เกมพลิก ชีวิตพลิก
คอลัมน์ วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556 ผู้เข้าชม : 6 คน
ข่าวใหญ่จากญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ รัฐมนตรีกระทรวงกำกับดูแลทางการเงิน(FSA) ของญี่ปุ่น เข้าแทรกแซงกิจการของกลุ่มมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ตรวจสอบภายในเพื่อสำรวจเส้นทางธุรกรรมการเงินของกลุ่มนี้ โดยเป้าหมายหลักคือ ธนาคารมิซูโฮแบงก์ อันเป็นบริษัทลูก
ผลของการแทรกแซงดังกล่าว ทำให้นายทากาชิ ซึกาโมโตะ ประธานกรรมการธนาคารมิซูโฮ แบงก์ และกรรมการอีก 2 คนลาออกจากตำแหน่ง แต่ยังมีตำแหน่งเหลืออยู่ในบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มคือ มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป
นอกจากนั้น ซีอีโอใหญ่และผู้อำนวยการใหญ่ของมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป นายยาสุฮิโร ซาโตะ และคณะเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการกลุ่มนี้ 52 คน จะยังคงนั่งทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไป โดยไม่ได้รับเงินเดือนตอบแทนเป็นเวลา 6 เดือน และบางคนในจำนวนนี้ อาจจะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีการเงิน
มาตรการดังกล่าว (ซึ่งออกมาเป็นทางการระบุว่า เป็นมติของกรรมการบอร์ดของกลุ่มโดยสมัครใจ) ไม่ได้ระบุว่า คนทั้งหมดปราศจากความผิดใดๆ แต่เป็นการทำงานต่อไปเพื่อให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการผู้ตรวจสอบภายใน ซึ่งมีประธานคือ อดีตประธานศาลฎีกา นายฮิเดกิ นากาโกเมะ จะทำหน้าที่เพื่อหาว่าผู้เกี่ยวข้องในความผิดในข้อหาปล่อยเงินกู้เพื่อการฟอกเงินให้กับกลุ่มยากูซ่า 230 คดี มีใครบ้างที่โยงใยถึง และมีความผิดตามกฎหมายมากน้อยแค่ไหน
ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกรรมทางการเงินขนาดใหญ่ที่โยงใยถึงการโยกย้ายเงินระหว่างประเทศทั้งหลายของกลุ่มมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ทั้งหมด จะต้องถูกระงับไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีอื้อฉาวดังกล่าวจะสิ้นสุดการสืบสวนหาหลักฐานและกล่าวโทษความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว
กรณีที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า ย่อมส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจ ที่กลุ่มมิซูโฮเกี่ยวข้อง ที่รวมถึงการเจรจาประมูลซื้อหุ้นใหญ่ในกำมือของธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) หรือ TMB อย่างเลี่ยงไม่พ้น
คู่แข่งของกลุ่มมิซูโฮที่จะแย่งคว้าชิ้นปลามันใน TMB ก็คงยิ้มย่องกันทั่วหน้า ที่คู่แข่งถูกตัดโอกาสโดยปริยาย
ตัวอย่างที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นข้อดีของโลกาภิวัตน์ และความโปร่งใสในกลไกการตรวจสอบข้อมูลของธุรกรรมทางการเงินที่เคยซ่อนเร้นกันเอาไว้ยาวนาน
กรณีของมิซูโฮ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดียาวนานว่า สถาบันการเงินญี่ปุ่นนั้น ถูกกลุ่มยากูซ่าใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินสกปรกให้เป็นเงินสะอาดมายาวนานแล้ว และมีการปรับรูปแบบให้ทันสมัยรอดพ้นจากการติดตามไล่ล่าของเจ้าหน้าที่มายาวนาน จับไม่ได้มากกว่าจับได้
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 3 ปีมาแล้ว กลุ่มธนาคารมิตซูบิชิฯของญี่ปุ่นก็เคยถูกข้อกล่าวหาทำนองเดียวกัน และมีการดำเนินคดีไปแล้ว ส่วนปีนี้ นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ได้มีการตรวจสอบพบความผิดของกลุ่มมิซูโฮ ในการปล่อยเงินกู้เพื่อสินเชื่อรถยนต์ แต่ความจริงเป็นกระบวนการฟอกเงินให้กับยากูซ่า
