ฟองสบู่ที่ดินกำลังก่อตัวที่ไหน?
ต่างประเทศ วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556 ผู้เข้าชม : 3 คน
ราคาที่ดินในตลาดที่พัฒนาแล้วได้ฟื้นตัวจากที่มันพังครืนหลังจากเกิดวิกฤติสินเชื่อในปี 2551 แต่ในเวลานี้ มีความวิตกกันมากขึ้นว่า จะเกิดเงินเฟ้อฟองสบู่ขึ้นมาใหม่ในหลายๆ ทำเล
อิสราเอล แคนาดา นอร์เวย์ เบลเยียม ออสเตรเลีย ดูไบ ฮ่องกง ลอนดอน และสิงคโปร์ ล้วนแต่กำลังทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ตลาดที่ดินเป็นกังวล ราคาบ้านได้ปรับตัวขึ้นเกือบ 40% ในอิสราเอลนับตั้งแต่ปี 2552 ในขณะที่ราคาบ้านในนอร์เวย์พุ่งขึ้นเกือบ 30% และในสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นกว่า 20% ในช่วงเดียวกัน
ราคาบ้านในตลาดเหล่านี้บูมเพราะสามารถกู้เงินได้มากขึ้นเพื่อไปซื้อบ้าน หลังจากที่ธนาคารกลางต่างๆ ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางยุโรปกระตุ้นตลาดการเงินด้วยการปล่อยให้เงินกู้ราคาถูกทะลักเข้าไป ธนาคารของประเทศเหล่านี้มีสินเชื่อมากขึ้นให้กับผู้บริโภค และเงินกู้เหล่านั้นถูกลงเพราะอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศต่ำเป็นประวัติการณ์
“เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำมาก มักมีความเสี่ยงที่จะมีการจัดสรรเงินมากเกินไปเข้าสู่สินทรัพย์ที่คุณสามารถกู้ยืมได้” เลียม เบลีย์ หุ้นส่วนบริษัท ไนจ์ แฟรงค์ ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก กล่าว
นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า ในขณะที่ราคาบ้านส่วนใหญ่น่าจะบูมต่อไปจนถึงปี 2557 เราอาจจะเห็นฟองสบู่จำนวนหนึ่งแตกลงในปี 2558 ด้วยเหตุนี้รัฐบาลหลายๆ แห่งจึงได้ออกมาตรการเพื่อลดความร้อนแรงของตลาดที่อยู่อาศัย
จากข้อมูลของดีโมกราเฟีย ราคาบ้านในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ย 13 เท่า ซึ่งทำให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่บ้านมีราคาแพงมากที่สุดในโลก นับตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลจีนได้พยายามลดความร้อนแรงของตลาดด้วยการเพิ่มภาษีอากรที่ดินขึ้นสองเท่าสำหรับที่ดินที่ขายในราคาเกินกว่า 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (200,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนรัฐบาลสิงคโปร์ได้พยายามบรรเทาราคาบ้านอย่างนุ่มนวลด้วยการคุมจำนวนเท่าของรายได้ที่ผู้ซื้อจะสามารถกู้ได้
จากการวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ราคาบ้านที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเร็วเท่าไหร่ (การประเมินราคาบ้านเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่) ก็น่าจะเห็นราคาลดลงมากขึ้นเท่านั้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า และเมื่อดูตามการวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้ อิสราเอล เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์น่าจะมีราคาบ้านลดลงมากที่สุด แต่หากนำอัตราส่วนของราคาบ้านต่อค่าเช่ามาคำนวณด้วย เบลเยียม ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และแคนาดา น่าจะตกอยู่ในอันตรายมากที่สุด
เพื่อดูว่าฟองสบู่ที่ไหนที่อาจจะแตกลงเมื่อต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น โกลด์แมน แซคส์บอกว่าต้องดูที่ดีมานด์และซัพพลายของแต่ละประเทศ โดยการสร้างบ้านมักพุ่งสูงสุดหลังจากที่ราคาที่ดินพุ่งสูงสุดภายในสองปี
ราคาบ้านในอิสราเอลบูมเพราะมีการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น แต่ก็ไม่มีซัพพลายเป็นประวัติการณ์เช่นกัน การก่อสร้างในอิสราเอลมักเป็นเผือกร้อนทางการเมืองที่จะสร้างความขัดแย้งกับปาเลสไตน์ และปัญหาซัพพลายไม่น่าจะได้รับการแก้ไขในเร็วๆ นี้
ในทางกลับกัน ในแคนาดามีการอนุญาตให้สร้างบ้านสูงสุดตลอดกาล และระดับของกิจกรรมในการก่อสร้างกำลังทำให้เกิดความวิตกว่าจะมีการก่อสร้างมากเกินไป โดยตลาดบ้านในแวนคูเวอร์ได้รับแรงขับเคลื่อนจากดีมานด์ของคนเอเชีย
ตลาดซิดนีย์และเมลเบิร์น ก็กำลังได้ประโยชน์จากเงินต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปโดยส่วนใหญ่มาจากจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ และในลอนดอน ในขณะที่ตลาดบ้านในใจกลางกรุงลอนดอนได้รับแรงขับส่วนหนึ่งจากผู้ซื้อต่างชาติ แต่นอกใจกลางเมือง เป็นคนละเรื่องกันเลยและราคาบ้านปรับตัวขึ้นได้ช้ากว่า อย่างไรก็ดี การควบคุมซัพพลายในระยะยาวในอังกฤษก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ราคาบ้านในลอนดอนปรับตัวลงอย่างรุนแรง
แม้แต่ฟองสบู่ที่ระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อเกิดวิกฤติในปี 2551 ก็กำลังฟูอีกครั้งอย่างรวดเร็ว ดูไบก็เหมือนกับลอนดอน โดยได้ประโยชน์จากสถานะในการเป็นที่หลบภัยที่ปลอดภัยเนื่องจากมีเงินทะลักเข้าไปหลังเกิดอาหรับสปริงและนักลงทุนอินเดียได้ช่วยทำให้ราคาบ้านในดูไบเพิ่มขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น