JASโชว์กำไร755ล้าน
คำสั่งฎีกาไม่กระทบ
บลจ.กรุงไทยตื่นตูม กระหน่ำขายหุ้นหนัก
ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 01 พฤศจิกายน 2556 ผู้เข้าชม : 16 คน
JAS ฟอร์มสดไตรมาส 3/56 โชว์กำไร 755 ล้านบาท ผลักดันตัวเลข 9 เดือนกำไรกว่า 2,200 ล้านบาท ลุ้นสิ้นปีกำไรทำนิวไฮ 3,000 ล้านบาท ส่วนกรณีคำสั่งศาลฎีกายกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่น่ามีผลกระทบ เหตุตอนนี้หาตัวเจ้าหนี้ไม่เจอ และหากไม่พบก่อนสิ้นปี คดีจะขาดอายุความลงทันที
นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/56 บริษัทมีกำไรสุทธิ 755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 25% จากตัวเลขกำไรสุทธิ 606 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรก มีกำไรสุทธิ 2,245 ล้านบาท เพิ่มขึ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,489 ล้านบาท
ขณะที่รายได้รวมไตรมาส 3/56 จำนวน 2,845 ล้านบาท เทียบไตรมาส 3/55 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 189 ล้านบาท คิดเป็น 7.1% ทำให้รายได้รวมช่วง 9 เดือนแรก ปี 2556 เป็นจำนวน 8,259 ล้านบาท เทียบช่วง 9 เดือนแรกปี 2555 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 7,458 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 801 ล้านบาท คิดเป็น 10.7% โดยรายได้ส่วนใหญ่ประมาณ 86.7% มาจากบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)
จากประเด็นดังกล่าวนักวิเคราะห์หลายแห่ง ประเมินว่า แนวโน้มตัวเลขกำไรปีนี้ของ JAS มีโอกาสเห็นในระดับ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากผลประกอบการปี 2555 มีกำไรสุทธิ 2,136 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีจากกรณีศาลฎีกามีคำสั่งกลับคำพิพากษาศาลล้มละลายกลาง ที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ JAS เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 46 ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกแห่เทขายหุ้น JAS ออกมาอย่างหนัก โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย (KTAM) ที่มีรายงานว่ามีการเทขายหุ้น KTAM ออกมาหนักสุด จากมูลค่าซื้อขายโดยรวมทั้งหมด 9,387 ล้านบาท เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อกำไรและการจัดตั้งกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ของ JAS
แหล่งข่าวในวงการกฎหมาย กล่าวว่า หากมองเชิงข้อกฎหมาย แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งกลับคำพิพากษาศาลล้มละลายกลาง แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีเจ้าหนี้ผู้ฟ้องร้องออกมาแสดงตัวแต่อย่างใด และหากภายในเดือนธ.ค.นี้ เจ้าหนี้ดังกล่าวไม่มาแสดงตัวและคดีครบกำหนดหมดอายุความ นั่นหมายถึงความเสียหายที่หลายฝ่ายกังวลกันก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีแผนฟื้นฟูกิจการ JAS ต้องถือว่าได้ผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้เกินกว่า 75% ตามกฎหมายกำหนดแล้ว
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์เคเคเทรด จำกัด ประเมินว่า ประเด็นนี้เป็นแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทและบริษัทย่อย (จัสมิน โอเวอร์ซีส์) ที่ผิดนัดชำระตามการปรับโครงสร้างหนี้เมื่อเดือนธ.ค. 2544 และเดือนมิ.ย. 2545 มูลหนี้รวม 42.9 ล้านดอลาร์สหรัฐ หรือราว 1,343 ล้านบาท (อิงอัตราแลกเปลี่ยน 31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)
โดยมองว่าบริษัทมีทางเลือกแสดงผลกระทบแบบไม่ผ่านงบการเงิน โดยเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพิ่มเติม (Off balance sheet) อย่างไรก็ตามกรณีต้องชำระหนี้ บริษัทประเมินว่าจะมีจำนวนไม่เกิน 1,343 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลกระทบต่อหุ้น 0.19 บาทต่อหุ้น และอาจเป็นไปได้ที่การชำระหนี้จะยืดเยื้อและต้องไปชี้ขาดในชั้นศาลต่อไป
ขณะเดียวกันถือว่าไม่กระทบการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่บริษัทเตรียมเสนอมติการขายทรัพย์สินและจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 50,000-70,000 ล้านบาท เพื่อขออนุมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาการเงินอิสระอยู่ระหว่างการตีมูลค่ายุติธรรมทรัพย์สินที่ขายเข้ากองทุนดังกล่าว
ทั้งนี้การเดินหน้าจัดตั้งกองทุนเป็นปัจจัยบวกและมีโอกาสที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลพิเศษจากกำไรที่เกิดขึ้น ส่วนประเด็นคำพิพากษาของศาลฎีกา มองว่าเป็นผลกระทบเชิง Sentiment และมีผลกระทบจำกัด จึงมีมุมมองบวกต่อการเติบโตของผลการดำเนินงานและประเมินมูลค่าเหมาะสมปีนี้ 10.50 บาท จึงแนะนำซื้อลงทุน
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส ระบุถึงกรณีที่ปรึกษากฎหมายบริษัท เห็นว่าเจ้าหนี้สามารถเรียกร้องหนี้ได้ไม่เกิน 1,343 ล้านบาท หากต้องตั้งสำรองทั้งจำนวนจะกระทบกำไรปีนี้ 0.19 บาทต่อหุ้น หรือ 43% อย่างไรก็ตามหากมีการเรียกร้องให้ชำระหนี้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาลแพ่งต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น