29บริษัทร่วมชิงทีวีดิจิตอล
วงเงินประกัน2,271ล้าน
ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2556 ผู้เข้าชม : 9 คน
"กสทช." เผยมีผู้ประกอบการเอกชนยื่นซองประมูลทีวีดิจิตอลทั้งหมด 29 บริษัท จำนวน 41 ซองประมูล คิดเป็นวงเงินประกันหลักทั้งสิ้น 2,271 ล้านบาท ด้านเจ๊แดงอดีตเจ้าแม่วิกเจ็ดสียอมถอย ถอดใจไม่เอา "จันทร์ 25" เข้ายื่นซองประมูล
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาสองวันทำการ (28-29 ต.ค. 2556) ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ให้ผู้ประกอบการเอกชนยื่นซองประมูลทีวีดิจิตอล มีผู้ประกอบการเอกชนเข้ามายื่นซองทั้งหมด 29 บริษัท จำนวน 41 ซองประมูล แบ่งเป็นช่องเด็ก 6 ช่อง ช่องข่าว 10 ช่อง ช่องธรรมดาทั่วไป (SD) 16 ช่อง และช่องความคมชัดสูง (HD) 9 ช่อง โดยคิดเป็นวงเงินหลักประกันทั้งสิ้น 2,271 ล้านบาท
โดยทางกสทช.ค่อนข้างพอใจกับจำนวนผู้ประกอบการเอกชนที่เข้ามายื่นซองประมูลทีวีดิจิตอล เพราะจะเห็นได้ว่าทุกช่องที่เปิดประมูล มีผู้ประกอบการเข้ามายื่นซองประมูลแข่งขันกันมากกว่าจำนวนช่องที่มี อาจจะมีช่องประเภท HD เพียงประเภทเดียวที่มีผู้ประกอบการยื่นซองประมูลเข้ามาน้อยราย เพราะมีแค่เพียง 9 ราย แต่ก็ถือว่ามากกว่าจำนวนที่เปิดประมูลทั้งหมด 7 ช่อง
"กสทช. พอใจกับจำนวนผู้เข้ายื่นซองประมูล เพราะมีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดการแข่งขันในการประมูลราคาและไม่ทำให้เกิดข้อครหาในการประมูลว่ามีผู้ประกอบการน้อยรายจนเกินไป ซึ่งทุกช่องมีผู้เข้าประมูลเกินกว่าจำนวนช่องที่เปิดประมูล โดยช่องเด็กนั้นเปิดประมูล 3 ช่อง มีผู้ประกอบการยื่นซองประมูล 3 ราย ช่องข่าวเปิดประมูล 7 ช่องมีผู้ประกอบการยื่นซองประมูล 10 ราย ช่อง SD เปิดประมูล 7 ช่อง มีผู้ประกอบการยื่นซองประมูล 16 รายและช่อง HD เปิดประมูล 7 ช่อง มีผู้ยื่นซอง 9 ราย" พ.อ.นที กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางกสทช. จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประกอบการทั้งหมดไม่เกิน 45 วัน จากนี้ไปจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายการตรวจสอบคุณสมบัติจะต้องแล้วเสร็จ โดยมีสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เป็นผู้ร่วมตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบนั้นจะมีทั้งเรื่องของเอกสาร คุณสมบัติของผู้ประกอบการเอกชนที่ยื่นซองประมูลและความเกี่ยวโยงกันของบริษัทที่ยื่นซองประมูล และเมื่อสามารถตรวจสอบคุณสมบัติผ่านเรียบร้อยจะเปิดให้มีการประมูล ไม่ช่วงปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้า
โดยผู้ประกอบการเอกชนที่ยื่นซองประมูลทีวีดิจิตอลทั้งหมด 29 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท โรสมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ยื่นซองในช่องรายการเด็ก, บริษัท ไทยทีวี จำกัด ยื่นซองในช่องเด็ก ข่าว และ SD, บริษัทอสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ยื่นซองในช่องรายการประเภท เด็ก SD และ HD, บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ยื่นซองในช่องรายการประเภทเด็ก SD และ HD เครือเนชั่นยืนซองในช่องเด็ก ข่าว และ SD, บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นซองในช่องเด็ก SD
บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ยื่นซองในช่องข่าว SD, บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด (เดลินิวส์) ยื่นซองในช่องข่าว, บริษัทไอ-สปอร์ต มีเดียจำกัด ยื่นซองช่องข่าว, บริษัท โพสต์ทีวี ยื่นซองช่องข่าว, บริษัท 3 เอมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ยื่นซองช่องข่าว, บริษัท สปริงนิวส์ จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท โซลูชั่น คอร์เนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) ยื่นซองช่องข่าว, บริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (ทีเอ็นเอ็น) ยื่นซองช่องข่าว, บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO ยื่นซองช่องข่าว และ SD
บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ยื่นซองช่อง SD บริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ยื่นซองช่อง SD, บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐ) ยื่นซองช่อง SD และ HD, บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด ยื่นซองช่อง SD, บริษัท ทัชทีวี จำกัด ยื่นซองช่อง SD, บริษัท ไทยบรอดคาสติ้ง จำกัด ยื่นซองช่อง SD, บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยื่นซองช่อง SD และ HD,
บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) ยื่นซองช่อง SD และช่อง HD, บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (กลุ่มหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ) ยื่นซองประมูลช่อง SD และ HD บริษัทพีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด (กลุ่มมหากิจศิริ) ยื่นซองช่อง HD และบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ยื่นซองช่อง HD
ทั้งนี้ สำหรับเกณฑ์ไซเรน พีเรียด (Silent Period) ประมาณ 60 วัน เพื่อป้องกันการสมยอมราคา หรือฮั้วประมูลนั้น จำกัดเฉพาะการให้ข้อมูลเรื่องเงินทุนและงบประมาณที่ใช้สำหรับการประมูล รวมถึงแผนการประมูลต่างๆ แต่ไม่ได้จำกัดว่าห้ามผู้ประกอบการที่ยื่นซองประมูลทีวีดิจิตอลให้ข้อมูลใดๆ เลย ซึ่งผู้ประกอบการเอกชนสามารถให้ข้อมูลได้ตามปกติ เว้นแต่ข้อห้ามที่กล่าวไปในเบื้องต้น
ด้านนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท จันทร์ 25 จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทและคุณสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัท ยังคงมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมประมูลขอรับใบอนุญาตประกอบทีวีดิจิตอล และได้เตรียมเอกสารและเงินประกันไว้พร้อมครบถ้วนแล้ว แต่จากอุปสรรคของข้อกฏหมายประกอบกับการที่บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเข้ามาแล้ว และการที่ทางกสทช. ยืนยันว่าจะตัดสิทธิบริษัทกับบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หากต่างก็ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเข้ามาด้วยกันทั้งสองบริษัท
โดยเมื่อบริษัทพิจารณารอบด้านถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และพนักงานที่มีความจงรักภักดีและร่วมกับคุณสุรางค์ คุณแม่และพี่ชายทั้งสองก่อตั้งและร่วมกันสร้างสถานีจนมา เป็นสถานีโทรทัศน์ชั้นนำในปัจจุบัน บริษัท จันทร์ 25 จำกัด จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทและคุณสุรางค์ยังยืนยันว่ามีความประสงค์ที่จะทำธุรกิจในวงการโทรทัศน์ต่อไป รวมทั้งจะใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นติดตามการดำเนินงาน และการปฏิบัติต่อพนักงานของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัดต่อไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น