Good Morning News จาก กองทุนบัวหลวง 29 ตุลาคม 2556
Good Morning News 29 ตุลาคม 2556
Good Morning News จาก กองทุนบัวหลวง
29 ตุลาคม 2556
----------------------------------------------------------------------------
General News
• นายเบอนัวต์ เกอเร่ กรรมการบริหาร ธ.กลางยุโรป (ECB) ระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนหลุดพ้นจากโซนอันตรายแล้ว อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศในกลุ่มจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาคการเงินเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในภาคธนาคาร ส่งเสริมการขยายตัวด้วยธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงนโยบายกีดกันการค้า ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจยูโรโซนสามารถขยายตัวได้ต่อไป
• ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐในเดือนก.ย. ทำสถิติขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ระดับ 0.6% จากการขยายตัวของผลผลิตภาคสาธารณูปโภคและเหมืองแร่
• ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending home sales) ของสหรัฐใน เดือนก.ย. ลดลง 5.6% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. จากการที่ผู้ซื้อบ้านต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งด้านอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อและราคาบ้าน อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ายอดขายบ้านจริงในเดือนต่อๆไปน่าจะชะลอตัวลง
• นักวิเคราะห์คาดว่า FED จะยังคงโครงการซื้อพันธบัตรวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อไปในการประชุม FOMC วันที่ 29-30 ต.ค.นี้ เพื่อรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่านี้ รวมถึงรอดูหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบมากเพียงใดจากความขัดแย้งด้านงบประมาณ
• จีนเตรียมผ่อนคลายกฎเกณฑ์การจดทะเบียนบริษัทเอกชนด้วยการยกเลิกการกำหนด ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำรวมถึงเพิ่มความโปร่งใสด้วยการเปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถขอดูข้อมูลการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนได้ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการเข้าถึงตลาดทุน รวมถึงช่วยกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
• ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกาหลีใต้ในเดือนต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 17 เดือนที่ระดับ 106 เนื่องจากประชาชนมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในช่วงปัจจุบันและอนาคต
• ยอดค้าปลีกของเกาหลีใต้ในเดือนก.ย.ขยายตัว 7.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน จากการที่ผู้บริโภคเริ่มซื้อเครื่องแต่งกายเพื่อเตรียมตัวสำหรับฤดูหนาว ประกอบกับยอดขายอาหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในเทศกาลขอบคุณพระเจ้า
• สนง. เศรษฐกิจอุตสาหกรรม รายงานว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยในเดือน ก.ย. ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ระดับ 2.9% ส่งผลให้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนีดังกล่าวชะลอตัวลง 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของฐานปีที่แล้วที่สูงมากจากการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อรีบส่งมอบให้แก่ลูกค้าตามนโยบายรถคันแรก ประกอบกับการที่อุตสาหกรรมอาหารกระป๋องและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านลดการผลิตลง
• คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญฯ มีมติรับรองร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ให้นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดโดยให้ครอบคลุมถึงแกนนำทุกฝ่ายและประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันที่ 8 ส.ค. 2556 สำหรับขั้นตอนต่อไปคือการส่งรายงานของ กมธ. ให้แก่ประธานสภาผู้แทนฯ เพื่อบรรจุเป็นวาระการพิจารณาลงมติในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
Equity Market
• SET Index ปิดที่ 1,449.62 จุด ลดลง 5.26 จุด (-0.36%) ด้วยมูลค่าซื้อขายเบาบางที่ 22,150 ล้านบาท โดยประเด็นทางด้านการเมืองภายในประเทศเรื่อง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาด ประกอบกับตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจของไทยที่ออกมาในเชิงลบทั้งการส่งออกและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
• ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) เตรียมเปิดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าด้านกิจการไฟฟ้าเป็นแห่งแรกของเอเชียภายในสิ้นปี 2014 โดยคาดหวังหว่าจะช่วยให้บริษัทผลิตไฟฟ้าสามารถปรับปรุงมูลค่าของสินทรัพย์ให้เหมาะสมและสามารถจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น
• โตโยต้า สามารถรักษาตำแหน่งผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดของโลกในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ด้วยยอดขาย 7.41 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 0.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยได้รับ แรงหนุนจากยอดขายที่แข็งแกร่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐซึ่งช่วยชดเชยยอดขายในจีนที่ชะลอตัว
สรุปยอดสุทธิการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม
กลุ่มนักลงทุน ล้านบาท
นักลงทุนสถาบัน +502.69
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -1,294.23
นักลงทุนต่างชาติ +544.54
นักลงทุนทั่วไป +247.00
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 0.00 – 0.02% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือน / 6 เดือน / 1 ปี มูลค่ารวม 93,000 ล้านบาท
• สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทยมากขึ้นหลังจากที่สหรัฐสามารถตกลงเรื่องการขยายเพดานหนี้ได้ชั่วคราว โดยลงทุนในตราสารระยะยาว 1.4 หมื่นล้านบาท และระยะสั้น 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่ากระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคต่อไปจากแนวโน้มที่ FED จะยังคงดำเนินมาตรการ QE อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไทยมีระดับสภาพคล่องที่เพียงพอรองรับการไหลออกของเงินทุน โดยได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ประกอบกับปัจจัยบวกจากทาง ธ.กลางญี่ปุ่นที่ยังคง อัดฉีดเงินเข้าระบบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น