‘SCB’โชว์ไร้เทียมทาน
Q3ยกซด1.3หมื่นล้าน
ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2556 ผู้เข้าชม : 13 คน
“ไทยพาณิชย์” (SCB) เติบใหญ่ต่อเนื่อง ไตรมาส 3/56 กำไรเพิ่ม 26% ส่งผล 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) กำไรแล้ว 3.8 หมื่นล้าน เอ็นพีแอลเหลือ 2.08% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งพุงกางถ้วนหน้า กำไรสุทธิรวมกัน 1.52 แสนล้าน สินเชื่อยังขยายตัวได้ดี ด้านโบรกฯแนะซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์เกือบทุกตัว มองไตรมาส 4 กำไรยังปรับตัวขึ้นสนุกสนาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3/2556 จำนวน 12,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลประกอบงวด 9 เดือนแรก (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556) ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 38,500 ล้านบาท เติบโต 28.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2555
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 3/2556 ว่า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 16.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากสินเชื่อขยายตัว 12.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ (SME) และสินเชื่อลูกค้าบุคคล
ด้านรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 34.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของเงินปันผลพิเศษจากการลงทุนในหลักทรัพย์ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้จากค่าธรรมเนียม และเบี้ยประกัน รวมทั้งรายได้จากธุรกรรมเพื่อการค้าและการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ
จากผลประกอบการที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งดังกล่าว ธนาคารจึงได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมจำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ส่งผลให้มูลค่าสำรองเพิ่มเติมสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 4,200 ล้านบาท ในขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพปรับลดลงจาก 2.13% ณ สิ้นปี 2555 มาอยู่ 2.08% ณ สิ้นเดือนกันยายนปีนี้ ทำให้อัตราสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 144.8% ณ สิ้นปี 2555 เป็น 151.5% ณ สิ้นเดือนกันยายนปีนี้
ด้านนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุดในกลุ่มธุรกิจธนาคารในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนถึงจุดแข็ง และความยั่งยืนของรูปแบบการดำเนินธุรกิจของธนาคารได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ จุดที่สำคัญที่สุด คือ ความผูกพันของลูกค้าที่แน่นแฟ้น คุณภาพและความเชี่ยวชาญในธุรกิจ รวมทั้งความรักและเชื่อมั่นในองค์กรของพนักงาน นับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของธนาคารทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/56 เติบโต 0.5% จากปีก่อนหน้า โดยธนาคารขนาดใหญ่ ผลประกอบการเติบโตทั้งไตรมาสก่อนหน้า และปีก่อนหน้า ส่วนธนาคารขนาดกลาง และ ขนาดเล็กเติบโตเกือบ 100% ซึ่งมาจากฐานต่ำ โดยรวมกำไรไตรมาส 3/56 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้เศรษฐกิจมีความผันผวนจากต่างประเทศ และในประเทศ
ซึ่งแนวโน้มกำไรไตรมาส 4/56 ตัวแปรอยู่ที่การตั้งสำรอง และเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งกำไรกลุ่มแบงก์ในปีนี้จะมีการเติบโตที่ 20% โดยถือว่าเป็นการเติบโตที่ดี ส่วนตลาดหุ้นเติบโตที่ 15% ซึ่งส่งสัญญาณว่ากลุ่มแบงก์ยังมีการเติบโตที่มากกว่าตลาดหุ้น
“สินเชื่อไตรมาส 4/56 จะออกมาดี ทั้งสินเชื่อที่เกี่ยวกับการส่งออก เทรดไฟแนนซ์ สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เพราะเข้าสู่การจับจ่ายใช้สอยในช่วงท้ายปี” นายธนเดช กล่าว
