JAS กลยุทธ์แปลงวิกฤตเป็นโอกาส
รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2556 ผู้เข้าชม : 11 คน
หุ้นของบริษัท บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้นยอดนิยมสำหรับนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากในตลาดหุ้น (โดยเฉพาะตกเป็นเครื่องมือของบรรดานักเล่นหุ้นที่เรียกว่า “ขาชอร์ต” กันอย่างต่อเนื่อง) ทำให้ราคาหุ้นในระยะหลัง มีแนวโน้มซึมเซา มีการเปลี่ยนแปลงราคาค่อนข้างน้อย แม้วอลุ่มซื้อขายจะยังโดดเด่นอยู่
สถานการณ์ล่าสุดในปลายเดือนกันยายน มีผลทำให้หุ้นJAS กลับมาคึกคักกันระลอกใหม่ชนิดที่หยุดยั้งได้ยากลำบาก เกิดจาดจากวิกฤตที่เกิดขึ้นชั่วคราว หลังจากที่ ทางเจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯเกิดประเด็นตั้งคำถาม 5 ข้อที่ส่งผลให้ราคาหุ้น JAS และบริษัทในเครือคือ JTS ต้องร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงแรกหลังจากเกิดคำถาม 5 ข้อดังกล่าว
คำถาม 5 ข้อ เกิดขึ้นจากการที่ JAS เปิดประเด็นไว้ว่าจะยื่นเรื่องต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ กองทุนอินฟราฯ มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ในเชิงลบ โดยอ้างเหตุผลว่า คำอธิบายในการตั้งกองทุนของ JAS ไม่ชัดเจนเพียงพอ
ทันทีที่ถูกตั้งคำถามขึ้นมา ผู้บริหารของ JAS ก็ทำการตอบหนังสือชี้แจงอย่างทันท่วงที โดยให้คำตอบทั้ง 5 ข้อ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความชัดเจนพอสมควร สำหรับนักลงทุนที่เข้าใจธุรกิจของบริษัทที่ทำธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างจริงจังและกำลังเป็นธุรกิจขาขึ้น
5 คำถามตลาดหลักทรัพย์ฯ และ 5 คำตอบของ JAS ในการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
คำถาม
|
คำตอบ
|
สินทรัพย์ที่จะลงทุนเพิ่มในอีก 3 ปีข้างหน้าคืออะไร และสาเหตุที่ต้องลงทุนเพิ่มเพราะอะไร
|
สินทรัพย์ที่จะลงทุนเพิ่ม คือ โครงข่ายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต เพื่อให้มีจำนวนลูกค้าผู้ใช้บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากยิ่งขึ้น
|
เงื่อนไขการชำระค่าเช่าอยากให้ระบุว่าเป็นรายเดือนหรือรายปี
|
เงื่อนไขการชำระค่าเช่าขึ้นอยู่กับข้อตกลงสุดท้ายระหว่างบริษัท และกองทุน
|
การกำหนดค่าเช่า 7 ปี เป็นจำนวนเงิน 29,400 ล้านบาท กำหนดจากอะไรการกำหนดค่าเช่า 7 ปี เป็นจำนวนเงิน 29,400 ล้านบาท กำหนดจากอะไร
|
ค่าเช่ากำหนดจากผลตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุน และตัวเลขดังกล่าว บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
|
ขอให้ขยายความคำว่า FTTX
|
คำว่า FTTX หมายถึง โครงข่ายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่ให้ความเร็วสูงมาก และให้ความเร็ว 1,000 Mbpsโดยใช้สาย Optical Fiber ไปถึงลูกค้าทุกราย
|
แผนการใช้เงินที่ได้จากกองทุนคืออะไร
|
บริษัทมีเป้าหมายใช้เงินเพื่อจะขยายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตทั้งระบบ ADSL และระบบ FTTX ให้เกิดจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่ม Speed ของ บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างรวดเร็ว และบริษัทจะนำเงินบางส่วนไปลงทุนในเรื่องอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นของ JAS
|
คำตอบดังกล่าว เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ธุรกิจของบริษัทที่เฉพาะเจาะจงว่า ต้องการรุกทางธุรกิจให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ในขณะที่คู่แข่งขันที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน อย่าง ทีโอที ทรู และซีทีเอช ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ
JAS เป็นบริษัททางด้านโทรคมนาคมบริษัทเดียวที่มีธุรกิจหลักคือ ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ไร้สาย โดยมีการเปิดเกมรุกธุรกิจต่อเนื่อง ภายใต้แบรนด์เนม 3BB ซึ่งใช้กลยุทธ์พันธมิตรธุรกิจ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มจากอันดับ 3 ในธุรกิจ มาเป็นธุรกิจที่ใกล้เคียงกับเจ้าตลาดหลักเดิมคือ ทีโอที และ TRUE มีผลทำให้ราคาหุ้นของ JAS มีความโดดเด่นอย่างมาก เพราะมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สัดส่วนทางการเงินที่สะท้อนให้เห็นการใช้ทรัพยากรของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากตัวเลขสัดส่วน ROA และ ROE ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่ล้างขาดทุนสะสมได้หมดแล้ว ทำให้ล่าสุด ค่า ROA มากถึง 15.03% และ ROE มากถึง 25.28% ซึ่งถือว่าดีกว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน
(ดูผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี)
ในปีนี้ JAS ได้เปิดเกมรุกในธุรกิจด้วยการสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงความเร็ว 1Gbps ผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber To The Home) ที่มีความเร็วเพิ่มจากเดิม 100 เท่า เพื่อสนองตอบเครือข่ายสื่อสารของภาคธุรกิจโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะเปิดช่องให้โอกาสในการทำกำไรก้าวกระโดดในอนาคต โดยที่นักวิเคราะห์พากันปรับการคาดการณ์ใหม่ บางรายถึงขั้นที่ว่าการลงทุนในอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์จะดันกำไร 3 ปีจากนี้ไปโตปีละ 29% โดยผู้บริหารของ JAS ประเมินว่า สมาชิกบรอดแบนด์ในปีนี้ จะอยู่ที่ 1.5 ล้านราย และในปี 2557 จะเพิ่มเป็น 1.7 ล้านราย และในปี 2558 เป็น 1.9 ล้านราย
อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง คือคำตอบที่จะทำให้ JAS แซงหน้าคู่แข่งหลัก คือ TOT ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาโดยตลอด ครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด ไม่นับรายย่อยอีกนับสิบรายซึ่งไม่อยู่ในฐานะจะแข่งขันได้
เหตุผลสำคัญคือ เทคโนโลยี LTE ที่จะมาพร้อมกับพัฒนาการในอัตราเร่งของเครือข่ายโทรคมนาคม 3G กำลังเร่งเคลื่อนเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์ในทางธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งเคลื่อนตัวผสมผสานเข้ากับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็น LTE หรือเครือข่ายก่อน 4G เป็นการช่วงชิงโอกาสที่มีความหมายลึกซึ้งในทางธุรกิจอย่างมาก
แกนหลักสำคัญของพัฒนาของ LTE อยู่ที่ การส่งข้อมูลทั้งเสียง ข้อความ และรูปภาพในอัตราเร็ว ความหน่วงของเวลา(หมายถึงเวลาที่ใช้ไปในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยความจำ) และจำนวนความจุของข้อมูล ในกระบวนการสื่อสารผ่านเครือข่าย ซึ่งสามารถลดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างการนำส่งข้อมูลต้นทาง (uplink) ที่ต่ำกว่าการส่งข้อมูลไปยังผู้รับปลายทาง (downlink) ที่เสถียร
การตัดสินใจลงทุนยกระดับอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ของ JAS จาก 1Mbps เป็น 1Gbps จึงเป็นการเปิดเกมรุกเพราะวิสัยทัศน์ที่ต้องการเร่งตัวเองขึ้นมาให้ทันกับยุค LTE เคียงข้างกับ 3G นั่นเอง แต่อย่างที่ทราบกันดี ว่าการติดตั้งเพื่อรองรับความต้องการที่มีมหาศาลให้ทันกับการขยายตัวของเครือข่าย 3G นั้น ต้องการเงินลงทุนมหาศาล ซึ่ง JAS ในฐานะบริษัทขนาดกลาง ไม่สามารถทำได้ทันท่วงที
คำถามของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ถูกนักวิเคราะห์บางสำนัก นำไปขยายความในเชิงลบอย่างไม่ทราบเจตนาที่แท้จริง โดยสื่อบางสำนักระบุถึงขั้นที่ว่า การตอบคำถามไม่ชัดเจน และมีโอกาสที่การตั้งกองทุน จะนำไปสู่ปมประเด็นใหญ่กว่าที่ตามมาคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารอาจจะขายหุ้นทิ้ง แล้วหอบเงินหนีไปปล่อยให้ซากบริษัทคาตลาด ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความมั่นใจและภาพลักษณ์ของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างมาก
บางรายใช้จินตนาการเกินเลยไปถึงขั้นว่า หากพิจารณารายละเอียดของการขยายส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจบรอดแบนด์ ใช้เงินลงทุนระดับ 1 หมื่นล้านบาท น่าจะเพียงพอ และไม่น่าจะต้องใช้เงินมากขนาด 7 หมื่นล้านบาท
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหารของ JAS1 อย่างนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีปฏิกิริยาตามมาถึงกับต้องเรียกประชุมด่วนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ของโบรกเกอร์หลายแห่งอย่างฉุกเฉิน เพื่อชี้แจงถึงรายละเอียดของการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว
