาบอด” มากขึ้นเรื่อยๆ จนหลงลืมข้อเท็จจริงว่า การลงทุนพลังงานดังกล่าวจะอยู่รอดได้ ต้องอาศัยการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐมหาศาล เกิดเป็นทางแพร่งในด้านนโยบายสาธารณะที่รัฐต่างๆ ต้องถ่วงน้ำหนักเลือกเอาระหว่างการทุ่มเงินอุดหนุนธุรกิจดังกล่าวเพื่อให้ผลทางการเมือง และการคงไว้ซึ่งพลังงานแบบจารีตจากไฮโดรคาร์บอนที่มีราคาต่ำกว่า เพื่อทำให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับรองรับการเติบโตของภาคการผลิตและครัวเรือนต่างๆ ในประเทศที่ต้องการพลังงานราคาถูกมาทำการผลิตเพื่อแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ

2 ปีมาแล้วที่มีเหตุการณ์ในเยอรมนี ซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากนักอุตสาหกรรมในภาคการผลิต ให้ระงับการอุดหนุนให้กับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงขั้นที่ว่าอาจจะเป็นแรงกดดันให้ผู้แทนเยอรมนีในกรุงบรัสเซลส์ ละเว้นจากการออกเสียงลงมติสนับสนุนการประชุมนโยบายพลังงานสีเขียวของสหภาพยุโรปมาแล้ว

พรรคฝ่ายค้านใหญ่สุดของเยอรมนีคือ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน ถึงกับเคยมีนโยบายพรรคไม่เห็นด้วยกับการลดใช้พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ และมองเห็นว่านโยบายพลังงานทดแทนของรัฐบาลปัจจุบันผิดพลาด และวันนี้ พรรคดังกล่าวก็ได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมไปแล้ว อาจจะทำให้แรงกดดันในการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ที่รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนค่อนข้างสูงลดลงไปด้วย

โจทย์ที่ยังไม่มีคำตอบก็คือ ยิ่งรัฐเพิ่มการอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มากเท่าใด พัฒนาการของเทคโนโลยีเพื่อที่จะทำให้ความสามารถแปลงแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า ก็ยากจะเพิ่มขึ้นได้ เพราะไม่มีเงื่อนไขบังคับให้ต้องกระทำ คำถามที่ต้องการคำตอบอย่างยิ่งจึงอยู่ที่ว่า จะเร่งให้พัฒนาการแปลงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้มากกว่าค่าเฉลี่ยปัจจุบัน เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงจนไม่ต้องพึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐ

มีผลการวิจัยล่าสุดจากสหรัฐที่นำเสนอต่อสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ระบุว่า American Association for the Advancement of Science ที่อาจจะทำให้เกิดประกายปัญญาใหม่เพื่อไถ่บาปเดิมของโซลาร์ฟาร์มทั้งหลาย คือ การสร้างแผงโซลาร์ในรูปแบบเดียวกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยใช้วัตถุดิบจากซิลิก้าน้อยลง

ด้วยวิธีการใหม่นี้ บริษัทวิจัยชื่อ Semprius ในรัฐนอร์ธ แคโรไลน่า ยืนยันว่าสามารถที่จะดัดแปลงพลังแสงงานอาทิตย์เป็นไฟฟ้า โดยอาศัยความแตกต่างของคลื่นแสงที่ไม่เท่ากันทำการผลิตเป็นพลังไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 42.5% ที่แสงแดดจ้า (บางพื้นที่อาจสูงถึง 50%) และต่ำสุดในสภาพแสงแดดไม่อำนวยที่ระดับ 35% โดยการทดสอบ 14 สถานที่ทั่วโลก ซึ่งให้ผลลัพธ์เสถียรใกล้เคียงกันมาก

แม้การวิจัยดังกล่าวยังต้องการเวลาพิสูจน์ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ผลมากน้อยเพียงใด เพราะเคยมีงานวิจัยที่ดีเยี่ยม แต่ล้มเหลวเมื่อนำมาผลิตเชิงพาณิชย์นักต่อนักแล้วในอดีต แต่ก็ทำให้เกิดการจุดประกายใหม่ว่า ในอนาคต พลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อาจจะไม่ต้องการเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกต่อไป ก็สามารถที่จะแข่งขันกับพลังงานรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างดี โดยเฉพาะกับพลังงานนิวเคลียร์ที่มีต้นทุนต่ำและสะอาด แต่ทำให้คนหวาดกลัวมากเกินไป

แม้ว่าเทคโนโลยีแผงโซลาร์ใหม่นี้ จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ก็เสมือนหนึ่งเป็นการย้ายปัญหา เพราะวัตถุดิบที่จะทำแผงโซลาร์ตามแนวทางเซมิคอนดักเตอร์นี้ ได้แก่ arsenic, gallium และ indium มีราคาสูงมาก ซึ่งมีคำถามอยู่ว่าหากต้องการผลิตในปริมาณมากๆ จะยิ่งทำให้วัตถุดิบดังกล่าวแพงมากขึ้นไปอีกได้อย่างไร โดยไม่ต้องมีการอุดหนุนราคาวัตถุดิบจากทางภาครัฐ

โจทย์อีกประการหนึ่งของแผงโซลาร์ หรือโซลาร์ฟาร์ม อยู่ที่มันสามารถสร้างพลังไฟฟ้าได้เฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้น ไม่สามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนแหล่งไฟฟ้าชนิดอื่นๆ ที่ผลิตไฟฟ้าได้สม่ำเสมอมากกว่า ดังนั้น มันจึงเป็นได้แค่พลังงานเสริม ไม่สามารถเป็นพลังงานหลักให้พึ่งพาได้เต็มที่ ต้องใช้ร่วมกันกับพลังงานอื่นๆ เพื่อที่ว่าบาปของโซลาร์ฟาร์มจะได้ถดถอยลง

จุดดีและจุดอ่อนของพลังงานทางเลือก จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบและต้องการความยืดหยุ่นของแต่ละเทคโนโลยี ที่ไม่ตั้งบนรากฐานของความเชื่อหรือจุดยืนแบบเถรตรงของใครบางคน ที่อวดว่าตนเองฉลาดกว่าคนอื่นๆ

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น