โดยมองว่ากำไรปี 2557 จะเติบโตที่ 12% เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจทั้งไทย และสหรัฐ ซึ่งต้องจับตาภาครัฐว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ได้ตั้งแต่ครึ่งปีหลังหรือไม่ โดยหากทำได้จะส่งผลดีต่อกำไรกลุ่มแบงก์ เนื่องจากความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 กำไร และสินเชื่อจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 และไตรมาส 4/56 เนื่องจากการลงทุนภาครัฐจะเริ่มเดินเครื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับจะเข้าสู่ภาคการส่งออกในช่วงท้ายปีด้วย
สำหรับหุ้น TOP PICK คือ BBL KBANK เนื่องจากมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง และสัดส่วนสินเชื่อมีการกระจายตัว ซึ่งไม่ได้กระจุกตัวอย่าง SCB ที่มีสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบ้านมากกว่า 2 ธนาคาร โดยจะได้รับผลกระทบหากเศรษฐกิจยังมีความผันผวนอยู่
ส่วน KTB ในระยะยาว 6 เดือนเป็นหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะเห็นในกลางปีหน้าเป็นต้นไป โดยจะเป็นตัวผลักดันให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตที่ดี ซึ่ง KTB มีสินเชื่อที่เกี่ยวกับก่อสร้างอยู่เป็นจำนวนมาก และมีฐานต้นทุนเงินฝาก และ เงินกู้ที่ต่ำกว่าธนาคารแห่งอื่น แต่สิ่งที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ และกระทบต่อกำไรของ KTB มีเรื่องเดียว คือ การตั้งสำรอง เนื่องจากไตรมาส 4/56 จะมีการตั้งสำรองที่มากกว่าธนาคารอื่น
“หุ้นกลุ่มแบงก์ยังลงทุนได้ หลังผลประกอบการไตรมาส 3/56 ออกมา ซึ่งยังเลือก BBL และ KBANK เป็น TOP PICK ส่วนระยะยาวยังเลือก KTB เพราะถ้าหากรัฐเร่งเดินหน้าลงทุน KTB ก็จะได้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างต่างๆทันที” นายธนเดช กล่าว
นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารจะเป็นกลุ่มนำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยหนุนกลุ่มธนาคารในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งยังแนะนำ "ซื้อเก็งกำไร" หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ราคาเหมาะสม 228 บาท โดยยังคงประมาณการกำไรปีนี้ที่เพิ่มขึ้น 16.2% จากปีก่อนหน้าเป็น 40,967 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.4% จากปีก่อนหน้าเป็น 47,259 ล้านบาท ในปี 2557
อีกทั้ง ยังแนะ "ซื้อเก็งกำไร" หุ้นธนาคารกรุงไทย(KTB) ราคาเหมาะสม 30 บาท โดย KTB เป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการ 2.2 ล้านล้านของรัฐบาล เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐสูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร ซึ่งไตรมาส 4/56 อาจมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของวายุภักษ์เข้ามาช่วยหนุนกำไรให้เติบโตสูง
รวมทั้งราคาหุ้นมีความน่าสนใจ โดยซื้อขายที่ 9.6 เท่า และลดลงเหลือ 7.5 เท่าในปีหน้าเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่ 10.9 เท่า และ 8.9 เท่า ในปี 2556-2557 ตามลำดับ และจ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 1 บาท
นักวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า แนะนำ "ซื้อ" KTB ให้ราคาเป้าหมายปี 2557 ไว้ที่ 32.80 บาท เนื่องจากเป็นแบงก์รัฐทำให้ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลให้สินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง และ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจะเป็นผลดีต่อการเติบโตของสินเชื่อ
โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/56 อยู่ที่ 9.3 พันล้านบาท เติบโต 5% จากปีก่อนหน้า และ 45% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสาเหตุที่เติบโตดีมากจากไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากกลับมาตั้งสำรองหนี้สูญในระดับปกติจากที่ตั้งเพิ่มสูงมากในไตรมาส 2/56 โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไร 2.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% โดยคิดเป็น 74% ของประมาณกำไรสุทธิทั้งปีที่ 3.3 หมื่นล้านบาท เติบโต 39% จากปีก่อนหน้า ซึ่ง KTB มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงที่สุดในกลุ่มแบงก์ 4-5%
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น