รายละเอียดที่เปิดเผยออกมาระบุว่า กองทุนดังกล่าว คาดว่าจะให้ผลตอบแทนปีแรกที่ 6 % หรือ 4.2 พันล้านบาท จากอัตราค่าเช่ารายปีขั้นต่ำ และจะมีส่วนเพิ่มขึ้นให้อีกในอนาคต ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของ JAS ในอนาคต จากการอนุมัติของที่ประชุม JAS จะเข้าไปถือสัดส่วน 1 ใน 3 ในกองทุนดังกล่าว โดยที่มีความต้องการส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าใจธุรกิจของบริษัทดี
หลังจากการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้ จะทำให้เกิดกำไรพิเศษขึ้นกับ JAS ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทหลังถูกหักภาษี โดยJAS จะบันทึกกำไรพิเศษนี้บางส่วนหลังกระบวนการ จากการที่มาตรฐานทางบัญชีอนุญาตให้กระทำ โดยส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้เป็นระยะเวลา 7 ปี หรือ 20 ปี
ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้ในการขยายโครงข่าย FTTX และอาจมีการจ่ายปันผลพิเศษ หรือการซื้อหุ้นคืน
กระบวนการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเสร็จ จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายใหม่ที่ 4.2 พันล้านบาท ซึ่งจะต้องบันทึกทุกปี ค่าใช้จ่ายนี้จะเกิดจากค่าเช่าที่จ่ายให้แก่กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะถูกชดเชยด้วยการลดลงของค่าเสื่อม 1.7 พันล้านบาทต่อปี
นักวิเคราะห์จาก บล.ธนชาต ระบุว่า แผนการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานนี้ไม่ใช่แผนออกจากธุรกิจของผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ทำให้สามารถจ่ายปันผลพิเศษ มีเงินสดสำหรับลงทุนใหม่ ขณะที่กำไรน่าจะอยู่ในระดับทรงตัวเป็นอย่างน้อย คงคำแนะนำ “ซื้อ” JAS และปรับมาใช้ราคาเป้าหมายปี 2557 ที่ราคา 11.80 บาทต่อหุ้น
ผลของการเรียกประชุมนักวิเคราะห์ดังกล่าว ถือเป็นการแปลงวิกฤตเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้มุมมองของราคาหุ้น JAS และบริษัทในเครือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นบวกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ราคาหุ้นกลับมาวิ่งฉิวระลอกใหม่อีกครั้ง ในช่วงหลายวันมานี้
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารของบริษัทย่อยของ JAS ก็ออกมาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมของธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงว่า ขณะนี้บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ในเครือ JAS มีจำนวนสมาชิกบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต (ADSL) อยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 ล้านราย แบ่งเป็นสมาชิกในต่างจังหวัดประมาณกว่า 1 ล้านราย และสมาชิกในกรุงเทพฯประมาณกว่า 3 แสนราย โดยสิ้นปี 2556 บริษัทตั้งเป้าหมายมีจำนวนสมาชิกบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตมากกว่า 1.4 ล้านราย โดยที่ลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นรายต่อเดือน ซึ่งพื้นที่ที่เติบโตมาก คือต่างจังหวัด ขณะที่ในกรุงเทพฯเติบโตน้อยมีสมาชิกเพียง 3 แสนรายเศษ แต่บริษัทก็พร้อมที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ
ขณะที่ในปัจจุบันมีลูกค้า Fiber Optic FTTX ที่รอติดตั้งประมาณ 10,000 ราย และที่บริษัทติดตั้งแล้วประมาณ 6-7 พันราย ส่วนในปี 2557 บริษัทเตรียมทำตลาด Fiber Optic FTTX อย่างเต็มตัว รองรับการเติบโตในอนาคต
ปฏิกิริยาที่ค่อนข้างรวดเร็ว และทำให้มุมมองของราคาหุ้นแปรจากลบมาเป็นบวกในเวลาที่รวดเร็ว ทำให้เห็นถึงความฉับไวต่อข้อมูลข่าวสารในตลาดหุ้นของผู้บริหาร JAS ที่วางใจได้สำหรับบรรดานักลงทุน ที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้ชะตากรรมตกอยู่ภายใต้ข่าวลือหรือข้อสงสัยที่กำกวมจนส่งผลเสียต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้น หรือตามมาด้วยวิกฤตศรัทธาที่มีต่อบริษัทในระยะต่อไปได้ชัดเจน
ถือเป็นการแปลงวิกฤตเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งสำหรับ JAS
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น