แรกเริ่มเดิมทีที่ตรวจสอบพบธุรกิจที่มีการกระทำทำนองเดียวกันนานกว่า 3 ปี มีความเชื่อว่านี่คือ การบกพร่องของระบบตรวจสอบภายใน แต่เมื่อมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับล่างหลายกระแส ยืนยันชัดเจนว่า ความผิดปกติดังกล่าวเคยได้รายงานให้ผู้บริหารระดับบนทราบหมดแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆเพิ่มเติม ทำให้เรื่องราวใหญ่โตมากขึ้น ว่า อาจจะเป็นเจตนาของผู้บริหารที่ปล่อยปละละเลย
หลายคนมองย้อนกลับหลังไปถึงรากที่มาของกลุ่มมิซูโฮ ซึ่งเกิดจากการรวมธนาคารหลายแห่งที่มีปัญหาการเงินมาอยู่ใต้ร่มธงเดียวกัน เพราะว่าแม้จะใช้ชื่อเดียวกัน แต่วัฒนธรรมองค์กรของกลุ่มนี้ ก็ยังคงมีลักษณะแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ได้มีเอกภาพในโครงสร้างเท่าใดนัก
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการฟอกเงิน พยายามที่จะบีบคั้นให้ผู้บริหารของธนาคารเปิดเผยเส้นทางเงินดังกล่าว แต่ไม่ได้รับความร่วมมือมากนัก ดังนั้น เมื่อหมดทางเลือกอื่น มาตรการลงโทษเบื้องต้นจึงเกิดขึ้นมา และคาดว่าจะยังไม่จบลงง่าย เพราะเรื่องนี้ มีความเชื่อมโยงกับ “หน้าตา” ของรัฐบาลญี่ปุ่นไม่น้อยในเวทีการเงินระหว่างประเทศ
แม้จะมีการออกข่าวแบบรักษาหน้าตากันพอสมควรว่า การกระทำผิดที่เกิดขึ้น น่าจะเกิดจากความบกพร่องของกระบวนการตรวจสอบภายในมากกว่าการหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ความหมายของถ้อยคำดังกล่าว ไม่มีสาระแตกต่างกันมากนัก
จังหวะข่าวร้ายของมิซูโฮดังกล่าว ถือว่าเป็นการตัดโอกาสทอง เพราะยุทธศาสตร์ของกลุ่มนี้ในปัจจุบันที่กำลังดำเนินการคือ ตั้งเป้าที่จะขยายตัวเติบใหญ่ไปในตลาดเอเชีย เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของบริการทางการเงินหลากรูปแบบ เพื่อปล่อยสินเชื่อและให้บริการทางการเงินในระดับโลกและภูมิภาค โดยเฉพาะหน้านั้น มุ่งหวังการเป็นธนาคารหลักของเอเชีย โดยผ่านกระบวนการซื้อและควบรวมกิจการธนาคารในประเทศต่างๆ ของเอเชียหลายแห่ง
จริงอยู่ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนการฟอกเงินยากูซ่า (ซึ่งมีวงเงินจำนวนไม่มากนักเพียงแค่ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อาจจะเป็นเรื่องในอดีตที่มีจุดอ่อนในการบริหารการตรวจสอบของผู้บริหาร แต่ในมุมของกฎหมายแล้ว นี่คือ จุดอ่อนเปราะที่ไม่อาจปล่อยให้ผ่านเลยไปได้ เนื่องจากเรื่องการฟอกเงินเป็นโจทย์ที่จำต้องดำเนินการอย่างจริงจังในยุคปัจจุบัน
การออกมายอมรับผิดของนายซาโตะเองที่ว่า เคยมีการพูดถึงสินเชื่อให้กลุ่มยากูซ่านี้แบบผ่านๆ ถึง 8 ครั้งในช่วง 2 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นความบกพร่องที่ยอมรับว่า เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าเจตนามากน้อยเพียงใด เป็นเหตุผลที่ทำให้นักสังเกตการณ์ญี่ปุ่นเชื่อว่า นี่คือการ “ออกตัว” ของซีอีโอผู้นี้ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็น “พยานปากเอก” ในกรณีที่เกิดขึ้น และไม่ตกเป็นผู้ต้องหาสำคัญหากมีการลงโทษเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ชะตากรรมของมิซูโฮ ที่วาดฝันไว้สวยหรูว่าจะเป็นแบงก์หลักของเอเชีย กำลังจะพลิกโฉมกลายเป็นกลุ่มการเงินที่ไร้อนาคตได้ง่ายดายอย่างมาก เพียงเพราะ “ความผิดเล็กน้อย” ที่ผู้บริหารมองข้ามความสำคัญอย่างชนิดที่น่าเสียดาย แต่สายเกินแก้ไปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น