เบื่อทะเลาะกัน?
คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2556 ผู้เข้าชม : 3 คน
ม็อบไม่ถึง 500 ยกพลปิดถนนหน้าทำเนียบ โดยถือฤกษ์ 8 ตุลาคมล้มรัฐบาลตามหมอดู เอาเข้าจริงไม่เกิดอะไรขึ้น มีแต่เจ้าของฉายา “ปีศาจคาบไปป์” เก้าอี้หักล้มหงายหลัง
แต่รัฐบาลก็บ้าจี้ ขี่กริพเพนจับแมลงหวี่ ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระดมตำรวจ 12,000 นายคุมม็อบวัยใกล้ฝั่ง พร้อมวาดภูตผีให้คนกลัว เดี๋ยวจะมีนักรบภาคใต้ เดี๋ยวจะมีนายพล ส. เดี๋ยววันที่ 13 จะก่อการ ฯลฯ
โหย สังคมไทยวันนี้จะล้มรัฐบาลได้ง่ายดายปานนั้นหรือครับ ถามว่ามีซักกี่คนเอาด้วย ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ล้มรัฐบาลด้วยม็อบ สังคมไทยเข็ดหลาบแล้ว ขืนทำก็ถูกประณาม รัฐบาลจะกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบทางการเมืองมากกว่า
รัฐประหารหรือ ทหารก็ไม่กล้าแล้ว แค่รบกับผัดกะเพรายังไม่ชนะเลย
การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแสดงความมักง่ายของรัฐบาล ทั้งที่มีวิธีการควบคุมม็อบอีกเยอะแยะ พอประกาศใช้แล้วปรากฏว่าแกนนำม็อบยอมถอย แต่มวลชนไม่ยอม ทะเลาะกันอีกต่างหาก แสดงความอ่อนแอของม็อบ กระนั้นถามว่ารัฐบาลไม่ขายหน้าบ้างหรือ ม็อบกิ๊กก๊อกถอยไปแล้ว จะเอากริพเพนลงพื้นยังไงละทีนี้
รัฐบาลควรใช้ยุทธวิธีทำให้พวกที่ต้องการล้มรัฐบาลนอกวิถีประชาธิปไตย กลายเป็นตัวตลก ไม่ใช่ทำให้ตัวเองตลกไปด้วย
สังคมไทยกำลังอยากกลับสู่ความสงบ ทำมาหากิน ดูจากโพลล์คนกรุงวันสุขภาพจิต เบื่อหน่ายนักการเมืองทะเลาะกัน พร้อมกับเครียดเรื่องของแพง รถติด ซึ่งสะท้อน 2 ด้านคือรัฐบาลต้องยกระดับประสิทธิภาพในการบริหาร พร้อมกับต้องทำให้เห็นว่าเป็นฝ่ายมีเหตุผล (มากกว่า) เมื่อเทียบกับฝ่ายค้านและม็อบที่ต้องการล้มรัฐบาล
ความเบื่อหน่ายนักการเมืองทะเลาะกันเป็นที่เข้าใจได้ ปัญหาของประเทศวันนี้คือ เรายังไม่ได้รัฐบาลที่ดีพอ ที่มีฝีมือ ที่ทำเพื่อประชาชน แม้มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหากติกา ที่ยังไม่กลับสู่ประชาธิปไตย ไม่สามารถพัฒนาประชาธิปไตยเป็นกระบวนการแก้ปัญหา ยิ่งกว่านั้นยังมีฝ่ายค้านหัวชนฝา และฝูงชนป่วนเมือง ที่พยายามล้มรัฐบาลนอกกติกา
ฟังเหมือนไม่มีทางออก ไม่มีความหวัง แต่ถ้ามองโลกแง่ดีบ้าง วิกฤต 7 ปีก็ทำให้คนไทยตื่นตัววงกว้าง แม้แง่ร้ายคือครอบครัวเดียวกันยังทะเลาะกัน แต่ไม่เคยมียุคไหนที่คนไทยถกเถียงเรื่องการเมืองมากขนาดนี้ นี่คือการมีส่วนร่วมซึ่งสำคัญยิ่งต่อประชาธิปไตย เพียงต้องให้คนทั้งสองสีลดอารมณ์ มีสติ มีเหตุผลมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่ามีมากขึ้น เห็นได้จากม็อบโค่นรัฐบาลเหลือแค่หยิบมือ ขณะที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลก็หันมาวิจารณ์รัฐบาลในหลายประเด็น เพียงแต่คนที่มีบทบาทตามหน้าสื่อในวันนี้ยังเป็นพวกสุดขั้วของสองสี
ทางออกของสังคมไทยจึงอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน มากกว่าหวังให้เกิดขั้วอำนาจใหม่ ผู้นำใหม่ พรรคที่สาม ฯลฯ ซึ่งยากจะเกิดขึ้นได้
บางคนอาจบอกว่าการมีส่วนร่วมเป็นไปได้ยาก แต่เราอยู่ในโลกยุคเฟซบุ๊คนะครับ (ส.ศิวรักษ์ ยังถวายฎีกาผ่านเฟซบุ๊ค) สามารถสื่อความคิดเห็นได้ง่าย แพร่หลาย รวดเร็ว การมีส่วนร่วมไม่ได้หมายความว่าคนทั้งสองสีต้องหันมาจูบปากกัน แต่ทำอย่างไรจะผลักดันให้ฝ่ายของตน “ปฏิรูป” กลับเข้าสู่วิถีประชาธิปไตย ทะเลาะกันอย่างมีเหตุผล เช่นใครนิยมพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องผลักดันให้ปฏิรูปพรรค ดีกว่าตะแบงอยู่อย่างนี้ ใครเป็นแดง ก็ต้องผลักดันให้พรรคเพื่อไทยฟังเสียงมวลชน มากกว่านักการเมือง เพราะมวลชนเสื้อแดงเลือกพรรคไม่ได้เลือกบุคคล แต่พอมีอำนาจนักการเมืองก็เสวยผลประโยชน์
เบื่อนักการเมืองได้แต่อย่าเบื่อหน่ายการเมือง ไม่เช่นนั้นความขัดแย้ง 7 ปีก็เสียเปล่า
ใบตองแห้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น